ชวนชม พระราชินีสุทิดา ฉลองพระองค์ “ชุดไทยจักรี” งดงามสมพระเกียรติ
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ ‘ชุดไทยจักรี’ สง่างามสมพระเกียรติ ทรงรับ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งเครือรัฐออสเตรเลีย และภริยา รวมทั้งพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 19.22 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ทรงรับ พลเอก เดวิด เฮอร์ลีย์ (His Excellency the Honourable General David Hurley AC DSC) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งเครือรัฐออสเตรเลีย นางลินดา เฮอร์ลีย์ (Her Excellency Mrs. Linda Hurley) ภริยา และพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 13 -17 กุมภาพันธ์ 2567
เปิดพระฉายาลักษณ์ ฉลองพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ครั้งทรงรับ และพระราชทานอาหารค่ำแก่ผู้สำเร็จราชการ แห่งเครือรัฐออสเตรเลีย และภริยา ในโอกาสเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567
ในการนี้พระบรมราชินี ซึ่งทรงฉลองพระองค์ ชุดไทยจักรี ผ้าไหมยกทองลายพุ่มข้าวบิณฑ์ใบเทศ ทรงพระกุณฑลจักรีประดับเพชร พระพาหุรัดประดับเพชร ทองพระกรประดับเพชร พระปั้นเหน่งประดับเพชร พระสังวาลพรรณดอกไม้ประดับเพชร และทรงเข็มกลัดพระนพหงส์คาบหยาดเพชรบนพระอังสา
โดยทางเพจ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี : We love Her Majesty Queen Suthida Fanpage ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีไว้ว่า ชุดไทยจักรี ตั้งตามชื่อพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง จะถูกใช้ในงานพิธีกลางคืน ท่อนบนเปิดไหล่หนึ่งข้าง เป็นสไบสำเร็จ โดยจะมีทั้งสไบปักหรือไม่ปักก็ได้เช่นกัน และจะเย็บติดดับท่องล่าง ซึ่งเป็นผ้านุ่งจีบ จะใช้เป็นผ้าไหมยกทองทั้งตัว หรือยกเฉพาะเชิงก็ได้
นอกจากนั้นแล้วก็ยังให้ความรู้ในเรื่องของลายปักพุ่มข้าวบิณฑ์ใบเทศที่ปรากฎอยู่บนฉลองพระองค์ไทยจักรี ในสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา ระบุว่า ผ้ายกทองลายพุ่มขาวบิณฑ์ใบเทศ ผ้าสกุลลายแบบรัชกาลที่ 3 จันทร์โสมา ซึ่งเป็นผลงานของอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย กลุ่มจัทร์โสมา
ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นความรู้ความสามารถรังสรรค์ลายไทยอันวิจิตร เป็นการแสดงความสัมพันธ์อันดีต่อพระพุทธศาสนา โดยในพุทธศาสนา ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ จะถูกนำมาใช้ในงานพุทธศิลป์ เพื่อใช้เป็นตัวแทนการตื่นรู้ของพระพุทธเจ้า การครอบครองงานประเภทนี้ยังถือเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม และฝีมือของช่างศิลป์ไทย และในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการช่วยให้ศิลปะหัตถกรรมประเภทนี้ยังคงอยู่คู่สังคมไทยต่อไปอีกด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- พระฉายาลักษณ์ พระราชินีฉลองพระองค์ชุดไทยอมรินทร์ เสด็จฯ วันปิยมหาราช
- ฉลองพระองค์ พระราชินีสุทิดา เสด็จฯ นราธิวาส จากฝีมือพสกนิกร งดงามสมพระเกียรติ
- ชมพระสิริโฉม ‘พระราชินี’ ฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมาน โดดเด่นในพิธีบรมราชาภิเษกอังกฤษ
อ้างอิงจาก : FB Royal World Thailand – รอยัล เวิลด์ ประเทศไทย, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี : We love Her Majesty Queen Suthida Fanpage