ประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ 2566 เช็กกำหนดการสืบสานประเพณีล้านนา 26-28 พ.ย.นี้
เชิญชวนทุกท่านร่วมงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2566 เทศกาลลอยกระทงวิถีชาวล้านนาที่จะขึ้นในระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายนนี้ เรียนรู้สืบสานประเพณีดั้งเดิม พร้อมเช็กกำหนดการ และสถานที่จัดงานแห่งปี ที่นี่
ต้อนรับเทศกาลลอยกระทงที่ใกล้เข้ามาในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 นี้ เทศบาลนครเชียงใหม่เตรียมจัดงาน ‘ประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ 2566’ เทศกาลสะท้อนวัฒนธรรมล้านนา อันเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นของภาคเหนือ ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเทศกาลลอยกระทง สำหรับปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน – วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2566
ประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ประจำปี 2566 จะจัดขึ้นตั้งแต่ข่วงประตูท่าแพ, ริมน้ำปิง, สำนักงานเทศบาล, ท่าน้ำวัดศรีโขง, วัดศรีดอนชัย, ชุมชนและวัดในเขตเทศบาล ซึ่งในปีนี้มาพร้อมกับแนวคิด “ค่ำคืนแห่งสายนที วิถีแห่งวัฒนธรรม” ระยะเวลาตลอด 3 วันของงานประเพณีจะมีกิจกรรมไฮไลท์มากมาย อาทิ พิธีบวงสรวงทางศาสนา พิธีขอขมา การประกวดโคมยี่เป็ง การประกวดกระทง และการแสดงมหรสพ
ทำความรู้จัก ‘ประเพณียี่เป็ง’ วัฒนธรรมลอยกระทงชาวล้านนา
‘ประเพณียี่เป็ง’ หรือประเพณีเดือนยี่ ถือเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวพื้นถิ่นล้านนาที่ได้สืบทอดปฏิบัติกันมา ตั้งแต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 ซึ่ง “ยี่เป็ง” เป็นการรวมกันของคำว่า “ยี่” ที่แปลว่า สอง และรวมเข้ากับคำว่า “เป็ง” ที่หมายถึง คืนพระจันทร์เต็มดวง (เพ็ญ) ทั้งนี้ ประเพณีดังกล่าวจึงมีความหมายว่า ประเพณีในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองของชาวล้านนา
เหตุที่เป็นเดือนสิบสองนั้นก็เพราะเป็นการนับวันเวลาตามปฏิทินจันทรคติของไทย เมื่อประเพณีอันงดงามจากวัฒนธรรมของชาวล้านนาวนเวียนมาบรรจบ ตามบ้านช่องและวัดวาอารามก็จะประดับประดาไปด้วยโคมลอย และผางประทีปมากมาย
จุดเริ่มต้นของประเพณียี่เป็งนั้นมีเรื่องเล่าหลากหลายตำนาน สำหรับในตำนานที่ปรากฏอยู่ในหนังสือตำนานโยนกและจามเทวีวงศ์นั้น กล่าวว่า ประเพณีลอยโขมด หรือลอยไฟ เป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกที่อาณาจักรหริภุญไชย เมื่อประมาณปีพ.ศ. 1490 โดยในขณะนั้นมีกลุ่มคนมอญหรือเม็งที่อาศัยอยู่ในเมืองหริภุญไชยได้อพยพหนีการระบาดของอหิวาตกโรคไปอาศัยอยู่ ณ เมืองสะเทิม
ต่อมาเมื่ออหิวาตกโรคในอาณาจักรหริภุญชัยสงบลง บรรดาผู้อพยพจึงได้เคลื่อนย้ายกลับไปยังบ้านช่องถิ่นเดิม แม้จะโยกย้ายกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอน แต่พวกเราก็ไม่เคยลืมเลือนพี่น้องจากเมืองสะเทิม เมื่อเวลาเวียนจบครบปี คนมอญจึงจึงจัดดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะ รวมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคใส่ลงในสะเปาที่มีลักษณะคล้ายเรือ บ้างก็ใส่ในสะตวง หรือกระทง
จากนั้นก็ลอยลงน้ำแม่ปิง น้ำแม่กวง แม่ทา เพื่อเป็นการแสดงความระลึกถึงญาติพี่น้อง ณ เมืองหงสาวดี คนมอญกระทำเช่นนั้นวนไปทุกปีและได้กลายมาเป็นประเพณีที่สืบทอดปฏิบัติกันเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
กำหนดการจัดงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ 2566
ในปี 2566 ประเพณียี่เป็งเชียงใหม่จะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ในวันที่ 26 พฤศจิกายนจนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งมีกำหนดเป็นดังนี้
สำนักงานเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566
- เวลา 08.09 น. พิธีบวงสรวงศาลพระภูมิ และเจดีย์ยาว
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566
- เวลา 10.00 – 17.00 น. การประกวดกระทงพิมือใบตอง – ดอกไม้สด
- เวลา 18.00 น. การประกวดหนูน้อยยี่เป็งเชียงใหม่
- เวลา 19.00 น. การประกวดขบวนแห่ละเปาล้านนา
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566
- เวลา 16.30 น. การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งพร้อมหางเครื่อง สืบสานวัฒนธรรมไทย
- เวลา 19.00 น. การประกวดขบวนแห่กระทงใหญ่ชิงถ้วยพระราชทานฯ
- เวลา 22.00 น พิธีมอบรางวัลการประกวดขบวนแห่กระทงใหญ่ชิงถ้วยพระราชทานฯ
ท่าป่าวัดศรีโขง
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566
- เวลา 09.09 น. พิธีขอขมาแม่น้ำปิง
เวทีบริเวณท่าป่าศรีโขง
วันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน 2566
- เวลา 20.00 น. การแสดงแสง สี เสียง และสื่อผสม
พ่อท่านํ้าครีโชว
วันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน 2566
- เวลา 20.30 น. การแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติ
วัดศรีดอนไชย
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566
- เวลา 05.00-21.00 น. พิธีตั้งธรรมหลวง (เทศน์มหาชาติ)
ข่วงประตูท่าแพ
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566
- เวลา 16.00 น. การประกวดโคมยี่เป็งล้านนา (โคมแขวนใหญ่)
- เวลา 18.00 น. พิธีเปิดงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ 2566
- เวลา 18.00-21.00 น. กิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนรรรมล้านนา
- เวลา 19.00 น. การประกวดเทพี – เทพบุตรยี่เป็งเชียงใหม่
ชุมชนและวัดในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
วันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน 2566
- เวลา 18.00-21.00 น. กิจกรรมความสุขแห่งสายป่า ยี่เป็งเชียงใหม่
- ตลอดเวลา การจัดซุ้มประตูป่า ยี่เป็งล้านนาเชียงใหม่
ริมน้ำปิงหน้าสำนักงานเทศบาลฯ
วันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน 2566
- เวลา 18.00 น. พิธีปล่อยกระทงสายล้านนา
กิจกรรมไฮไลท์ประเพณียี่เป็ง 2566
- การประกวดขบวนแห่กระทงใหญ่ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- การประดับตกแต่งเมืองให้สว่างไสวสวยงาม
- การแสดงประกอบแสงสีเสียงและสื่อผสม
- การแสดงพลุเฉลิมพระเกียรติ
- การประกวดเทพี-เทพบุตรยี่เป็งเชียงใหม่
- การประกวดหนูน้อยยี่เป็งเชียงใหม่
- การประกวดกระทงฝีมือใบตองดอกไม้สด
- การประกวดโคมยี่เป็งล้านนา (โคมแขวนใหญ่)
- การปล่อยกระทงสายล้านนา
- การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งพร้อมหางเครื่อง
- การจัดซุ้มประตูป่า
- ประเพณีตั้งธรรมหลวง
- การประกวดขบวนแห่สะเปาล้านนา
ผู้อ่านสามารถเดินทางร่วมประเพณีสุดยิ่งใหญ่แห่งปีของชาวล้านนาได้ทั้ง 3 วัน ตามวันและเวลาในกำหนดการ เพื่อร่วมเป็นหนึ่งในผู้สืบสานวัฒนธรรมอันงดงามที่ยังคงดำรงอยู่ในชาติไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง