ข่าวข่าวการเมืองเลือกตั้ง 66

เปิดเงินเดือน ส.ว. ได้เท่าไหร่ มาจากไหน ถกสนั่น 250 ส.ว. มีไว้ทำไม

เปิดเงินเดือน ส.ว. 250 เสียง ได้เท่าไหร่บ้าง รายได้มาจากไหน พร้อมบอกสวัสดิการที่ได้รับ แต่ละเดือนเงินพุ่งถึงหลักแสน หลังเกิดกระแสดราม่า ส.ว. มีไว้ทำไม พุ่งติดเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์

แม้การเลือกตั้ง 2566 เพิ่งผ่านพ้นไป และผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการสรุปออกมาแล้วว่า พรรคก้าวไกล ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 1 และได้ขึ้นเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำประชาชนยังคงกังวลกับการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 250 เสียง ที่อาจทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถขึ้นเป็นรัฐบาลได้ ทำให้ประชาชนต่างตั้งคำถามว่า “ส.ว. มีไว้ทำไม” ในวันนี้ The Thaiger จะพาทุกท่านมาเปิดรายได้ของ ส.ว. กันว่าสมาชิกวุฒิสภาได้เงินเดือนกันเท่าไหร่บ้าง สวัสดิการเป็นอย่างไร รายได้มาจากไหน ถ้าพร้อมแล้วมาอ่านไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

สมาชิกวุฒิสภา มีหน้าที่อะไร

สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี หรือเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาโดยไม่มีการลงมติและมีหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

อำนาจบางประการของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เป็นอำนาจใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นเป็นพิเศษ ถือเป็นมรดกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางเส้นทางการรักษาอำนาจเอาไว้ เช่น อำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือการติดตามเร่งรัดแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นต้น

โดยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 250 คน มาจากระบบการคัดเลือกของ คสช. ทั้งสิ้น ประชาชนจึงเล็งเห็นว่า กลุ่ม ส.ว. มีแนวโน้มที่อาจจะเลือกรัฐบาลเสียงน้อย ทำให้ประชาชนทุกคนต่างจ้องจับตาดูการใช้อำนาจของคนทั้ง 250 คนนี้ เพื่อดูว่าท้ายที่สุดแล้วพรรคก้าวไกลจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้สำเร็จหรือไม่

รายได้ ส.ว. 250 คน
ภาพจาก : หอสมุดรัฐสภา

เปิดเงินเดือน ส.ว. 1 คนใช้จ่ายกี่บาท รายได้มาจากไหนบ้าง

  • ประธานวุฒิสภา 1 คน เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 74,420 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 45,500 บาท รวมเป็นเงินเดือนละ 119,920 บาท
  • รองประธานวุฒิสภา 2 คน เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท รวมเป็นเงินเดือนละ 115,740 บาท
  • สมาชิกวุฒิสภา 247 คน เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเงินเดือนละ 113,560 บาท

ทั้งนี้ ส.ส. และ ส.ว. แต่ละคนยังสามารถมีผู้ช่วยทำงานได้อีก 8 คน แบ่งออกเป็น 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ผู้ชำนาญการประจำตัว และผู้ช่วยดำเนินการประจำตัว โดยมีค่าใช้จ่ายดังนี้

  • ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน เงินเดือน 24,000 บาท
  • ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน เงินเดือน 15,000 บาท รวม 30,000 บาท
  • ผู้ช่วยดำเนินการประจำตัว 5 คน เงินเดือน 15,000 บาท รวม 75,000 บาท

นอกจากเงินประจำที่ได้รับทุกเดือนแล้ว ทั้ง ส.ว. และ ส.ส. รวมถึงข้าราชการทางการเมือง ยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล และเบี้ยประชุม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ค่าเดินทาง ในวงเงิน 1,500,000 บาท/ปี แบ่งออกเป็นค่าเดินทางในประเทศและค่าเดินทางต่างประเทศ ดังนี้

  • ค่าเดินทางต่างประเทศ
    – เบี้ยเลี้ยงกรณีเบิกเหมาจ่าย 3,100 บาท/วัน/คน
    – กรณีไม่ได้เบิกเหมาจ่าย ค่าอาหาร เครื่องดื่ม โรงแรม 4,500 บาท/วัน/คน
    – ค่าทำความสะอาดเสื้อผ้า 500 บาท/วัน/คน
    – ค่าใช้สอยเบ็ดเตล็ด 500 บาท/วัน/คน
  • ค่าเดินทางในประเทศ
    – เบี้ยเลี้ยง 270 บาท/วัน/คน
    – ค่าที่พักกรณี : พักคนเดียว 2,500 บาท/วัน/คน (เบิกตามจริง), พักคู่ 1,400 บาท/วัน/คน (เบิกตามจริง), พักแบบเหมาจ่าย 1,200 บาท/วัน/คน
  • ค่าเดินทางไป-กลับประชุมรัฐสภา เบิกตามระยะทางจริง

2. ค่ารักษาพยาบาล โดย ส.ว. จะมีสิทธิในการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยใน-ผู้ป่วยนอก ดังนี้

  • กรณีรักษาผู้ป่วยใน
    – ค่าห้องและค่าอาหารต่อวัน (ไม่เกิน 31 วันต่อครั้ง) 4,000 บาท/วัน
    – ค่าห้องไอซียู (สูงสุด 7 วันต่อครั้ง) 10,000 บาท/วัน
    – ค่ารักษาพยาบาลทั่วไปต่อครั้ง 100,000 บาท/ครั้ง
    – ค่ารถพยาบาล 1,000 บาท/ครั้ง
    – ค่าแพทย์ผ่าตัด 120,000 บาท/ครั้ง
    – ค่าแพทย์เยี่ยมไข้ (ไม่เกิน 31 วันต่อครั้ง) 1,000 บาท/วัน
    – ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค 4,000 บาท/ครั้ง
    – การรักษาทันตกรรม 5,000 บาท/ปี
    – การคลอดบุตร โดยการคลอดธรรมชาติ 20,000 บาท
    – การคลอดบุตร โดยการผ่าตัด 40,000 บาท
  • กรณีรักษาผู้ป่วยนอก
    – ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป 90,000 บาท/ปี
    – อุบัติเหตุฉุกเฉิน 20,000 บาท/ปี
  • การตรวจสุขภาพประจำปี 7,000 บาท/ปี

3. เบี้ยประชุม กรรมาธิการในฐานะประธาน 1,500 บาท/ครั้ง ร่วมประชุมกรรมาธิการ 1,200 บาท/ครั้ง และประชุมอนุกรรมาธิการ 800 บาท/ครั้ง

เปิดเงินเดือน ส.ว.
ภาพจาก : หอสมุดรัฐสภา

เมื่อคำนวณตัวเลขงบประมาณสำหรับ ส.ว. 1 คน จะใช้เงินจำนวนทั้งหมด 4,512,720 บาท/ปี ในส่วนของคณะสภาวุฒิสภาทั้ง 250 คน จะใช้เงินทั้งหมด 1,128,180,000 บาท/ปี ซึ่งงบประมาณเมื่อครบวาระ 5 ปีของสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คน จะใช้เงินทั้งสิ้น 5,640,900,000 บาท

ขอบคุณข้อมูลจากคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button