ข่าว

มหาวิทยาลัยที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับคณะราษฎร

มหาวิทยาลัยที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับคณะราษฎร

คณะราษฎร มหาวิทยาลัย – หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ประกาศหลัก 6 ประการ และข้อ 6 คือ “ให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างทั่วถึง

ดังนั้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ขยายกว้างขวางขึ้น มีการต่อตั้งหลายมหาวิทยาลัย และยกระดับองค์กรการศึกษา โดยมรดกทางการศึกษาของคณะราษฎรมีดังนี้

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่สองของประเทศไทยรองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งโดยนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เพื่อเป็นตลาดวิชา เพื่อการศึกษาด้านกฎหมายและการเมือง สำหรับประชาชนทั่วไป

4 คณะแรกในครั้งก่อตั้ง คือ นิติศาสตร ์ รัฐศาสตร์ บัญชี และเศรษฐศาสตร์

แรกเริ่มเดิมที มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชื่อ “มหาวิทยาลัยวิชาธ รรมศาสตร์และการเมือง” (อังกฤษ: The University of Moral and Political Sciences; อักษรย่อ: ม.ธ.ก. – UMPS) ก่อนคำว่าการเมืองจะถูกตัดออกไป ปีพ.ศ. 2490

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ เดิมเป็นโรงเรียนช่างไหมในปี พ.ศ. 2447 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนการเพาะปลูก หลังจากนั้นรวมเข้ากับโรงเรียนแผนที่เป็นโรงเรียนกระทรวงเกษตราธิการ มีผลให้วิทยาการทางการเกษตรพัฒนาและก้าวหน้า

พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้มีดำริให้พระยาฤทธิอัคเนย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ จัดตั้ง สถานีเกษตรกลาง ขึ้นในท้องที่ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) ดังนั้น จึงได้ย้ายวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งอยู่ที่อำเภอบางเขนในปี พ.ศ. 2482

ในปี พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกฐานะวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาปนาขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ

มหาวิทยาลัยศิลปากร

มหาวิทยาลัยศิลปากร (อังกฤษ: Silpakorn University; อักษรย่อ: มศก. – SU[1]) เป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย และเป็น มหาวิทยาลัยแห่งที่ห้าของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านศิลปะและการออกแบบ ปัจจุบันเปิดสอนครอบคลุมทุกสาขาวิชา ทั้งกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตามมาตรฐานของมหาวิทยาลัยสากลอย่างสมบูรณ์

มหาวิทยาลัยศิลปากร ถือกำเนิดจาก “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม สังกัด กรมศิลปากร” ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนเป็น “โรงเรียนศิลปากร”

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 สมัยรัฐบาลของจอมพลป. พิบูลสงคราม ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น ได้พัฒนาหลักสูตรจนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร”

มหาวิทยาลัยมหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดล มีที่มาจากการเป็นโรงเรียนแพทย์ ณ โรงพยาบาลศิริราช ชื่อว่า โรงเรียนแพทยากร ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2432 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ในรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้มีการแยกคณะวิชาด้านแพทยศาสตร์ อันประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล แผนกอิสระทันตแพทยศาสตร์ แผนกอิสระเภสัชศาสตร์ และแผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์มาจัดตั้งเป็น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

ต่อมา แผนกอิสระทันตแพทยศาสตร์ และแผนกอิสระเภสัชศาสตร์ ได้ถูกโอนกลับไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 121 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ส่วนแผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์ ถูกโอนไปสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “มหิดล” อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ใช้แทนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button