ท่องเที่ยวอีเว้นท์

หวั่นถูกรื้อ “วัดพระใหญ่” ภูเก็ต ที่เที่ยวสายบุญ ศรัทธาบนยอดเขานาคเกิด

หวั่นถูกรื้อ “วัดพระใหญ่” ภูเก็ต ที่เที่ยวสายบุญ ศรัทธาบนยอดเขานาคเกิด หลังเหตุดินสไลด์จากเขา พบสร้างบนทางต้นน้ำ กรมป่าไม้เคยให้ยุติการสร้างเมื่อปี 2565

ท่ามกลางความสวยงามของทะเลอันดามัน บนเกาะไข่มุกแห่งอันดามันอย่างภูเก็ต มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งที่โดดเด่นเหนือผืนป่าเขียวขจี สีครามน้ำทะเล นั่นคือ “วัดพระใหญ่” หรือที่รู้จักกันในชื่อทางการว่า “วัดพระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี

ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขานาคเกิด คือพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่สีขาวบริสุทธิ์ สามารถมองเห็นได้แทบจะทุกมุมของเกาะภูเก็ต ด้วยขนาดที่ใหญ่โตมโหฬาร – หน้าตักกว้าง 25.45 เมตร และสูงถึง 45 เมตร ทำให้พระใหญ่แห่งนี้กลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่ไม่ว่าใครมาเยือนภูเก็ตก็ต้องแวะมาสักการะ

ความพิเศษของพระใหญ่แห่งนี้ไม่ได้อยู่เพียงแค่ขนาดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความวิจิตรงดงามของงานศิลป์ที่ประดับตกแต่งองค์พระ ผิวขององค์พระถูกประดับด้วยหินอ่อนหยกขาว “สุริยกันต” จากประเทศพม่า ซึ่งมีน้ำหนักรวมกว่า 135 ตัน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,500 ตารางเมตร สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและศรัทธาอันแรงกล้าของผู้สร้าง

วัดพระใหญ่ ปางมารวิชัย ตั้งอยู่บนเทือกเขานาคเกิด

จุดกำเนิดแห่งศรัทธา

การสร้างพระใหญ่บนยอดเขานาคเกิดเริ่มต้นจากแรงศรัทธาของชาวภูเก็ตที่ต้องการสร้างสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนาประจำเมือง โดยใช้เวลาก่อสร้างยาวนานเกือบทศวรรษ ด้วยงบประมาณกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งมาจากการร่วมบริจาคของประชาชน แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งความสามัคคีและศรัทธาของชาวภูเก็ต

วัดพระใหญ่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่า “พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี” พร้อมทั้งได้รับการประกาศให้เป็นพระพุทธรูปประจำเมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2550

นอกจากการมาสักการะพระใหญ่แล้ว ผู้มาเยือนยังสามารถร่วมพิธีสะเดาะเคราะห์ด้วยการแขวนกระดิ่งทองเหลือง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

ที่สำคัญ วัดพระใหญ่ยังเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของภูเก็ต ด้วยความสูงของยอดเขานาคเกิด ทำให้สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของเกาะภูเก็ตได้แบบ 360 องศา ทั้งอ่าวฉลอง หาดกะตะ และหาดกะรน ภาพของท้องทะเลสีครามตัดกับท้องฟ้าสดใส เป็นภาพที่สวยงามจนต้องบันทึกภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก

วัดพระใหญ่ สร้างโดยใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท

การเดินทางและข้อควรรู้

  • เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 08.00 – 19.30 น.
  • ไม่เสียค่าเข้าชม
  • ควรแต่งกายสุภาพ เหมาะสมกับสถานที่
  • ขับรถจากตัวเมืองภูเก็ตมุ่งหน้าไปทางใต้ ผ่านวัดฉลองประมาณ 800 เมตร จะเห็นป้ายบอกทางเลี้ยวขวาเข้าซอยยอดเสน่ห์ จากนั้นขับขึ้นเขาอีกประมาณ 6 กิโลเมตร
  • ข้อควรระวัง: เส้นทางขึ้นเขาค่อนข้างคดเคี้ยวและชัน ควรขับขี่ด้วยความระมัดระวัง

วัดพระใหญ่ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม แต่ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ เป็นสถานที่แห่งการพักผ่อนทางจิตวิญญาณ และเป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของภูเก็ต การได้มาเยือนวัดพระใหญ่จึงเป็นประสบการณ์ที่ครบรส ทั้งด้านจิตใจและสายตา ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนไข่มุกอันดามันแห่งนี้

วัดพระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี ขออนุญาตก่อสร้างไม่ถูกต้อง

ข้อถกเถียงเกี่ยวการสร้างวัดพระใหญ่ จ่อถูกรื้อ หลังเกิดโศกนาฏกรรมดินสไลด์ 13 ศพ

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 เกิดเหตุการณ์ดินโคลนสไลด์บริเวณ ซ.ปฏัก 2 ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต จุดหนึ่งของเขานาคเกิด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 13 ศพ

ต่อมา สำนักข่าวมติชน รายงานว่า นายกเทศมนตรีตำบลกะรนยืนยันว่าการก่อสร้างพระมิ่งมงคลเอกนาคคีรีเป็นการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าและมีความสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แม้เทศบาลฯ ได้แจ้งให้รื้อถอนหรือย้ายออกแล้ว แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือ จึงได้แจ้งความดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ตั้งแต่ปี 2566 และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบสวน หากพบการกระทำความผิดจะออกหมายจับต่อไป ทั้งนี้ วัดพระใหญ่สามารถอุทธรณ์ได้หากมีหลักฐาน

ด้าน ThaiPBS รายงาน อ้างอิง สมชาย นุชนานนท์เทพ ผอ.สำนักจัดการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ ระบุว่า ปี 2545 วัดพระใหญ่เคยได้รับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์เพียง 15 ไร่ ภายใต้โครงการพระสงฆ์กับกรมป่าไม้ตามมาตรา 19 จากเดิม 42 ไร่ในการเข้าช่วยฟื้นฟูรักษาป่า และต่อโครงการทุกๆ 5 ปี

แต่ต่อมาในปี 2563-2564 เริ่มพบมีการก่อสร้างพระใหญ่ โดยจังหวัดหวังให้ทำแลนด์มาร์ก ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติภูเก็ต แต่ปี 2565 กรมป่าไม้ เคยให้ยุติการก่อสร้างพระใหญ่ อาคารลานจอดรถ เพราะก่อสร้างในจุดพื้นที่ต้นน้ำ และนอกเหนือจากพื้นที่ 15 ไร่ที่เคยอนุญาตให้ใช้พื้นที่

อย่างไรก็ดี PPTVHD ได้สัมภาษณ์ นายสุพร วนิชกุล ประธานมูลนิธิพระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี ตอนนี้มีการก่อสร้างใต้ฐานะพระพุทธรูปจริง ยืนยันว่าขออนุญาตถูกต้อง ก่อนหน้านี้เป็นใบอนุญาตอายุ 5 ปี ต่ออายุทั้งหมด 4 ครั้ง รวม 20 ปี แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาขอใบอนุญาตระยะยาว 30 ปี หน่วยงานหลักในการดำเนินคือสำนักงานพระพุทธศาสนา ขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้

สาเหตุการเกิดดินสไลด์ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับก่อสร้างในวัด เพราะโครงสร้างองค์พระสามารถรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้ถึง 10 ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุโดยละเอียด

พระใหญ่มองจากมุมด้านล่าง

อ่านข่าวอื่นๆ

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button