ข่าว

เช็กจังหวัด “น้ำท่วมฉับพลัน” 5-11 ม.ค. 66 เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน ระหว่างวันที่ 5-11 มกราคม 2566 จังหวัดภาคกลางและภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ระมัดระวังคลื่นลมแรงในทะเลในหลายพื้นที่

เมื่อวันพุธที่ 4 มกราคม 2566 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้อัปเดตความคืบหน้าสภาพอากาศในประเทศไทย ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา พบความหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง แนวโน้มกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนเข้าใกล้ปลายแหลมญวณ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ในช่วงวันที่ 5-8 มกราคม 2566 บริเวณภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประกาศแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันทั้ง 11 จังหวัดภาคกลางและภาคใต้ ในช่วงวันพฤหัสบดีที่ 5 ถึงวันพุธที่ 11 มกราคม 2566 ประกอบด้วย เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมทั้งได้ประกาศ ฉบับที่ 1/2566 ลงวันที่ 4 มกราคม 2566 ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ดังนี้

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขัง

  1. สุราษฎร์ธานี (อ.กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก พนม เวียงสระ เกาะสมุย เกาะพะงัน)
  2. นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ขนอม เชียรใหญ่ เฉลิมพระเกียรติ ท่าศาลา นบพิตำ ปากพนัง พรหมคีรี พระพรหม ร่อนพิบูลย์ ลานสกา สิชล)
  3. พัทลุง (อ.เมืองฯ กงหรา เขาชัยสน ควนขนุน ตะโหมด บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน ศรีนครินทร์)
  4. สงขลา (อ.เมืองฯ กระแสสินธุ์ ควนเนียง จะนะ เทพา บางกล่ำ ระโนด รัตภูมิ หาดใหญ่)
  5. ปัตตานี (อ.เมืองฯ กะพ้อ โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก)
  6. ยะลา (อ.เมืองฯ รามัน ยะหา กาบัง)
  7. นราธิวาส (อ.เมืองฯ จะแนะ เจาะไอร้อง ตากใบ บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ แว้ง สุคิริน สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี)

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง

  1. บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก

อีกทั้งยังแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) รวมทั้งอ่างฯ ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลางให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน

เฝ้าระวังคลื่นซัดฝั่งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบกิจการบริเวณแนวชายฝั่งทะเลตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช จนถึง จังหวัดนราธิวาส

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

  1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
  2. ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น-ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก
  3. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
  4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุดในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม 2566 ได้มีประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย ฉบับที่ 3 (3/2566) มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 5-8 มกราคม 2566

ในช่วงวันที่ 5-8 มกราคม 2566 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงใกล้เกาะบอร์เนียวบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ปลายบริเวณแหลมญวณ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร สำหรับบริเวณภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้

ในวันที่ 6 มกราคม 2566

จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ในช่วงวันที่ 7-8 มกราคม 2566

จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำ ให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว รวมทั้งระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อ้างอิง : 1

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button