การเงินเศรษฐกิจ

คลัง เสนอเก็บภาษี VAT ธุรกิจรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้าน ดัดหลังรายย่อย ยื่นรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง

กระทรวงการคลัง เสนอไอเดีย ขยายฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ลงลึกถึงกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี หวังจัดระเบียบธุรกิจนอกระบบ มักรายงานรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง พร้อมตั้งเป้าเพิ่มรายได้เข้าคลังปีละไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท

มีรายงานว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหน้าใหม่จำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำธุรกิจส่วนตัว หลีกเลี่ยงการเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง เลือกแสดงรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี เพื่อไม่ต้องเสีย VAT และยังได้สิทธิลดหย่อนแบบเหมาจ่ายตามที่กฎหมายกำหนด

“ที่ผ่านมาคนจำนวนมากอาศัยช่องว่างกฎหมาย ไม่เข้าสู่ระบบ VAT ทั้งที่รายได้จริงมากกว่าที่แจ้ง ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมาก ทั้งยังไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบ” นายพิชัยกล่าว

ภายใต้แนวทางใหม่ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี เข้าสู่ระบบ VAT แบบพิเศษ โดยเก็บในอัตราต่ำ เช่น 1% ของรายได้ต่อปี ซึ่งคล้ายกับระบบภาษีรายย่อยในหลายประเทศยุโรป

หากแผนดังกล่าวเดินหน้า คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้เข้ารัฐราว 200,000 ล้านบาทต่อปี

คลัง จ่อ เก็บภาษี vat ธุรกิจรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้าน

เก็บภาษีแบบใหม่ หักค่าใช้จ่ายเหลือนิดเดียว

ตัวอย่างเช่น ผู้มีรายได้ 1.5 ล้านบาทต่อปี หากหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่าย 60% จะเหลือฐานภาษีเพียง 600,000 บาท ซึ่งเสียภาษีรายได้เพียงหลักหมื่นเท่านั้น ต่างจากการเก็บ VAT ในอัตราคงที่ซึ่งจะได้รายได้จากภาษีทันทีราว 15,000 บาท

ทั้งนี้ การปรับระบบภาษีรายย่อยใหม่นี้ยังสอดรับกับยุทธศาสตร์ระยะยาวของรัฐบาล ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเพื่อลดภาระงบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ระดับ 4.4% ของ GDP โดยตั้งเป้าลดเหลือ 3.5% ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

นายพิชัยย้ำว่า “เราลดรายจ่ายรัฐไม่ได้มาก เพราะค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการ มีเกือบ 3 ล้านคน ลดไม่ได้ง่าย ๆ ดังนั้นช่องทางเดียวที่จะเสริมฐานะการเงินของรัฐได้อย่างยั่งยืนคือ การจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุมมากขึ้น”

แม้แนวทางดังกล่าวจะส่งผลดีในภาพรวม แต่ภาคธุรกิจขนาดเล็กโดยเฉพาะ SME รายย่อย อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการเสีย VAT แม้อัตราจะต่ำเพียง 1% ก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่มีระบบบัญชีเป็นของตนเอง อาจต้องลงทุนเพิ่มในด้านการจัดทำบัญชี การจ้างนักบัญชี หรือระบบจัดเก็บเอกสารให้เป็นระบบระเบียบ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีความเสี่ยงจากการถูกตรวจสอบย้อนหลัง ซึ่งอาจทำให้บางรายรู้สึกว่าการเข้าสู่ระบบภาษีใหม่เป็นภาระมากเกินไป จนเลือกหยุดทำธุรกิจไปเลยก็เป็นได้

“แม้เป้าหมายคือความเป็นธรรมและเพิ่มรายได้รัฐ แต่ต้องไม่ลืมว่า รายย่อยจำนวนมากยังไม่มีความพร้อมในระบบบัญชี หากรัฐเดินหน้าแนวทางนี้ ต้องควบคู่ไปกับการส่งเสริมความรู้ การให้คำปรึกษา และมาตรการบรรเทาภาระแก่ผู้เริ่มต้นธุรกิจด้วย” แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ประกอบการ SME กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาผลกระทบ ก่อนจะสรุปแนวทางและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในลำดับต่อไป.

ยื่นเสียภาษี vat รายได้ต่ำ

ปัจจุบันไทยเก็บภาษี VAT จากผู้ประกอบการายใหญ่

ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากการขายสินค้าและบริการทั่วไป จากผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร

อย่างไรก็ตาม ภาระภาษีนี้ ผู้ประกอบการได้ผลักมาให้เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อสินค้าเพื่อจ่ายซื้อของ

ผู้ประกอบการบางรายอาจได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย เช่น ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร สัตว์ ปุ๋ย ยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน

หน้าที่ของผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หลังจากจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ต้องจัดทำใบกำกับภาษีทุกครั้งเมื่อขายสินค้าหรือให้บริการ จัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขาย และรายงานสินค้าคงเหลือและวัตถุดิบ นำยอดภาษีขายมาหักด้วยภาษีซื้อ และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยแบบ ภ.พ.30 ในทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ทั้งนี้ พบว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยอยู่ที่ 7% ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน เช่น กัมพูชา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มีอัตราอยู่ที่ 10% หรือมากกว่า

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx