อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

13 มกราคม วันการบินแห่งชาติ จุดเริ่มนกเหล็ก แห่งน่านฟ้าไทย

วันที่ 13 มกราคม 2566 วันการบินแห่งชาติ ร่วมตระหนัก จากเพียงความหวังในการบิน สู่เครื่องบินนกเหล็ก ที่ต้องมีไว้เพื่อปกป้องน่านฟ้าไทย

เชื่อว่าในวันเด็ก 2566 นี้ จะเป็นปีทีกลับมาคึกคักสุด ๆ พ่อแม่ต่างก้จะพาคุณหนู ๆ ทั้งหลายไปตามสถานที่จัดงานวันเด็ก นั่งรถถัง ดูเครื่องบินรบ รวมถึงอาจจะมีแผนพาคุณลุกนั่งเครื่องบินไปเที่ยวต่างจังหวัดกัน แต่รู้หรือไม่ก่อนวันเด็ก 14 ม.ค.ปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2566 เป็น วันการบินแห่งชาติ ด้วยนะ

Advertisements

13 มกราคม วันการบินแห่งชาติ

ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.1903 กับการบินครั้งแรกของ พี่น้องตระกูลไรต์ (Wright brothers) ได้รับการยอมรับโดย Fédération Aéronautique Internationale (FAI) ว่าเป็น “การบินขับเคลื่อนด้วยกำลังด้วยยานที่หนักกว่าอากาศอย่างต่อเนื่องและควบคุมได้เป็นครั้งแรก”

ผ่านไป 8 ปีใน ค.ศ.1911 หรือ พ.ศ. 2454 จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสพระองค์ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องบินที่ต้องมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ

13 มกราคม วันการบินแห่งชาติ
13 มกราคม วันการบินแห่งชาติ

ในเวลานั้น ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบ จึงมีคำสั่งให้นายทหาร 3 นาย คือ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ, นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส

ในระหว่างที่นายทหารทั้ง 3 นายเดินทางไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น ทางการก็ได้สั่งซื้อเครื่องบินเป็นครั้งแรกจากฝรั่งเศส มาจำนวน 7 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินแบบเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องบินแบบนิเออปอร์ตปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง เข้าไว้ประจำการ

เครื่องบินแบบเบรเกต์

Advertisements

นอกจากนี้ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ยังได้อุทิศทรัพย์ส่วนตัว ซื้อเครื่องบินแบบเบรเกต์ให้ราชการไว้ใช้งานอีก 1 ลำ ด้วยเห็นว่าเครื่องบินสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางราชการได้ ทำให้ในยุคแรก ประเทศไทยมีเครื่องบินประจำการ จำนวน 8 ลำ

หลังสำเร็จการศึกษานายทหาร นักบินทั้ง 3 นาย ได้กลับมาทดลองบินครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2456 ซึ่งนายทหารนักบินทั้ง 3 นาย สามารถขับเครื่องบินและร่อนลงจอดได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางเสียงชื่นชมของผู้ชมจำนวนมากที่มารอชม เนื่องจากในสมัยนั้น การขึ้นบินบนท้องฟ้าถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตราย ผู้ที่สามารถขับเครื่องบินได้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ และถือเป็นเกียรติประวัติที่ควรได้รับการสรรเสริญ

การบินไทย

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาแผนกการบินขึ้นในกระทรวงกลาโหม เป็นผลให้กิจการการบินไทย ได้รับการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ

ในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทอดพระเนตรการบิน โดยมีนายทหารนักบินขึ้นแสดงการบินถวายและโปรยกระดาษถวายพระพรชัยมงคล ในการนี้ก็มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ และประชาชนมาร่วมเฝ้าเสด็จและชมการแสดงการบินในครั้งนี้

เครื่องบิน Breguet 14

ในอดีตกิจการบินของไทยได้เจริญก้าวหน้าถึงขั้นสามารถสร้างอากาศยานใช้ในราชการได้ และหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การบินของไทยก็ได้ช่วยสร้างประโยชน์มากมาย อาทิ ป้องกันประเทศ (สงครามอินโดจีน ฯลฯ) ช่วยเหลือผู้ป่วย, ช่วยเหลือประชาชนเมื่อประสบภัยพิบัติ (โรคระบาด อุทกภัย ฯลฯ) และช่วยทำให้เศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม การเดินทาง ขนส่งไปรษณีย์ และสินค้าได้รวดเร็วจนพัฒนามาเป็นสายการบินระหว่างประเทศ

นับได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ริเริ่มและมีสายพระเนตรยาวไกลต่อกิจการการบิน กระทั่งได้รับการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย กองบิน 41
ชมรมอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย กองบิน 41

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี ขอให้กำหนดวันการบินแห่งชาติขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อกิจการการบินของชาติ

กระทั่งในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 13 มกราคม ของทุกปีเป็น วันการบินแห่งชาติ โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา

อ้างอิง – กองทัพอากาศไทย

 

baesittichot

นักเขียนสายฮาอารมณ์ดี ไลฟ์สไตล์ เรื่องน่ารู้ทั่วไป ตามติดเทรนด์ฮิตที่ห้ามพลาด อัปเดตข่าวเศรษฐกิจ การเงิน ประสบการณ์งานเขียนมากกว่า 1 ปี ชอบเม้าท์มอย ส่งต่อเรื่องราวน่าสนใจผ่านตัวอักษร ผลงานทุกชิ้นจึงเป็นเหมือน 'เพื่อน' ที่อยากเล่าสิ่ง ๆ ต่างให้คุณได้รู้เป็นคนแรกเสมอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button