ข่าวอีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

สูดฝุ่น ‘PM 2.5’ ตายผ่อนส่ง พาสารก่อมะเร็งเข้าปอด อันตรายที่ร่างกายจับไม่ได้

ไม่อยากตายผ่อนส่งต้องดู! อันตรายจาก PM 2.5 ฝุ่นละอองมหาประลัย ก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง รู้ก่อน ป้องกันก่อน ลดโอกาสปอดพัง

นอกจากโรค Covid-19 ที่ต้องระวังปอดของคุณให้มาก ๆ แล้ว ตอนนี้ยังมีอีกสิ่งที่คุณห้ามชะล่าใจเด็ดขาด นั่นก็คือ ฝุ่น PM 2.5 นั่นเอง ฝุ่นละอองตัวฉกาจที่คุณสมบัติไม่ธรรมดา เปรียบเสมือนยมทูตร้ายที่จะคร่าชีวิตคุณไปโดยที่ไม่รู้ตัว มาทำความรู้จักกับ PM 2.5 รู้จักอันตรายของมันและโรคที่เกิดขึ้นได้ เพื่อหาทางป้องกันสุขภาพของคุณก่อนจะสาย

Advertisements

ฝุ่นร้าย PM 2.5 ฆาตกรที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์

PM 2.5 เป็นชื่อของฝุ่นที่มีขนาด 2.5 ไมครอน ชื่อเต็มของมันคือ Particulate Matter with diameter of less than 2.5 micron สิ่งที่ทำให้ฝุ่นละอองชนิดนี้น่ากลัวคือคุณสมบัติความจิ๋วของมัน เพราะปกติแล้วร่างกายมนุษย์จะสามารถดักจับฝุ่นละอองที่มีขนาด 4 ไมครอนได้สบาย ๆ แต่เจ้า PM 2.5 มีขนาดเล็กเกินกว่าที่เส้นขนมนุษย์จะสามารถดักกรองไว้ได้

PM2.5 โรคที่เกิดกับร่างกาย

ลองนึกภาพว่าหากฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเคลือบไว้ด้วยสารโลหะหนัก รวมถึงสารก่อมะเร็งต่าง ๆ พุ่งตรงเข้าสู่ปอด โดยที่ร่างกายของเราเห็นแต่ไม่สามารถห้ามไว้ได้ สารอันตรายทั้งหลายจะค่อย ๆ เข้าไปสะสมในร่างกาย ไม่ต่างอะไรกับการตายผ่อนส่ง เพราะคุณจะไม่เสียชีวิตในทันที แต่เมื่อรู้ตัวอีกทีโรคร้ายก็จะรุมเร้าคุณแล้ว

น้ำมือมนุษย์ ส่งต่อให้ธรรมชาติ สาเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5

Advertisements

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ล้วนเป็นสาเหตุเดียวกันกับสิ่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นไอเสียจากท่อรถยนต์ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ประกอบกับสภาพเมืองรถติดอันดับต้น ๆ ของเอเชียอย่างกรุงเทพมหานคร แน่นอนว่า PM 2.5 จะถูกผลิตออกมาวิ่งเต้นระบำเข้าสู่ปอดของคุณอย่างสนุกสนานเลยทีเดียว

รวมถึงควันจากโรงงานอุตสาหกรรม และการเผาไหม้ของสิ่งต่าง ๆ เช่น กระดาษไหว้เจ้าช่วงตรุษจีน การเผาขยะ การเผาฟางหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็ร่วมสร้างฝุ่นตัวร้ายนี้ได้เช่นเดียวกัน

นอกจากปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์แล้ว ปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น สภาพภูมิอากาศ ก็ส่งผลต่อปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้เช่นกัน เมื่ออยู่ในภาวะอากาศปกติ สารพิษจากฝีมือมนุษย์ข้างต้นก็จะลอยไปสะสมนิ่ง ๆ ในอากาศ จากนั้นลมร้อนจะช่วยพัดกลุ่มฝุ่นให้หายไป

แต่เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา อุณหภูมิในประเทศไทยค่อนข้างต่ำลง ทำให้ฝุ่นละออง PM สะสมตัวหนา เมื่อเจอความกดอากาศที่ผกผัน แทนที่อากาศร้อนจะช่วยพัดพาไปก็กลับมาเจออากาศเย็น เป็นสาเหตุให้กลุ่มฝุ่น PM 2.5 จับตัวครอบเป็นฝาชีให้กับจานอาหารที่มีชื่อว่า กรุงเทพมหานคร นั่นเอง

PM 2.5 อันตราย

โรคที่มากับ PM 2.5

โปรดหยิบยาดมมานั่งสูดไปด้วยระหว่างอ่าน เพราะโรคที่มากับฝุ่นละอองนี้ จะทำให้คุณรู้สึกว่าการใช้ชีวิตในเมืองที่มีอากาศไม่สะอาด อันตรายไม่ต่างจากคนสูบบุหรี่เลย เพราะทุกส่วนในร่างกาย ทั้งหัวใจ ทางเดินหายใจ ปอด หรือสมอง ล้วนได้รับผลกระทบจากฝุ่นนี้ทั้งสิ้น ดังนี้

  • ผิวหนังอักเสบ เกิดผื่นคัน
  • มีอาการแสบจมูก ไอ มีเสมหะ
  • โรคปอด
  • โรคหอบหืด
  • โรคภูมิแพ้
  • โรคถุงลมโป่งพอง
  • โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
  • โรคหลอดเลือดสมองตีบ
  • โรคมะเร็งปอด
  • ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

PM 2.5 อันตราย

ป้องกัน PM 2.5 คุณทำอย่างไรได้บ้าง

1. สวมหน้ากาก จริง ๆ แล้วหน้ากากอนามัยธรรมดา ไม่สามารถช่วยป้องกัน PM 2.5 ได้ แต่ย่อมดีกว่าการไม่สวมอะไรเลย โดยหน้ากากที่ช่วยป้องกันได้มากที่สุด คือ N95 และ N99 โดยควรสวมให้กระชับกับหน้ามากที่สุด และไม่ควรใช้หน้ากากซ้ำ

2. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากไม่จำเป็นไม่ควรออกไปในพื้นที่เปิดโล่ง เนื่องจากจะเป็นการสูดดมฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายโดยตรง

3. งดการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM 2.5 เช่น การเผาไหม้สิ่งต่าง ๆ การสูบบุหรี่

4. ใช้เครื่องฟอกอากาศ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน เพื่อกรองฝุ่นละออง สร้างอากาศบริสุทธิ์ให้คุณและคนในครอบครัวให้ปลอดภัยจาก PM 2.5

5. เช็กสภาพอากาศ หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง สามารถตรวจสอบสภาพอากาศได้ที่เว็บไซต์ Air4Thai, แอปพลิเคชัน IQAir AirVisual (Android), แอปพลิเคชัน IQAir AirVisual (iOS) ฯลฯ

PM 2.5 อันตราย

อันตรายจาก PM 2.5 ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แม้ว่าการป้องกันฝุ่นชนิดนี้จะทำให้คุณรู้สึกว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มโดยไม่จำเป็น แต่การเสียเงินเพื่อซื้อของป้องกันร่างกาย ย่อมดีกว่าการเสียเงินเพื่อรักษาตัวหลายเท่าแน่นอน เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว อย่าลังเลที่จะเริ่มดูแลสุขภาพตั้งแต่วันนี้กันดีกว่านะคะ.

ขอบคุณข้อมูลจาก : samitivejhospitals chula.ac.th

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button