ข่าวการเมือง

ตอบข้อสงสัย พรรคก้าวไกลถูกยุบ สส.ไปไหนต่อ ใครถูกตัดสิทธิ์บ้าง

วันที่ 7 สิงหาคม 2567 กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล มีพฤติกรรมเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง จากกิจกรรมหาเสียงและเสนอให้แก้ไขกฎหมาย ม.112 โดยตุลาการ 9 ท่านมีมติเป็นเอกฉันท์ 8 ต่อ 1 เสียง แบ่งเป็น 8 เสียงลงความเห็นให้มีการตัดสินยุบพรรคก้าวไกล โดยคนที่เป็นเสียงส่วนน้อยเพียงคนเดียวที่เห็นต่าง คือ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคก้าวไกลถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ในบทความนี้เราจึงรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้พรรคการเมืองถูกยุบ รวมถึงผลกระทบที่กรรมการบริหารพรรค และ สส. จะได้รับ หลังพรรคการเมืองถูกยุบมาไว้ให้แล้ว

Advertisements

ตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ระบุเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุให้ยุบพรรคการเมือง ไว้ 5 กรณี ดังนี้

1. มีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมือง

รัฐธรรมนูญระบุว่าพรรคการเมืองต้องยกเลิกหากมีเหตุตามข้อบังคับของแต่ละพรรค เช่น มีสมาชิกในพรรคเหลืออยู่ไม่ถึง 100 คน หรือที่ประชุมใหญ่ของพรรคลงคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดให้พรรคยกเลิกกิจกรรมทุกอย่าง ทั้งนี้กฎหมายไม่ได้บังคับว่าทุกพรรคการเมืองต้องกำหนดเหตุที่จะยุติกิจการของพรรคเอาไว้ ดังนั้น หากพรรคใดไม่มีข้อตกลงสำหรับการยุบพรรค จะถูกยุบพรรคได้ต่อเมื่อทำผิดเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น

2. มีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่ไม่ถึง 15 คน

กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ริเริ่มจัดตั้งพรรคการเมืองต้องมีจำนวน 15 คน ขึ้นไป หากพรรคเหลือสมาชิกไม่ถึง 15 คน จึงต้องทำการยุบพรรค เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของจำนวนสมาชิกที่น้อยลง สะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากเพียงพอ

3. ยุบพรรคการเมืองไปรวมกับพรรคการอื่น

การรวมพรรคการเมืองเข้าด้วยกัน จำแนกได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

– การรวมพรรคการเมืองเข้าด้วยกัน เพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เป็นเหตุให้พรรคการเมืองเก่าจำนวน 2 พรรคหรือมากกว่านั้นที่ตัดสินใจเข้ามาร่วมพรรคใหม่ต้องยุบพรรคไป

Advertisements

– การรวมพรรคการเมืองเข้ากับพรรคการเมืองอื่นที่เป็นหลักในการจัดตั้ง ทำให้พรรคการเมืองซึ่งมีขนาดพรรคที่เล็กกว่าต้องยุบไป โดยที่พรรคหลักยังคงมีสภาพการเป็นพรรคการเมืองอยู่

อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย

4. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง

กฎหมายได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและตัดสินสั่งยุบพรรคการเมืองได้ หากพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามข้อกำหนดต่อไปนี้

– ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ ด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

– กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

– กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

– กระทำการอย่างได้อย่างหนึ่งตามเงื่อนไข ดังนี้

1. พรรคการเมืองรับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดเข้ามาเป็นสมาชิก

2. ใช้พรรคการเมืองรับเงิน หรือผลประโยชน์อจากผู้อื่น เพื่อสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือกระทำสิ่งที่คุกคามความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมถึงทำลายทรัพยากรของประเทศ

3. ใช้พรรคการเมืองรับเงิน หรือผลประโยชน์ เพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือดำเนินกิจการในทางการเมืองจากบุคคลบางจำพวกที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจในการสั่งยุบพรรคการเมืองที่เข้าข่ายการกระทำความผิด แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถใช้ดุลยพินิจไม่ยุบพรรคการเมืองได้หากเห็นว่ามีเหตุอันควร เช่น พรรคการเมืองฝ่าฝืนข้อห้ามจริง แต่เป็นการกระทำครั้งแรก และไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ศาลก็มีสิทธิ์ที่จะไม่สั่งยุบพรรคการเมือง

ตัวอย่างบรรยากาศในศาลขณะกำลังพิจารณาคดี

5. ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย

การยุบพรรคการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่พรรคการเมืองไม่ทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในเรื่องต่อไปนี้

– ได้รับการจดแจ้งเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองแล้ว แต่ไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง

– องค์ประกอบของที่ประชุมใหญ่ในพรรคการเมืองไม่ครบ

– หาสมาชิกได้ไม่ถึง 5,000 คน ภายในระยะเวลา 180 วัน (นับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง)

– ไม่จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรค

– ไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ค้อนแกเฟิลอุปกรณ์ที่ตุลาการใช้ในศาล

ข้อห้ามสำหรับพรรคการเมืองที่ถูกยุบ

ในมาตรา 92 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุไว้ว่า “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น”

ขณะที่มาตรา 94 วรรค 2 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดํารงตําแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ และถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุดังกล่าว ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกําหนดสิบปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ”

ทั้งนี้ สส. จากพรรคการเมืองที่ถูกยุบตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญ สามารถย้ายไปอยู่พรรคการเมืองใหม่ได้ภายใน 60 วัน (นับตั้งแต่วันที่ศาลฯ มีคำสั่งให้ยุบพรรค) โดยยังมีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ดังเดิม แต่หากครบ 60 วันแล้วยังหาพรรคสังกัดใหม่ไม่ได้ จะถือว่าสิ้นสุดหน้าที่การเป็น สส. ทันที

รายชื่อกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล

ล่าสุด วันที่ 7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลแล้ว จึงถือเป็นการถูกยุบพรรคการเมืองตามกฎหมายกรณีล่าสุดของประเทศไทย ในข้อหาล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข และมีผลให้กรรมการบริหารพรรค ถูกตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง และห้ามไม่มีสิทธิ์จดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่เป็นระยะเวลา 10 ปี

กรรมการบริหารชุดแรก ดำรงตำแหน่งในปี 2563 – 2566

  1. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค
  2. ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค
  3. ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
  4. ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
  5. ปฏิพัทธ์ สันติภาดา (ลาออก) กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคเหนือ
  6. สมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคใต้
  7. อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคกลาง
  8. อภิชาติ ศิริสุนทร กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  9. เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคตะวันออก
  10. สุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนปีกแรงงาน

กรรการบริหารชุดที่ 2 ดำรงตำแหน่งในปี 2566 – 2567

1. ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค
2. อภิชาติ ศิริสุนทร เลขาธิการพรรค
3. ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
4. ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
5. สมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคใต้
6. อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคเหนือ
7. เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคตะวันออก
8. สุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนปีกแรงงาน

อ้างอิง : สถาบันพระปกเกล้า , iLAW

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Woralada

นักเขียนเรื่องไลฟ์สไตล์ ข่าวบันเทิง และประเด็นการเมือง เวลาว่างชอบดูซีรีส์ อ่านวรรณกรรม และไปคอนเสิร์ตเพื่อต่อพลังงานชีวิต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button