สุขภาพและการแพทย์

Geiger-Muller counter คืออะไร รู้จักเครื่องวัดกัมมันตรังสี ไกเกอร์ เคาน์เตอร์

หลังจากมีกระแสข่าวเกี่ยวกับวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Caesium-137, Cesium-137) ถูกหลอมเผาไหม้ในโรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่งของจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งการถูกค้นพบครั้งนี้เกิดจากเจ้าหน้าที่ระดมกำลังพลใช้เครื่องวัดกัมมันตภาพรังสีในการตรวจสอบสารซีเซียมดังกล่าวในพื้นที่เสี่ยง

ทั้งนี้ เครื่องมือการตรวจวัดหาสารกัมมันตรังสีนั้นก็มีหลายรูปแบบด้วยกัน โดยเครื่องวัดที่นิยมใช้ตรวจสอบกัมมันตรังสีมากที่สุดคือเครื่องไกเกอร์-มูลเลอร์ หรือ ไกเกอร์-มูลเลอร์ เคาน์เตอร์ (Geiger-Muller counter) ซึ่งในวันนี้เดอะไทยเกอร์จึงขอถือโอกาสแบ่งปันเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือวัดรังสีแบบหัวไกเกอร์ให้ทุกคนได้รู้จักกันมากขึ้น ไปติดตามอ่านสาระความรู้พร้อม ๆ กันได้เลย

ทำความรู้จัก ไกเกอร์-มูลเลอร์ เคาน์เตอร์ เครื่องมือนับกัมมันตภาพรังสี

เครื่องไกเกอร์-มูลเลอร์ หรือ ไกเกอร์-มูลเลอร์ เคาน์เตอร์ (Geiger-Muller counter) คือ เครื่องมือวัด หรือ เครื่องนับรังสีชนิดหนึ่ง เป็นหนึ่งในหัววัดรังสีแบบแก๊ส (Gas Detector) ทำงานในขอบเขตที่มีความต่างศักย์อยู่ในบริเวณที่ไอออนทุติยภูมิถูกจับหมดทุกตัว

เครื่องวัดแบบไกเกอร์-มูลเลอร์ เป็นเครื่องนับรังสีที่นิยมใช้กันมากในการตรวจหากัมมันตรังสี เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ ทั้งความไวในการตรวจสอบรังสี การทำงานตรวจหารังสีได้เกือบทุกชนิด รูปร่างเครื่องวัดสะดวกต่อการใช้งาน ให้สัญญาณตรวจจับขนาดใหญ่ และที่สำคัญคือมีราคาไม่แพง

เครื่องวัด ไกเกอร์ มูลเลอร์

สำหรับการทำงานของเครื่องวัดไกเกอร์-มูลเลอร์ คือเมื่อกัมมันตรังสีเข้าไปในส่วนของบริเวณ Sensitive Area ของหลอดไกเกอร์ที่อยู่ภายในกระบอกโลหะ แก๊สที่มีความดันต่ำ เช่น อาร์กอน ภายในหลอดจะแตกตัวเป็นไอออน ไอออนบวกจะวิ่งเข้าหาขั้วลบ (กระบอกโลหะ) ส่วนอิเล็กตรอนจะวิ่งเข้าหาขั้วบวก (หลอดไกเกอร์)

เมื่อรังสีกระทบกับอะตอมของอาร์กอน อิเล็กตรอนจะหลุดเกิดเป็น Ar+ ทำให้เกิดความต่างศักย์ระหว่างประจุบวก (Ar+) กับประจุลบ (อิเล็กตรอน) ในหลอด ซึ่งจะอ่านค่าความต่างศักย์ได้จากเข็มบนหน้าปัด ค่าที่อ่านได้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของรังสีที่ทำให้อาร์กอน (Ar) กลายเป็นไอออน (Ar+)

สำหรับเครื่องวัดรังสีไกเกอร์-มูลเลอร์ ถูกพัฒนามาจากท่อไกเกอร์-มูลเลอร์ ในปี ค.ศ. 1928 และหลังจากถูกนำไปใช้งานวัดกัมนตรังสีจริงก็กลายเป็นที่นิยมนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เนื่องด้วยประสิทธิภาพที่มีมากกว่าเครื่องนับรังสีตัวอื่น และราคาถูกอย่างที่กล่าวไปข้างต้น

Geiger Counter คืออะไร

ขอบคุณข้อมูลจาก : 1 2 3 4

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button