ข่าว

ผู้ช่วยอธิการบดีม.ดัง ร้องตร.ไซเบอร์หลังมิจฉาชีพอ้างชื่อ-รูปไลน์ ตุ๋นโอนเงิน

เช็คชื่อมิจฉาชีพ หลังผู้ช่วยอธิการบดี รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ นักอาชญาวิทยาคนดัง เดินหน้าร้องเอาผิดกลุ่มมิจฉาชีพนำรูปภาพไปแอบอ้างเป็นผู้จัดการทางการเงิน หลอกเหยื่อให้โอนเงิน

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา ม.รังสิต พร้อมด้วย น.ส.ทรรศนีย์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี ผู้ช่วยทันตแพทย์ ผู้เสียหาย ยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์กองบัญชา ผบช.สอท. ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

หลังผู้ช่วยอธิการบดีและ ผู้ช่วยทันตแพทย์ ถูกแก๊งมิจฉาชีพ นำรูปภาพไปแอบอ้างเป็นผู้จัดการทางการเงิน หลอกเหยื่อให้โอนเงินอ้างว่าทำงานผ่านโซเชียลเพื่อหารายได้เสริม

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า ที่ต้องมายื่นหนังสือวันนี้ เพราะได้รับแจ้งจากผู้เสียหายรายหนึ่งว่าถูกหลอกโอนเงิน โดยมีการนำภาพของตนไปตัดต่อตั้งเป็นโปรไฟล์ไลน์ แอบอ้างเป็นผู้จัดการทางการเงินของมือถือยี่ห้อหนึ่ง เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายมาร่วมลงทุน โฆษณาสินค้า ซึ่งผู้เสียหายระบุว่า ตอนแรกกดลิงค์จากเฟซบุ๊ก จากนั้นเมื่อกดเข้าไปแล้ว ถูกดึงเข้ากรุ๊ปไลน์ ซึ่งพบว่ามีสมาชิกในกรุ๊ปกว่า 200 คน

นอกจากนี้ในกรุ๊ปนั้นมีการชักชวนกันลงทุน เช่น ลงทุน 200 บาท จะได้เงิน 290 บาท ก็จะมีการหลอกให้โอนเงินเรื่อย ๆ เมื่อโอนไปแล้ว ก็จะเริ่มคัดสมาชิกที่โอนออกจากกรุ๊ปไลน์ ตอนนี้มีผู้ถูกหลอกไปแล้ว 7-8 คน สูญเงินไปกว่าครึ่งล้านบาท วันนี้เลยมาแจ้งความที่สอท. เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

ด้าน น.ส.ทรรศนีย์ กล่าวว่า ตนเห็นโฆษณาสินค้าบนเฟซบุ๊ก เด้งขึ้นมาระหว่างดูวิดีโอสั้น ซึ่งเป็นลิงค์เว็บไซต์มือถือยี่ห้อหนึ่ง ตนจึงคลิกเข้าไป แต่เมื่อเข้าไปแล้ว มันไปเชื่อมกับกรุ๊ปไลน์ และมีการชักชวนให้ลงทุน เป็นการลงทุนเกี่ยวกับสินค้ามือถือยี่ห้อหนึ่ง เข้าเว็บค้างไว้ 5 นาที จะมีค่าคอมมิชชั่นเข้ามา ลงทุนไปรอบแรก 200 บาท ได้คอมมิชชั่นกลับมา 90 บาท รอบ 1-2 เงินเข้าบัญขี รอบ 3 จะชักชวนให้ลงทุนหนักขึ้นเรื่อยๆ โอนไปทั้งหมด 5 ครั้ง เสียเงินไป 74,088 บาท

“น.ส.ทรรศนีย์” กล่าวต่ออีกว่า เมื่อโอนไปแล้วจะมีคนคัดออกจากกลุ่มเรื่อย ๆ โดยในกลุ่มจะมีผู้หญิงแอบอ้างเป็นเจ้าของมือถือดัง 2 คน และอ้างเป็น อาจารย์กฤษณพงค์ 1 คน ตนพยายามขอเงินคืนแล้ว แต่จะถูกอ้างว่าคิดค่าขนส่ง ซึ่งจะต้องโอนเงินมาเพิ่มถึงจะได้เงินคืน ยอมรับว่าที่ยอมโอนเงินหลงเชื่อเพราะเป็นแอพฯมือถือชื่อดัง มีลิงค์มือถือ มีภาพอาจารย์ทำให้หลงเชื่อ

ทั้งนี้ พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิต ผบก.ตอท.บช.สอท. เป็นตัวแทนเข้ารับหนังสือวันนี้ กล่าวว่า เบื้องต้นจะทำการสอบสวนผู้เสียหาย และอาจารย์เพื่อจะขยายผลตรวจสอบว่ามีผู้เสียหายอีกหรือไม่

คดีในลักษณะนี้มีมากเป็นอันดับ 2 ซึ่งอันดับ 1 คือการหลอกขายสินค้า และอันดับ 2 เป็นการหลอกทำงานออนไบน์ เพราะเป็นช่วงโควิด ประชาชนเลยหลงเชื่อ ฝากเตือนให้ตรวจสอบตัวตนของบริษัท หรือผู้จะให้โอนให้อย่างละเอียดรอบคอบ ขอให้อย่าหลงเชื่อลิงค์ลักษณะนี้

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button