ไลฟ์สไตล์

รู้จัก “ชาวกูย” เชื้อสายบรรพบุรุษ “บัวขาว บัญชาเมฆ”

พาไปรู้จัก ‘ชาวกูย’ เชื้อสายบรรพบุรุษนักมวยชื่อดัง ‘บัวขาว บัญชาเมฆ’ เปิดที่มาชาวกูยเกี่ยวข้องกับเขมรและไทยอย่างไร อพยพมาตั้งแต่เมื่อไหร่ รวมมาให้ที่นี่แล้ว

สืบเนื่องจากประเด็นร้อนที่ ‘บัวขาว บัญชาเมฆ’ นักมวยไทย ถูกเพื่อนบ้านประเทศใกล้เคียงอย่าง ‘กัมพูชา’ เคลมว่าเป็นนักมวยชาวเขมร จนทำให้ ‘บัวขาว’ ถึงกับต้องรีบออกมาอธิบายว่าตนมีเชื้อสาย ‘ชาวกูย’ ที่อพยพมาในประเทศไทยเมื่อหลายร้อยปีก่อน วันนี้เราเลยไม่รอช้า พาทุกท่านไปศึกษาเรื่องราวของชาวกูย ที่ในปัจจุบันได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย กลายเป็นวัฒนธรรมร่วมที่สวยงาม

ย้อนประวัติ ‘ชาวกูย’ เขมรป่าดง เผ่าพันธุ่เพื่อนบ้านในอดีต

ชาวกูย เรียกชาติพันธุ์ของตัวเองว่า ‘กูย’ และ ‘กวย’ ที่แปลว่าคน แต่เป็นที่รู้จักของชาวไทยและประเทศใกล้เคียงในอีกหลายชื่อ อาทิ ส่วย, ไทย-เขมร, ข่า, ส่วยลาว, เขมรป่าดง, ไทยกวย

หากอ้างอิงจากข้อมูลของบัวขาว ผู้เป็นเชื้อสายโดยตรงของชาวกูย ได้มีการระบุว่าชาวกูยเดิมทีมีถิ่นที่อยู่อาศัยบริเวณ เมืองกำปงธม ประเทศกัมพูชา มีสถานะเป็นรัฐอิสระ และเคยมีโอกาสส่งทูตมาไทยในสมัยอยุธยา เพื่อทำการค้าขาย ก่อนจะโดนทางการเขมรปราบปรามและรวมอาณาจักรเข้าไว้ด้วยกัน

หลังการปราบปรามชาวกูยได้พากันอพยพไปตามแนวชายแดน เพื่อหาที่พักพิงและถิ่นเพาะปลูก โดยกระจายไปในท้องถิ่นทางใต้ของลาว รวมถึงบริเวณภาคอีสานของไทย ใกล้แหล่งแม่น้ำโขง ทั้งยังมีการคัดเลือกหัวหน้ามาปกครองกลุ่มชาติพันธุ์ตัวเองอีกด้วย

ชาวกูย บัวขาว

ชาวกูย อพยพมาไทย บรรพบุรุษ ‘บัวขาว บัญชาเมฆ’

ในปัจจุบันชาวกูยยังคงสืบทอดเชื้อสายอยู่ในประเทศไทย ว่ากันว่าจากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2533 ประเทศไทยยังมีผู้สืบเชื้อสายกูยอยู่ทั้งสิ้นราว 273,570 คน หนึ่งในนั้นคือนักมวยชื่อดัง บัวขาว ป.ประมุข หรือ ร้อยโท สมบัติ บัญชาเมฆ

ทั้งนี้ได้มีข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ชาวกูยในไทยได้กระจายตัวอาศัยอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคอีสาน อาทิ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ และสุพรรณบุรี

นอกจากนี้แล้ว ยังมีการบอกต่อกันว่าชาวกูย นิยมทำอาชีพเลี้ยงช้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่สืบทอดต่อมาจากบรรพบุรุษดั้งเดิม โดยจะเริ่มด้วยการออกไปจับช้างจากกลางป่าด้วยวิธีคล้องช้างหรือ โพนช้าง ซึ่งจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญอย่างหมอช้างเป็นคนทำ โดยบ่วงที่ใช้คือบ่วงวิเศษชื่อ “เชือกปะกำ” ทำจากหนังควาย และเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อว่ามีดวงวิญญาณสถิตอยู่ภายใน

บัวขาว ชายกูย
ภาพจาก Banchamek Gym (Buakaw Banchamek, บัวขาว บัญชาเมฆ)

วัฒนธรรมเด่นชาวกูย และชีวิตในปัจจุบัน

แม้ชาวกูยจะอพยพเข้ามาในไทยตั้งแต่ช่วงปลายอยุธยา 2245 – 2325 แต่วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวกูยก็ยังคงสืบสานต่อกันเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการสร้างบ้านเรือนแบบใต้ถุนสูง การทำอาชีพทอผ้า ทำกระด้งและไหม ตลอดจนการหาเลี้ยงชีพด้วยวิถีการสร้างของจากหวายและไม้ไผ่

ส่วนในเรื่องของอาหารการกิน ชาวกูยจะนิยมทานข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก สลับกับข้าวเหนียวในบางมื้อ โดยมีอาหารอื่น ๆ อาทิ พริกตำ แกงกบ อาหาร อื่นๆ ได้แก่ เขียด กิ้งก่า เอามาสับ ย่างและตำพริก มดแดงเอามาคั่วใส่ ่พริก มะนาว น้ำปลา กะปิ เกลือ เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วชาวกูยยังมีความเชื่อในเรื่องของผีและศาสนาพุทธ ทำให้เราสามารถพบเห็นวัดและศาลผีต่าง ๆ ในบริเวณชุมชนที่ชาวกูยอาศัยอยู่ โดยจะมีช่วงที่ชาวบ้านออกมาจัดพิธีบูชาบรรพบุรุษด้วยการ ไหว้ถวายเหล้า หมากพลู ข้าวสุก เพื่อขอให้ผีคุ้มครอง

ชาวกูย บัวขาว

ทางด้านเครื่องแต่งกาย ชาวกูยเองก็มีเอกลักษณ์ไม่แพ้ใคร โดยจะใส่ผ้าถุง-เสื้อคอกระเช้า ประดับตกแต่งเรือนร่างด้วยสร้อยคอลูกปัด เงิน ตลอดจนนิยมใส่ดอกไม้หอมไว้ที่ติ่งหู

งานนี้ใครที่เป็นแฟนคลับของบัวขาว บัญชาเมฆ ก็คลายข้อสงสัยได้แล้วว่า บัวขาวเป็นคนไทยหรือคนเขมร เพราะนักมวยหนุ่มบัวขาว ได้ออกมาคอนเฟิร์มด้วยตนเองแล้วว่า บัวขาวเป็นคนไทยเชื้อสายชาวกูย ไม่ใช่ชาวเขมรอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจผิดแต่อย่างใด.

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button