‘ฐปณีย์’ ชำแหละ ร่างงบหุ้น ITV ไร้รายได้ 15 ปี หลังประชุม 2 วัน รับบริการโฆษณา
แยม ฐปณีย์ ชำแหละพิรุธ ร่างงบหุ้น ITV ไร้รายได้ 15 ปี หลังประชุม 2 วัน รับบริการโฆษณา ตรงกับวันนำยื่นคำร้องคดีของพิธา
แยม ฐปณีย์ เอียดศรีไชย เปิดเผยถึงร่างงบประมาณ ITV และพบพิรุธงบการเงินไตรมาสที่ 1/2566 ของบริษัท ผ่านรายการ “ข่าว 3 มิติ” ของช่อง 3 โดยระบุเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา ตรวจสอบสถานะการดำเนินกิจการสื่อ รวมถึงมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชี ได้ลาออกไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
จากเอกสารแบบนำส่งงบการเงิน ของบริษัทไอทีวี เมื่อวันที 10 พ.ค. 2566 เป็นงบการเงินบัญชีรอบปีสิ้นสุด วันที่ 31 ธ.ค. 2565 ซึ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 และเอกสารรายงานความเห็นการสอบบัญชี วันที่ 24 พ.ค. 2566 ระบุว่า บริษัทไอทีวี มีประเภทธุรกิจเป็นสื่อโทรทัศน์ สินค้า สื่อโฆษณา และผลตอบแทนจากการลงทุน
ประกอบกับงบแสดงฐานะการเงิน วันที่ 31 มี.ค. 2566 ของบริษัทไอทีวี และบริษัทย่อยที่ระบุว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบและเป็นร่างสำหรับใช้งานภายใน มีรายได้เป็นผลตอบแทนจากเงินลงทุน และดอกเบี้ยรับกว่า 6 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายในการบริการกว่า 2 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตอบแทนในการบริการ 1.5 แสนบาท และมีกำไรจากกิจกรรมดำเนินงาน 3.8 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน ระบุว่า วันที่ 24 ก.พ. 2566 บริษัทมีการลงสื่อให้กิจการที่เกี่ยวข้อง และวันที่ 28 เม.ย. 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินการธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการสื่อโฆษณา จากการที่บริษัทมีการให้บริการกลุ่มบริษัทข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รนายได้ในไตรมาส 2 ปี 2566
จากเอกสารมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญการเงินว่า งบการเงินไตรมาส 1/2566 แตกต่างจากงบการเงินปี 2565 ที่ไม่มีการระบุว่า เป็นสื่อโฆษณา มีเพียงระบุรายได้ที่มาจากการลงทุน ซึ่งตรงกับงบการเงินของบริษัทไอทีวี นับจากถูกยกเลิกสัมปทานปี 2550-2565 เวลา 15 ปี ก็ไม่มีรายได้จากสื่อโฆษณา ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงของผู้ถือหุ้น วันที่ 26 เม.ย. 2566 ที่ผู้บริหารบริษัทไอทีวี ตอบว่า “ยังไม่ดำเนินการใด ๆ”
แต่ในวันที่ 28 เม.ย. 2566 เพียง 2 วันหลังการประชุม กลับมีรายงานในงบการเงิน ว่าให้บริการลงสื่อโฆษณา และวันนำส่งบัญชีก็ตรงกับวันนำยื่นคำร้องคดีของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 ด้วย
ขณะที่ ในงบประจำปี 2565 ทั้งปี ไม่พบว่ามีข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับ สื่อโฆษณาเลย ยกเว้นใบปะหน้า แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) แต่เรื่องสื่อโฆษณา มาอยู่ในเอกสารไตรมาส 1 ดังนั้น นี่จึงเป็นข้อพิรุธ ว่า เอกสารผิดพลาดหรือไม่ ไม่ต้องกับข้อเท็จจริงหรือไม่ นี่จึงถือเป็นข้อสังเกตใหม่ล่าสุด ที่ตั้งคำถามมาจากนักเศรษฐศาสตร์ จุดนี้ถือเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงและข้อโต้แย้ง ว่า บริษัทไอทีวี เป็นสื่อโฆษณาจริงตามที่ระบุใน เอกสารจริงหรือไม่
https://youtu.be/m2eo2ZmIqrw