อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

แมงดาถ้วย VS แมงดาจาน ต่างกันยังไง แมงดาพันธุ์ไหนกินได้ (อร่อยด้วย!)

จากกรณีชาวบ้านจังหวัดตราดเสียชีวิตเนื่องจากรับประทานไข่แมงดาทะเล โดยภายหลังพบว่าเป็นไข่ของแมงดาถ้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีกระแสการรับประทานไข่แมงดาถ้วยมาก่อนแล้ว กระทั่งนักวิชาการต้องออกมาเตือนว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตเนื่องจากแมงดาถ้วยนั้นมีพิษร้ายแรง

วันนี้เดอะไทยเกอร์ไลฟ์สไตล์จะขอพาทุกคนมาทำความรู้จักแมงดาทะเล ต้นกำเนิดเมนูยำไข่แมงดาสุดแซ่บของโปรดใครหลาย ๆ คน พร้อมร่วมกันหาคำตอบและข้อสรุปว่าแมงดาทะเลพันธุ์ไหนกินได้ และหากได้รับพิษจากแมงดาต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร ไปติดตามอ่านสาระข้อมูลพร้อม ๆ กันเลย

รู้จักสายพันธุ์แมงดาทะเล 2 ชนิด แบบไหนที่กินได้?

แมงดาถ้วย VS แมงดาจาน

จากข้อมูลของกรมประมงพบว่า แมงดาทะเลที่พบได้ในน่านน้ำไทยนั้นมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ แมงดาจาน และ แมงดาถ้วย โดยแมงดาทั้งสองสายพันธุ์นั้นมีความแตกต่างกันดังนี้

แมงดาจาน (กินได้)

แมงดาจาน หรือ แมงดาทะเลหางเหลี่ยม เป็นแมงดาชนิดไม่มีพิษ สามารถรับประทานได้ ลักษณะลำตัวมีขนาดใหญ่กว่าแมงดาถ้วย พื้นผิวด้านบนเรียบ มีสีน้ำตาลอมเขียว มีหางเหลี่ยม มีสันและหนามเรียงกันเป็นแถวคล้ายฟันเลื่อย พบอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย พบได้ตามพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ตลอดไปจนถึงชุมพร ส่วนฝั่งทะเลอันดามันจะพบได้ตั้งแต่จังหวัดสตูลจนถึงระนอง

แมงดาจาน
ภาพจาก : Facebook ก้าวเกษตร

แมงดาถ้วย (กินไม่ได้)

แมงดาถ้วย หรือ แมงดาทะเลหางกลม (แมงดาไฟ) มีอีกชื่อหนึ่งว่า เหรา (เห-รา) เป็นแมงดาชนิดมีพิษไม่สามารถรับประทานได้ ลักษณะลำตัวโค้งกลม มีหางกลม ผิวด้านบนมีขนสั้น สีน้ำตาลอมแดง ต่อจากส่วนท้องมีหางค่อนข้างกลมไม่มีสันและไม่มีหนาม พบอาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามคลองในป่าชายเลน พบได้ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลเช่นเดียวกับแมงดาจาน คือทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

แมงดาถ้วย
ภาพจาก : Facebook ก้าวเกษตร

พิษในแมงดาถ้วยแรงถึงขั้นเสียชีวิต

สารพิษที่พบอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดาถ้วย คือ สารเทโทรโดท็อกซิน (tetrodotoxin) และ ซาซิท็อกซิน (saxitoxin) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกันกับที่พบในปลาปักเป้า เป็นสารที่ส่งผลต่อระบบควบคุมการหายใจถึงขั้นเสียชีวิต และที่สำคัญสารพิษทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นสารที่ทนต่อความร้อนได้ดี การปรุงอาหารด้วยความร้อนวิธีต่าง ๆ เช่น ต้ม ทอด หรืออบเป็นเวลานานมากกว่าชั่วโมงไม่สามารถทำลายสารพิษชนิดนี้ได้ โดยพิษในแมงดาถ้วยเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ

1. แมงดากินแพลงก์ตอนที่มีพิษ หรือกินสัตว์ทะเลอื่นๆที่กินแพลงก์ตอนพิษเข้าไปทำให้สารพิษไปสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดา

2. เกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ที่สร้างพิษขึ้นมาได้เอง หรือสาเหตุประกอบกันทั้งสอง

แมงดาถ้วย แมงดาจาน

อาการจากพิษของแมงดาถ้วย

สำหรับผู้ได้รับพิษจากแมงดาทะเล อาการมักจะแสดงภายหลังรับประทานประมาณ 10-45 นาที หรืออาจช้าไปจนถึง 3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับแหล่งที่อยู่อาศัยของแมงดา ฤดูกาล จำนวนที่รับประทาน หรือปริมาณของสารพิษที่ได้รับ เช่น รับประทานไข่แมงดาถ้วย อาการพิษจะเกิดรุนแรงกว่ารับประทานเฉพาะเนื้อ

อาการมักเริ่มจากมึนงง รู้สึกชาบริเวณลิ้น ปาก ปลายมือ ปลายเท้าและมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจาก มือ แขน ขา ตามลำดับ รวมทั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางราย อาจมีน้ำลายฟูมปาก เหงื่อออกมาก พูดลำบาก ตามองเห็นภาพไม่ชัด

ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมไม่ทำงาน ระบบหายใจล้มเหลว หมดสติ และสมองขาดออกซิเจน หากช่วยไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6-24 ชั่วโมง

พิษแมงดาทะเล

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อรับพิษจากแมงดาถ้วย

สำหรับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากได้รับพิษจากแมงดาถ้วย ให้ผู้ปฐมพยาบาลทำให้ผู้ป่วยหายใจคล่องที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หากผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการผายปอดจนกว่าจะถึงโรงพยาบาล ห้ามให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารน้ำหรือยา เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการสำลักได้

แมงดาถ้วย แมงดาจาน

สรุปจากข้อมูลของกรมประมง แมงดาทะเลพันธุ์ที่กินไม่ได้คือ “แมงดาถ้วย” เนื่องจากมีพิษร้ายแรงต่อระบบหายใจ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นก่อนจะรับประทานแมงดาทะเลก็ควรแยกแยะชนิดแมงดาให้ดีเสียก่อน หรือหากใครไม่แน่ใจก็หลีกเลี่ยงการรับประทานแมงดาทะเลไปเลยจึงจะดีที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก : 1 2 3

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button