กฎหมายไซเบอร์ใหม่ เชือด บัญชีม้า-ซิมผี โทษคุก 5 ปี เริ่มแล้วสงกรานต์นี้

คุมเข้ม ธนาคาร ค่ายมือถือ และโซเชียล ร่วมรับผิดชอบ เจอโทษหนัก ขายซิมผี ไม่ระงับบัญชีม้า สกัดโกงออนไลน์กลุ่มมิจฉาชีพ
ต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ 2568 นี้ กฎหมายสำคัญที่หลายคนรอคอย พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฉบับปรับปรุงใหม่ ได้เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว (อ้างอิงข้อมูลสรุปจากเฟซบุ๊ก Monsak Socharoentum ผ่านเพจ Drama-addict)
8 ข้อต้องรู้ สกัดโกง-ลงโทษหนัก บัญชีม้า-ซิมผี
พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฉบับปรับปรุงใหม่ ถือเป็นเครื่องมือใหม่ของภาครัฐในการต่อสู้กับสารพัดกลโกงออนไลน์ที่ระบาดหนัก ตั้งแต่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ บัญชีม้า ซิมผี ไปจนถึงการหลอกลงทุน โดยมีบทลงโทษที่หนักขึ้นและครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องกว้างขึ้นกว่าเดิม มาเช็ก 8 ประเด็นสำคัญที่ควรรู้กันด่วน
1. เอาจริง! แบงก์-ค่ายมือถือ-โซเชียล อาจต้องร่วมรับผิดชอบ
กฎหมายใหม่เปิดช่องให้ สถาบันการเงิน, ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล, ค่ายมือถือ, ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่นๆ หรือแม้แต่ผู้ให้บริการ “โซเชียลมีเดีย” ต้อง ร่วมรับผิดชอบในความเสียหาย หากเกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีขึ้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนเองได้ทำตามมาตรฐานการป้องกันที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดไว้แล้ว (เรียกว่าครอบคลุมสุดซอย!)
2. ไม่ทำตามสั่ง “ระงับบัญชีม้า” โทษหนักถึงผู้บริหาร!
หาก ศปอท. (ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ) แจ้งให้สถาบันการเงินหรือธุรกิจฯ ระงับบัญชีต้องสงสัย (บัญชีม้า) แล้วไม่ดำเนินการ มีโทษปรับนิติบุคคลถึง 5 แสนบาท! หนักกว่านั้นคือ หากพิสูจน์ได้ว่ากรรมการหรือผู้บริหาร เป็นคนสั่งการหรือไม่สั่งการจนเกิดความผิดนี้ ตัวบุคคลอาจเจอคุกสูงสุด 1 ปี หรือปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ!
3. ตัดตอน “ซิมผี”! คนขายรู้เห็น โดนคุก/ปรับ
ใครที่ ขายซิมโทรศัพท์ โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าคนซื้อจะเอาไปใช้ก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี และลงทะเบียนซิมไม่ถูกต้องตามเกณฑ์ กสทช. มีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. เพิ่มอำนาจรัฐ สั่ง “ระงับเบอร์” ต้องสงสัยทันที
หากมีหลักฐานเชื่อได้ว่าเบอร์มือถือไหนถูกใช้ทำผิดกฎหมาย กสทช. มีอำนาจสั่งค่ายมือถือให้ “ระงับบริการ” เบอร์นั้นได้ทันที โดยหน่วยงานที่แจ้งเรื่องได้คือ ตำรวจ, DSI, ปปง. หรือ ศปอท.
5. ค่ายมือถือต้อง “กรอง SMS” สกัดมิจฉาชีพ
ต่อไปนี้ ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ต้องตรวจสอบและคัดกรอง SMS ที่มีลักษณะน่าสงสัยหรือเป็นของมิจฉาชีพ ตามมาตรฐานที่ กสทช. กำหนด
6. รัฐขอข้อมูล “กระเป๋าเงินดิจิทัล” ได้!
กฎหมายให้อำนาจรัฐ สามารถเรียกดูหรือขอข้อมูล เลขที่อยู่กระเป๋าเงินดิจิทัล (Wallet Address), ข้อมูลบัญชี และข้อมูลธุรกรรม จากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ทั้งเพื่อป้องกันและปราบปราม)
7. เมิน “คำสั่งลบ/บล็อกข้อมูล” มีโทษ
ผู้ใดได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงาน (ตาม พ.ร.บ. คอมพ์) ให้ระงับการเผยแพร่หรือนำข้อมูลผิดกฎหมายออกจากระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ไม่ปฏิบัติตาม มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
8. ห้ามยุ่ง “ข้อมูลคนตาย”! โทษหนักถึงคุก 5 ปี
การนำข้อมูลของ “ผู้เสียชีวิต” ไปใช้ก่อความผิด, ครอบครอง, เปิดเผย หรือเก็บไว้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท แต่ถ้านำไป เสนอซื้อ/ขาย/แลกเปลี่ยน หรือหาประโยชน์โดยมิชอบ โทษหนักขึ้นเป็น จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ!
สรุปกฎหมายสกัดอาชญากรรมออนไลน์ (ฉบับแก้ไข) เน้นเร็ว แรง ปกป้องเหยื่อ
กฎหมายฉบับนี้มุ่งเน้นเพิ่มเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่จัดการกับมิจฉาชีพออนไลน์ได้ฉับไวขึ้น โดยมีประเด็นสำคัญที่เปลี่ยนไป ดังนี้
– ฎหมายจะมีผลทันทีในวันถัดไปหลังจากประกาศใช้อย่างเป็นทางการ (ไม่ต้องรอ 30 วันเหมือนเดิม)
– ครอบคลุมเงินดิจิทัล กำหนดความหมายของ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” และ “บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์” ให้ชัดเจน และรวมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาอยู่ในข่ายที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้ด้วย
– อนุญาตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร, ตำรวจ, ปปง., ก.ล.ต. (หน่วยงานดูแลตลาดหุ้นและสินทรัพย์ดิจิทัล) สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล เลขกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการทำผิดได้ เพื่อติดตามเส้นทางการเงิน
– กำหนดให้มีมาตรการหรือมาตรฐานในการกรองข้อความที่สุ่มเสี่ยง เช่น ข้อความชวนเล่นพนันออนไลน์ หรือหลอกลงทุนที่ดูน่าสงสัยตั้งแต่แรกเห็น โดยไม่ต้องกดเข้าไปอ่าน
– สั่งระงับเบอร์/เน็ตต้องสงสัยเร็วขึ้น ถ้าหากมีหลักฐานเชื่อได้ว่าเบอร์มือถือหรือบริการโทรคมนาคมถูกใช้ทำผิดกฎหมาย ตำรวจ, DSI, ปปง. หรือศูนย์ปราบฯ อาชญากรรมออนไลน์ สามารถแจ้งให้ กสทช. สั่งผู้ให้บริการระงับบริการนั้นๆ ได้ทันที
– เจ้าหน้าที่สามารถสั่งระงับหรือลบข้อมูล/เว็บไซต์ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปิดให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาตได้
– กำหนดขั้นตอน หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการคืนเงินให้ผู้เสียหายให้ละเอียดมากขึ้นในกฎกระทรวง หากไม่มีผู้เสียหายมารับเงินคืนภายใน 10 ปี หรือมีเงินเหลือ เงินนั้นจะตกเป็นของกองทุน ปปง. (แต่เจ้าของเดิมยังสามารถยื่นเรื่องขอคืนได้ภายหลัง)
– หากเกิดเหตุฉ้อโกงผ่านระบบของสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการระบบชำระเงิน/สินทรัพย์ดิจิทัล บริษัทเหล่านั้นจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตนเองได้ทำตามมาตรฐานการป้องกันที่รัฐกำหนดดีแล้ว จึงจะไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหาย
– มีโทษปรับสำหรับบริษัทการเงิน หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
– ผู้บริหารหรือตัวแทนบริษัท หากมีส่วนเกี่ยวข้อง อาจมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มีโทษสำหรับผู้ที่จงใจลงทะเบียนซิมการ์ดให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง โดยรู้ว่าจะนำไปใช้ก่ออาชญากรรม
– จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ขึ้นในกระทรวงดีอี เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงาน
(หมายเหตุ: ในร่างฉบับนี้ ได้ตัดข้อเสนอเดิมเรื่องห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ P2P และโทษเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ออกไป)
– ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ต่างประเทศ แต่ให้บริการคนไทย “ต้อง” ได้รับอนุญาตตามกฎหมายไทย
– แค่ไหนเรียก “ให้บริการคนไทย”? กฎหมายระบุตัวอย่างชัดเจน เช่น เว็บไซต์หรือแอปมีภาษาไทย, เลือกจ่ายเงินบาทได้, รับเงินผ่านบัญชีในไทย, หรือระบุให้ใช้กฎหมายไทยในการทำธุรกรรม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- จับโป๊ะ ไอจี ณิชา ไร้เงา โตโน่ ลบรูปคู่เกลี้ยง หลังปมข่าวฉาว
- เตือน 5 ข้อห้าม สรงน้ำพระ สงกรานต์นี้ ทำผิดวิธีอาจไม่เป็นมงคล
- 12 ที่เล่นน้ำสงกรานต์ 2568 กรุงเทพ-ต่างจังหวัด Water Festival 2025