การเงิน

รวม มาตรการช่วยเหลือ น้ำท่วม ปี 2564 จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

กระทรวงการคลัง ทำการรวบรวม มาตรการช่วยเหลือ น้ำท่วม ภายในปี 2564 จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่าง ๆ ที่เปิดดำเนินการอยู่ในขณะนี้

วันนี้ (15 ต.ค. 2564) – นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ได้จัดทำ มาตรการช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย (น้ำท่วม) ประจำปี 2564 โดยการพักชำระหนี้และสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติม ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ธนาคารออมสิน

1. มาตรการพักชำระหนี้ โดยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือนสำหรับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภท สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉิน

  • สินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อย วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี ในปีแรก ปลอดชำระคืนเงิน 3 เดือนแรก และระยะเวลาผ่อนชำระ 3 – 5 ปี
  • สินเชื่อเคหะ วงเงินกู้รายละไม่เกิน 1,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี ในปีแรก ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 40 ปี
  • สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) วงเงินกู้สูงสุดร้อยละ 10 ของวงเงินกู้เดิม แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.5 ต่อปี ในปีแรก ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี ระยะผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 5 ปี

ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอสินเชื่อภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศภัยพิบัติหรือวันที่ประสบภัยพิบัติ

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

1. มาตรการพักชำระหนี้ โดยการพักชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยปรับ

2. มาตรการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 3 ปี

ธนาคารอาคารสงเคราะห์

1. สำหรับลูกค้าเดิมที่หลักประกันได้รับความเสียหาย สามารถขอรับการลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0 ต่อปี เป็นระยะเวลา 4 เดือน

2. สำหรับลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ที่ประสงค์ยื่นขอสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างทดแทนอาคารเดิม หรือเพื่อซ่อมแซมอาคาร วงเงินกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ในปีแรก และ MRR – 3.5 ต่อปีหรือร้อยละ 3 ในปีที่ 2 – 3

3. ลูกหนี้มีสถานะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ที่หลักประกันได้รับเสียหาย สามารถขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยใน 4 เดือนแรก และเดือนที่ 5 ถึงเดือนที่ 16 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี

4. ลูกหนี้ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ สามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี

5. ลูกหนี้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร สามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ต่อปี ตลอดระยะเวลาคงเหลือ

6. หลักประกันเสียหายทั้งหลังไม่สามรถซ่อมแซมได้ สามารถขอรับปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินคงเหลือเท่านั้น

7. สำหรับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ จะพิจารณาจ่ายเงินสินไหมให้แก่ลูกค้าอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ

ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank)

1. มาตรการพักชำระหนี้

  • สำหรับลูกค้าที่มีการกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term Loan) จะได้รับการพักชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน
  • สำหรับลูกค้าที่มีสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : P/N) จะได้รับพักชำระดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน

2. มาตรการสินเชื่อฉุกเฉิน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.99 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลากู้สูงสุด ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี

  • หากลูกหนี้มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท จะได้รับวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 5 แสนบาท
  • หากลูกหนี้มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท จะได้รับวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท
  • หากลูกหนี้มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 5 ล้านบาท จะได้รับวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้ รวมวงเงินเดิมแล้วไม่เกิน 15 ล้านบาท

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) พร้อมให้การช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเป็นพิเศษ โดยสามารถติดต่อสายด่วน Hotline ของ ธสน. โทร. 02 037 6099

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะกำไรเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป ไม่เกินระยะเวลาที่พักชำระ และยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ (Late charge) โดยสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

1. มาตรการช่วยเหลือลูกค้า SMEs สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าของ บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และหนังสือค้ำประกันสินเชื่อลงวันที่ตั้งแต่ 15 ตุลาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2564 จะได้รับการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกัน (ถ้ามี) เป็นระยะเวลา 3 เดือน

2. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย.

  • มาตรการลดค่างวด โดยการผ่อนจ่ายร้อยละ 20 หรือจ่ายขั้นต่ำ 500 บาท สูงสุด 3 เดือน และการพักดอกเบี้ยเกิดใหม่ หรือ
  • มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้า บสย. ที่ค้างชำระหนี้ไม่เกิน 3 เดือน โดยการพักชำระหนี้สูงสุด 3 เดือน และพักดอกเบี้ยเกิดใหม่

ทั้งนี้ สามารถยื่นคำขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

นายพรชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2564 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จะสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่น ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้า ทำให้มีเงินหมุนเวียน ช่วยฟื้นฟูกิจการ รวมถึงปรับปรุงและซ่อมแซมอาคาร เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้”

 

แหล่งที่มาของข่าว : Facebook Page – สถานีข่าวกระทรวงการคลัง

สามารถติดตามข่าวการเงินเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวการเงิน

 

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button