สุขภาพและการแพทย์ไลฟ์สไตล์

โรเช่ คืออะไร ยาลิ้นฟ้า ฤทธิ์แรงอันตราย ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับจริงหรือ

รู้จัก “ยาโรเช่” หรือ “ยาลิ้นฟ้า” ยาอันตรายที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ กลายเป็นภัยร้ายคุกคามสังคมไทย ปัจจุบันพบจำนวนการก่ออาชญากรรมพุ่งสูงเพราะพิษยาชนิดนี้ การใช้ยาโรเช่ผิดวัตถุประสงค์ มักส่งผลร้ายแรงต่อร่างกาย เสี่ยงสูญเสียความทรงจำ และหลอนประสาทขั้นรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเพราะเสพยาจนเกิดอาการมึนงง ในบทความนี้ทีมงาน The Thaiger ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลเสีย โทษทางกฎหมาย และแนวทางป้องกันและเลิกยาโรเช่ เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงพิษร้ายของยาเสพติด

ยาโรเช่ คืออะไร ทำไมถึงทำลิ้นฟ้า?

สำหรับ ยาโรเช่ (โรเซ่) หรือ ยาลิ้นฟ้า มีชื่อเรียกในแวดวงยาเสพติดอื่น ๆ อีกว่า ยาแมว, ยาหลับ, ยาสีม่วง, ยาเมาโรเช่ ในวงการแพทย์มาเรียกว่า โรฮิบนอล (Rohypnol) ซึ่งมีชื่อสามัญทางยาคือ ฟลูนิทราซีแพม (flunitrazepam) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ผ่านระบบประสาทในประเภท 2 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 พ.ศ. 2565

ตามปกติแล้ว ยาโรเซ่ มักถูกนำมาใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีอาการ นอนไม่หลับอย่างรุนแรง เพราะมีฤิทธิ์บรรเทาอาการวิตกกังวล สงบประสาท ทำให้นอนหลับ สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ (คลายกล้ามเนื้อต้านการชัก) และส่งผลต่อการกดระบบทางเดินหายใจ จึงจัดว่าเป็นยาอัตราย

ดังนั้นผู้ใช้ยานี้จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น

หลังจากที่ยาโรเช่เข้าสู่ร่างกายทั้งการรับประทานหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ตัวยาจะออกฤทธิ์เร็วทันที และทำให้นอนหลับภายในเวลา 20-30 นาทีหลังรับประทานยา และส่งผลนาน 8-12 ชั่วโมง

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ยานี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า ยาลิ้นฟ้า เนื่องจากผู้ผลิตต้องการหาวิธีป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด เลยทำส่วนผสมภายในเม็ดยา ให้ทำปฏิกิริยาละลายเมื่อนำไปผสมกับเครื่องดื่มของเหลว จนทำให้เกิดเป็น “สีฟ้า” ที่สังเกตได้ง่าย

ดังนั้น ผู้ใช้ยาที่ใช้วิธีอมในปาก จะทำให้สารตัวทำละลายออกมาย้อมติดกับลิ้นนั่นเอง

อันตรายจากการใช้ “ยาลิ้นฟ้า”

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า ยาลิ้นฟ้า (โรเช่) จัดเป็นยาอันตรายร้ายแรง หากใช้ผิดวิธีอาจทำให้เสียชีวิตได้เลยทันที ซึ่งอันตรายจากการใช้ยาหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อยสุด จะเป็นอาการง่วงซึม มึนงง เดินโซซัดโซเซ ปวดศีรษะ และมีผลต่อความทรงจำระหว่างที่ลดปริมาณยาอีกด้วย บางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นสั่นสะท้าน ฝันร้าย และอาการวิตกกังวล

ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนาน เกิน 1 เดือน เพราะการใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้เกิดภาวะติดยาได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อหยุดยา จะทำให้เกิดอาการถอนยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เปลือกตากระตุก สั่น เป็นต้น

ยาลิ้นฟ้า มีฤทธิ์ออกประสาท

วิธีป้องกัน “การรับยาโรเช่” เข้าสู่ร่างกาย

โรฮิปนอล เป็นยาที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส สามารถสังเกตได้จากสีของยาที่ทำปฏิกิริยากับของเหลวเท่านั้น ทำให้จำแนกแยกแยะได้ยาก และไม่สามารถสรุปได้ว่าส่วนผสมดังกล่าวมียาโรเช่เจือปนอยู่ เพราะในโลกนี้ก็มีเครื่องดื่มหรือของเหลวสีฟ้าปะปนอยู่ในอาหารการกินอยู่ไม่น้อย ดังนั้นวิธีป้องกันการรับยาเข้าสู่ร่างกายที่ดีที่สุด ได้แก่

  1. ไม่ดื่มเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้า
  2. รับเครื่องดื่มจากพนักงานของร้านโดยตรง
  3. ไม่ทิ้งแก้วเครื่องดื่มไว้
  4. ไปเที่ยวเป็นกลุ่ม และมีเพื่อนที่ไม่ดื่มดูแล
  5. เลือกสถานบันเทิงที่มีมาตรการป้องกัน
  6. สังเกตอาการตัวเองและเพื่อน หากสงสัยว่าโดนมอมยา รีบขอความช่วยเหลือ
  7. พาผู้ต้องสงสัยว่าได้รับยาเกินขนาดไปโรงพยาบาลทันที

การจำหน่าย/เสพยา มีโทษทางกฎหมายอย่างไรบ้าง

บทกำหนดโทษวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มีบทกำหนดโทษหากมีการใช้หรือจำหน่ายอย่างผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ดังนี้

1. ผลิต นำเข้า หรือ ส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ปลอม จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท ม.52, ม.142 วรรคหนึ่ง

2. จำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ปลอม จำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 700,000 บาท ม.52, ม.142 วรรคสอง

3. ผลิต นำเข้า หรือส่งออก วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ผิดมาตรฐาน จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ม.53, ม.143 วรรคหนึ่ง

4. ผลิต นำเข้า หรือส่งออก วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ผิดมาตรฐาน จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ม.53, ม.143 วรรคหนึ่ง

5. จำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ผิดมาตรฐาน จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ม.53, ม.143 วรรคสอง

6. นำเข้าหรือส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เสื่อมคุณภาพ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ม.54, ม144 วรรคหนึ่ง

7. จำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เสื่อมคุณภาพ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ม.54, ม144 วรรคสอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

อ้างอิง : กองควบคุมวัตถุเสพติด, บทกำหนดโทษ

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button