ข่าว

สรุปความเสียหาย 18 จังหวัด แผ่นดินไหว ทิพยประกันภัย แจ้งเคลม ช่องทางนี้

อธิบดี ปภ. สรุปความเสียหาย 18 จังหวัดทั่วไทย หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ พร้อมวิธีแจ้งเคลมกรมธรรม์ สำหรับลูกค้าทิพยประกันภัย

วันนี้ (30 มี.ค.) นายภาสกร บุญญลักษณ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา จากการเลื่อนตัวกลุ่มรอยเลื่อนสะกาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จนสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยนั้น

ขณะนี้สถานการณ์อยู่ในการควบคุมและเป็นขั้นตอนของการจัดการพื้นที่ โดยแนวโน้มของการเกิดอาฟเตอร์ช็อกได้ลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับรายงานความเสียหายทั้งหมด 18 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวม 85 อำเภอ 173 ตำบล 144 หมู่บ้าน แบ่งออกเป็นบ้านเรือน 20 หลัง วัด 48 แห่ง โรงพยาบาล 76 แห่ง อาคาร 8 แห่ง โรงเรียน 23 แห่ง และสถานที่ราชการ 18 แห่ง เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครมีผู้เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บใน กทม. 8 ราย นนทบุรี 1 ราย ดังนี้

เชียงใหม่

พื้นที่ได้รับความเสียหาย 20 อำเภอ 49 ตำบล 33 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ดอยเต่า อ.พร้าว อ.หางดง อ.แม่แจ่ม อ.สันกำแพง อ.สะเมิง อ.กัลยาณิวัฒนา อ.ฮอด อ.แม่อาย อ.เชียงดาว อ.สันป่าตอง อ.แม่ริม อ.จอมทอง อ.แม่วาง อ.สันทราย อ.แม่แตง อ.อมก๋อย อ.แม่ออน และ อ.สารภี บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 225 หลัง อาคารสูง 6 แห่ง วัด เจดีย์ 31 แห่ง โรงเรียน 11 แห่ง โรงพยาบาล 15 แห่ง

เชียงราย

พื้นที่ได้รับความเสียหาย 13 อำเภอ 12 ตำบล 11 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เชียงของ อ.ป่าแดด อ.เมืองฯ อ.เวียงป่าเป้า อ.เทิง อ.แม่จัน อ.เชียงแสน อ.แม่สาย อ.ขุนตาล อ.แม่ลาว อ.ดอยหลวง อ.แม่สรวย และ อ.พาน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 57 หลัง วัด 2 แห่ง โรงพยาบาล 9 แห่ง

พะเยา

พื้นที่ได้รับความเสียหาย 7 อำเภอ 8 ตำบล ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ภูซาง อ.เชียงม่วง อ.ดอกคำใต้ อ.เชียงคำ อ.แม่ใจ และ อ.ปง บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 40 หลัง โรงเรียน 1 แห่ง โรงพยาบาล 6 แห่ง รพ.สต. 6 แห่ง สถานที่ราชการ 4 แห่ง

ลำพูน

พื้นที่ได้รับความเสียหาย 6 อำเภอ 13 ตำบล 25 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.ป่าซาง อ.ลี้ อ.เมืองฯ อ.บ้านโฮ่ง อ.เวียงหนองล่อง และ อ.แม่ทา บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 33 หลัง วัด 3 แห่ง โรงพยาบาล 4 แห่ง สถานที่ราชการ 2 แห่ง

ลำปาง

พื้นที่ได้รับความเสียหาย 9 อำเภอ 19 ตำบล 16 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.สบปราบ อ.เกาะคา อ.แม่ทะ อ.แม่พริก อ.งาว อ.ห้างฉัตร อ.วังเหนือ และ อ.เถิน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 28 หลัง วัด 4 แห่ง โรงเรียน 1 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง สถานที่ราชการ 3 แห่ง

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

แม่ฮ่องสอน

พื้นที่ได้รับความเสียหาย 4 อำเภอ 5 ตำบล ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ปาย อ.สบเมย และ อ.ขุนยวม วัด 1 แห่ง สถานที่ราชการ 1 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง

แพร่

พื้นที่ได้รับความเสียหาย 4 อำเภอ 12 ตำบล 24 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.สอง อ.หนองม่วงไข่ และ อ.สูงเม่น บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 20 หลัง โรงเรียน 2 แห่ง โรงพยาบาล 1 แห่ง สถานที่ราชการ 8 แห่ง

น่าน

พื้นที่ได้รับความเสียหาย 2 อำเภอ 2 ตำบล ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ภูเพียง วัด 2 แห่ง โรงพยาบาล 1 แห่ง

เพชรบูรณ์

พื้นที่ได้รับความเสียหาย 6 อำเภอ 19 ตำบล 18 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.วิเชียรบุรี อ.หล่มสัก อ.น้ำหนาว อ.เขาค้อ และ อ.บึงสามพัน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 2 หลัง โรงพยาบาล 18 แห่ง โรงเรียน 1 แห่ง สถานที่ราชการ 1 แห่ง

พิษณุโลก

พื้นที่ได้รับความเสียหาย 2 อำเภอ 4 ตำบล ได้แก่ อ.นครไทย อ.บางกระทุ่ม โรงพยาบาล 4 แห่:

สุโขทัย

อ.ศรีสำโรง อาคารโรงยาสูบ เสียหาย 1 หลัง

อ่างทอง

อ.วิเศษชัยชาญ โรงเรียน 4 แห่ง ได้รับความเสียหาย

พระนครศรีอยุธยา

พื้นที่ได้รับความเสียหาย 2 อำเภอ 2 ตำบล อ.ลาดบัวหลวง อ.พระนครศรีอยุธยา วัด 2 แห่ง โรงพยาบาล 1 แห่ง

ปทุมธานี

พื้นที่ได้รับความเสียหาย 1 อ. 1 ต. อ.คลองหลวง เบื้องต้นพบรอยร้าวอาคาร 3 หลัง ได้แก่ อาคารโรงอาหารเป็นชั้นเดียว อาคารสำนักงาน 2 ชั้น และอาคารเรียน 3 ชั้น

นนทบุรี

พื้นที่ได้รับความเสียหาย 3 อำเภอ 5 ตำบล อ.เมืองฯ อ.ปากเกร็ด อ.บางกรวย โรงพยาบาล 4 แห่ง ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน 1 แห่ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย

สมุทรปราการ

อ.พระประแดง วัด 1 แห่ง ได้รับความเสียหาย

สมุทรสาคร

อ.เมืองฯ โรงพยาบาล 1 แห่ง ได้รับความเสียหาย

ชัยนาท

อ.เมืองฯ วัด 1 แห่ง ได้รับความเสียหาย

ภาพจาก รัฐบาลไทย

ทั้งนี้การให้ความช่วยเหลือในทุกพื้นที่ได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรสาธารณะกุศล ภาคเอกชน และจิตอาสา และพลเรือน ได้เข้าให้การช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าให้การช่วยเหลือผู้ติดค้างภายใต้ซากอาคาร

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ระดมทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง (USAR) รวม 48 นาย พร้อมด้วยเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย กว่า 14 รายการ จากศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขต 1 ปทุมธานี เขต 2 สุพรรณบุรี เขต 3 ปราจีนบุรี และเขต 16 ชัยนาท เข้าร่วมปฏิบัติการสนับสนุนการค้นหาผู้ประสบภัย ขณะเดียวกันได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีแผ่นดินไหว) แล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดแพร่ รวมทั้งกรุงเทพมหานครที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติเต็มพื้นที่

ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้อนุมัติให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขยายวงเงินทดรองราชการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีแผ่นดินไหว) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ 76 จังหวัด ซึ่งเป็นวงเงินในอำนาจอธิบดี จำนวน 200 ล้านบาท สำหรับใช้จ่ายด้านการดำรงชีพและด้านการปฏิบัติงานฯ

“กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะฝ่ายเลขานุการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 1 -18 เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์เครื่องจักรกลสาธารณภัยและตรวจสอบความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยทั้ง 355 รายการ

ซึ่งพร้อมสนับสนุนจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบและให้เคลื่อนย้ายกำลังทันทีที่ได้รับการประสาน และให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่เพื่อที่จะให้การช่วยเหลือเป็นไปตามสิทธิที่จะได้รับอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง” นายภาสกร กล่าว

ภาพจาก sto

ขณะเดียวกัน ทิพยประกันภัย ประกาศว่า ลูกค้าของทางบริษัทที่ได้รับความเดือดร้อนจากแผ่นดินไหวดังกล่าว สามารถตรวจสอบกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครอง และช่องทางการเคลมประกันภัยได้ดังนี้

กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์

  • ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว เฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1 หรือ กรมธรรม์ประเภท 2+ / 3+ (เฉพาะกรมธรรม์ที่ขยายความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติเท่านั้น)

กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย

  • ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว

กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย

  • ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว เฉพาะกรมธรรม์ที่ซื้อความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหวเพิ่มเติมเท่านั้น

กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risk : IAR)

  • ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว

กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contract Work Insurance : CWI)

  • ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว

ช่องทางการเคลมประกันภัย

  • แจ้งผ่าน google form ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • สายด่วน 1736
  • Line OA: @dhipayainsurance
  • อีเมล : General-Claim@dhipaya.co.th

หมายเหตุ : ทีมงานจะเร่งพิจารณาข้อมูลและติดต่อกลับโดยไวที่สุด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

yo

นักเขียนข่าว บทความทั่วไปประเภทไลฟ์สไตล์ สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มศก. ติดต่อได้ที่อีเมล yo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button