ข่าว

ประวัติ ‘วันอานันทมหิดล’ 9 มิถุนายน ระลึกวันคล้ายวันสวรรคต ร.8

เปิดพระราชประวัติ “วันอานันทมหิดล” 9 มิถุนายน 2566 ครบรอบ 77 ปี ร่วมระลึกวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในหลวงรัชกาล 8 พระมหากษัตริย์ แห่งราชอาณาจักรไทย ชวนประชาชนชาวไทยศึกษาพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของ ในหลวงรัชกาลที่ 8 เนื่องด้วยโอกาสวันมหามงคล พร้อมสำนึกในพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และยังทรงเป็นผู้พระราชทานคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติ “วันอานันทมหิดล” วันคล้ายวันเสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 8

วันอานันทมหิดล หรือวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ที่ซึ่งทรงสเด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ที่เหล่าประชาชนชาวไทยจึงถือวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันอานันทมหิดล เนื่องด้วยการที่ได้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่ยิ่งต่อวงการแพทย์และการศึกษา รวมถึงบำบัดทุกข์ของปวงประชาให้พสกนิกรมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้พระราชทานการเกิดคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอื่น ๆ

กิจกรรมที่จัดขึ้นใน วันอานันทมหิดล 9 มิถุนายน

1. พิธีวางพวงมาลา ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ซึ่งประดิษฐานหน้าอาคารอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ของคณาจารย์ แพทย์ พยาบาล นิสิตแพทย์และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

2. พิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. การจัดทำเข็มกลัดที่ระลึกเนื่องในวันอานันทมหิดล

4. การจัดงานเสวนาเนื่องในสัปดาห์วันอานันทมหิดล

5. การดำเนินกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

วันอานันทมหิดล

อ่านพระราชประวัติ รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ.2468 ณ เมืองไฮเดนเบิร์ก (Heidenberg) ประเทศเยอรมนี ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล

ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์โต ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลารานครินทร์) และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (หม่อมเจ้าสังวาลย์ ตะละภัฏ)

ทรงมีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระอนุชา 1 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา ให้พระโอรสธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้า ซึ่งมีพระราชชนนีเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในพระมหากษัตริย์ แต่พระมารดาในพระโอรสธิดาเป็นสามัญชน ตามธรรมเนียมราชสกุลพระโอรสธิดาจะต้องมีพระยศเป็นหม่อมเจ้า ให้ยกขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าทั้งหมด

ดังนั้น พระโอรสพระธิดาในสมเด็จพระพี่ยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ จึงได้ดำรงพระยศเป็น พระวรวงศ์เธอพระองค์ เจ้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งรวมไปถึงหม่อมเจ้าอานันทมหิดลพระองค์หนึ่งด้วย

ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2472 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ พระบรมราชชนก ได้สิ้นพระชนม์ลง ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องทรงเป็นกำพร้า

ขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 4 พรรษา พระองค์จึงทรงอยู่ในอุปการะและพระอภิบาลของสมเด็จพระบรมราชชนนีแต่เพียงพระองค์เดียวอย่างเข้มงวดและใกล้ชิด

ในปี พ.ศ.2474 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระชนมายุได้ 7 พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาในแผนกอนุบาลที่ โรงเรียนมาแตร์เดอี โดยมี แม่ชีมากาแรต แมรี เป็นครูประจำชั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2475 ได้ทรงย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนเทพศิริรนทร์ ในระหว่างนั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก อีกทั้งเกิดการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในปี พ.ศ.2475

รัชกาลที่ 8 ประวัติ

ต่อมา ในปี พ.ศ.2476 สมเด็จพระบรมราชชนนี จึงทรงตัดสินพระทัยพาพระโอรสธิดาทั้งสาม เสด็จไปต่างประเทศเพื่อการรักษาพระพลานามัยและเพื่อการศึกษา ทรงเลือก เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นที่ประทับ

เนื่องจากเป็นเมืองที่มีอากาศดี ภูมิประเทศสวยงาม และพลเมืองมีอัธยาศัยดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเข้าศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนมิเรมองต์ ในเดือนกันยายน พ.ศ.2476

ในขณะที่ทรงประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นเวลาเดียวกับที่ประเทศไทยได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นอย่างรุนแรง วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงประกาศสละราชสมบัติ ซึ่งพระองค์ไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาเลย และทรงสละสิทธิ์การแต่งตั้งผู้รับราชสมบัติด้วย

ประวัติ รัชกาลที่ 8 หลังขึ้นครองราชย์

รัฐบาลไทยสมัยนั้นจึงได้กราบบังคมทูลเชิญ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นพระราชวงศ์องค์ที่ 1 ในลำดับการสืบสันตติวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467 ขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา

ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2477 ทางรัฐบาลไทยโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งโทรเลขไปอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นเสวยราชสมบัติ และได้แต่งตั้งให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร

เป็นผู้ถือสำเนาโทรเลขของรัฐบาล เดินทางไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนนี และได้ออกประกาศฉบับหนึ่งแจ้งให้ประชาชนไทยทราบ ในวันที่ 8 และ 9 มีนาคม พ.ศ.2477

หนังสือพิมพ์ในเมืองไทยต่างลงเรื่องราวเกี่ยวกับยุวกษัตริย์พระองค์นี้อย่างเอิกเกริกแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นพระราชประวัติของพระองค์ท่าน และเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระบรมราชชนก สมเด็จพระบรมราชชนนี เป็นต้น

วันอานันทมหิดล ประวัติ

เมื่อพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นทรงราชย์ รัฐบาลได้มีหนังสือเชิญเสด็จนิวัตรสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ประชาชนได้เฝ้าชื่นชมพระบารมี ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2481 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชนนี สมเด็จพระเชษฐาภคินี และสมเด็จพระอนุชา ได้เสด็จออกจากเมืองโลซานน์โดยทางรถไฟ มาประทับเรือเดินสมุทรที่ท่าเรือเมืองมาร์แซย์ ประเทศฝรั่งเศส

เช้าวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2481 เรือพระที่นั่งเทียบท่าจอดทอดสมอที่เกาะสีชัง คณะผู้สำเร็จราชการและนายกรัฐมนตรี จึงได้เชิญเสด็จลงประทับในเรือรบหลวงศรีอยุธยาอีกทอดหนึ่ง เวลา 16.00 น. เรือพระที่นั่งเข้าเทียบท่าราชวรดิษฐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ประทับอยู่ในพระราชอาณาจักรได้ประมาณ 2 เดือน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับเพื่อไปศึกษาต่อ

ในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2482 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อ ทรงมีกระแสพระราชดำรัสผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียง ทรงขอบใจรัฐบาลและเหล่าพสกนิกรชาวไทยที่ให้การต้อนรับพระองค์อย่างดียิ่ง

ในปี พ.ศ.2486 เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 18 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลาย ทรงศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถกอรปไปด้วยพระวิริยะอุตสาหะอย่างดียิ่ง ซึ่งพระองค์ทรงมีผลการเรียนดีเยี่ยมมาโดยตลอด

ประวัติ วันอานันทมหิดล

วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2488 เวลา 9.00 น. เครื่องบินพระที่นั่ง เดินทางถึงสนามบินดอนเมือง ข้าราชการ ทหาร พลเรือน และพสกนิกร ต่างไปเฝ้ารอรับเสด็จอย่างเนืองแน่น ในปี พ.ศ.2488 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีพระชนมายุ 20 พรรษาบริบูรณ์

ทางรัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินกลับพระนครเพื่อครองราชย์ แต่พระองค์ยังทรงมีพระราชประสงค์ที่จะศึกษาวิชากฎหมายและเศรษฐศาสตร์ให้สำเร็จเสียก่อน จึงทรงดำริที่จะเสด็จกลับยังประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะประทับอยู่ในประเทศไทยประมาณ 1 เดือน จากนั้นจะเสด็จกลับไปยังเมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ให้ทันเปิดภาคเรียนใหม่ในกลางเดือนมกราคม พ.ศ.2489 แต่พระองค์ต้องทรงเลื่อนกำหนดเสด็จกลับไปหลายครั้ง เนื่องด้วยมีพระราชภารกิจหลายสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศชาติและพสกนิกรของพระองค์

หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จประทับอยู่ในประเทศไทย จนถึงกลางปี พ.ศ.2489 ทรงมีพระราชประสงค์จะเสด็จกลับไปศึกษาต่อให้สำเร็จ โดยมีหมายกำหนดการเสด็จกลับในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2489 แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น

ในเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 เวลา 09.00 น. เสียงปืนนัดหนึ่งดังขึ้นในห้องพระบรรทม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง มหาดเล็กหน้าห้องพระบรรทมเข้าไปดู พบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงพระบรรทมอยู่บนพระที่ มีพระโลหิตไหลเปื้อนพระองค์ และเสด็จสวรรคตแล้วด้วยพระแสงปืน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จสวรรคตในขณะที่ทรงมีพระชนมายุเพียง 21 พรรษา รวมเวลาอยู่ในสิริราชสมบัติเพียง 13 ปี พระราชกรณียกิจ ร.8

พระราชกรณียกิจ ในหลวงรัชกาลที่ 8

ระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในหลวงรัชกาล 8 นั้นทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย ในด้านต่าง ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นด้านปกครอง การศาสนา และการศึกษา ที่ทรงส่งเสริมการพัฒนาในด้านนั้น ๆ ให้กับปวงชนชาวไทย

ด้านการปกครอง

  • เสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 และเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489
  • เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ และทรงเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ สำเพ็ง พระนคร ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนจนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง ใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง และพระองค์ทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาทเป็นระยะประมาณ 3 กิโลเมตร การเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็งในครั้งนี้จึงเป็นการประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นให้หมดไป

ด้านการศาสนา

  • เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรก พระองค์ได้ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ท่ามกลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481
  • เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปในพระอารามที่สำคัญ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร โดยเฉพาะที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

ด้านการศึกษา

  • เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของหอสมุดแห่งชาติ รวมทั้ง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนเทพศิรินทร์
  • เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของพระองค์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489
  • เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร ณ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489
  • ด้วยพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้นั้น มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระองค์ทรงหว่านข้าว ณ แปลงสาธิต ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ้างอิง : 1

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button