ไลฟ์สไตล์

ประวัติน่ารู้ ‘วันไหว้พระจันทร์’ 2566 ตรงกับวันไหน พร้อมวิธีไหว้ละเอียดยิบ

เปิดประวัติน่ารู้ “วันไหว้พระจันทร์” และที่มา “ขนมไหว้พระจันทร์” จากจดหมายลับแห่งสงครามสู่ขนมประจำเทศกาล พร้อมบอกวิธีไหว้อย่างไรให้เสริมสิริมงคล

รู้ก่อน ปังก่อน วันนี้ทีมงานเดอะไทยเกอร์ พาไปล้วงประวัติ “วันไหว้พระจันทร์” หรือ “เทศกาลไหว้พระจันทร์” วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566 ชาวจีนเชื่อว่าวันไหว้พระจันทร์เป็นวันเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวพืชผล

เทศกาลวันไหว้พระจันทร์ มักจัดในช่วงเวลากลางคืน โดยแต่ละกิจกรรมล้วนสื่อความหมายที่เกี่ยวข้องกับพระจันทร์ เช่น การไหว้ดวงจันทร์ตอนกลางคืน การกินขนมไหว้พระจันทร์ ออกมาดูพระจันทร์เต็มดวงยามค่ำคืน รวมถึงตกแต่งสถานที่จัดงานด้วยโคมไฟสีแดงคล้ายดวงจันทร์

อย่างไรก็ตาม สำหรับที่ใครอยากได้สาระดี ๆ เตรียมตัวสำหรับงานไหว้พระจันทร์ในเดือนกันยายนที่กำลังจะมาถึง สามารถอ่านบทความนี้ได้เลย

วันไหว้พระจันทร์ ประวัติ เทศกาล (6)

ประวัติ “วันไหว้พระจันทร์” 2566

การไหว้พระจันทร์เป็นหนึ่งในพระราชพิธีประจำปีสำคัญตามคติศาสนาขงจื๊อ ลัทธิเต๋า และศาสนาพื้นบ้านจีน สมเด็จพระจักรพรรดิทรงประกอบพิธีบวงสรวงเป็นประจำทุกปี ควบคู่กับการบวงสรวงฟ้า (ทีกง) ดิน (พระแม่ธรณี) พระอาทิตย์ และเทพเจ้าแห่งการเกษตร เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน

ในสมัยรัชกาลหมิงซื่อจงแห่งราชวงศ์หมิงโปรดให้สร้างเย่วถาน (วิหารแห่งพระจันทร์) เพื่อใช้ในการพระราชพิธีพิธีไหว้พระจันทร์โดยเฉพาะ คู่กับวิหารแห่งพระอาทิตย์ และวิหารแห่งโลก จากนั้นโปรดให้ต่อเติมหอสักการะแผ่นดินและฟ้า (เทียนตี้ถัน) และเปลี่ยนชื่อเป็น “หอสักการะฟ้า” เพื่อใช้ในพระราชพิธีไหว้พระจันทร์

ต่อมาขงจื๊อเล็งเห็นถึงความสำคัญของประเพณีที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนานจนส่งผลต่อจิตใจของชาวจีน จึงรวบรวมแนวปฏิบัติเหล่านี้ไว้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาขงจื๊อ ทำให้ธรรมเนียมประเพณีการไหว้พระจันทร์แบบราชสำนักยังคงสืบต่อมาในปัจจุบัน

กิจกรรมวันไหว้พระจันทร์

กิจกรรมวันไหว้พระจันทร์มักจัดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน เพื่อเฉลิมฉลองด้วยสีสันจากแสงไฟและความสว่างไสวจากดวงจันทร์ ในบางประเทศอย่าง สิงคโปร์ หรือ เวียดนามจะจัดเป็นประเพณีใหญ่ มีการเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟสีแดง ไหว้บูชาขอพรดวงจันทร์ ชมจันทร์ ทานขนมไหว้พระจันทร์ ชมดอกหอมหมื่นลี้ ดื่มเหล้าหอมหมื่นลี้ หรือบางที่อาจมีการเชิดมังกรกันอย่างสนุกสานรื่นเริงตามธรรมเนียมปฏิบัติในแต่ละพื้นที่

วันไหว้พระจันทร์ ประวัติ เทศกาล

ขั้นตอนการทำพิธีไหว้พระจันทร์

1.เตรียมสถานที่ด้วยการผูกต้นอ้อยให้ยอดโค้งเข้าหากัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แล้วประดับด้วยโคมไฟสีแดงบริเวณกลางแจ้ง ทำให้เสร็จก่อนพระอาทิตย์ตกดิน

2. จัดโต๊ะวางของไหว้ให้ครบถ้วน ได้แก่

    • ขนมไหว้พระจันทร์
    • ดอกไม้ เน้นสีสันสดใส
    • ธูป 3-5 ดอก เทียน 1 คู่
    • ผลไม้จำนวนเลขคี่ เน้นสีเหลือง
    • น้ำสะอาด (สำคัญ) เป็นตัวแทนสื่อถึงพระจันทร์
    • เครื่องสำอาง น้ำหอม

3. รอพระจันทร์ขึ้น หรือ พระจันทร์เต็มดวงค่อยเริ่มพิธีไหว้

4. จุดธูป 3 หรือ 5 ดอก ตามด้วยจุดเทียนและโคมไฟ ตามจำนวนชนิดของผลไม้

5. อธิษฐานขอพรตามความปรารถนา เช่น เรื่องความรัก ความมีเสน่ห์ ความเมตตา หน้าที่การงาน และโชคลาภ

6. เก็บโต๊ะหลังจากเทียนดอกใหญ่ดับ หรือ ก่อนพระจันทร์จะลับไป

7. นำของไหว้มารับประทาน โดยแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัว แบ่งให้เท่ากันทุกคนเพื่อความเป็นสิริมงคล

วันไหว้พระจันทร์ ของไหว้
ภาพจาก : innoviet.com

ทำไมต้องขนมไหว้พระจันทร์

ขนมไหว้พระจันทร์ (Mooncake) ขนมทรงกลมมีไส้ที่ชาวจีนใช้ส่งมอบให้แก่ญาติผู้ใหญ่ในวันไหว้พระจันทร์ เดิมขนมไหว้พระจันทร์ถูกใช้เป็นที่ซ่อนจดหมายลับของชาวฮั่น ซึงขณะนั้นถูกปกครองอย่างทารุณโดยชาวมองโกล เมื่อชาวฮั่นต้องการจะก่อกบฏต่อต้านจึงนำจดหมายความว่า ‘คืนนี้ในเวลายาม 3 จงสังหารทหารมองโกลพร้อมกัน’ สอดไว้ในขนมและนำไปแจกจ่ายให้กับทุกบ้าน ชาวจีนจึงใช้ขนมไหว้พระจันทร์เป็นตัวแทนในการระลึกถึงเหตุการณ์และขอบคุณบรรพบุรุษอันทรงเกียรติของพวกเขา

ปัจจุบันขนมไหว้พระจันทร์ถูกดัดแปลงให้มีความหลากหลายมากขึ้นจากไส้หวาน อาทิ ทุเรียน ถั่วกวน เม็ดบัว แมคคาเดเมีย เพิ่มเป็นไส้เค็ม อาทิ กุนเชียง ไข่เค็ม หมูแดง หมูหยอง ส่วนลวดลายของแป้งจากเดิมที่เป็นลวดลายภาษาจีนก็เปลี่ยนแปลงให้น่ารัก น่ากินเพิ่มขึ้น

วันไหว้พระจันทร์ ประวัติ เทศกาล

วันไหว้พระจันทร์ถือเป็นหนึ่งในเทศกาลที่คนในครอบครัวจะได้รวมตัวกัน เพื่อน ๆ สามารถใช้โอกาสนี้ในการพบปะสังสรรค์กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา สามารถนำขนมไหว้พระจันทร์หรือของกินเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปฝากญาติผู้ใหญ่เป็นการแสดงความเคารพและห่วงใยพวกท่านได้ เพื่อความเป็นสิริมงคลตลอดทั้งปี

Peangaor

นักเขียนประจำ Thaiger จบการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มศว เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาชี้แจงแตกประเด็นในรูปแบบย่อยง่ายเหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง รวมถึงเรื่อง Pop culture ซีรีส์ อาหาร และเทรนด์แฟชั่นที่กำลังอินเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ preme@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button