เปิดที่มา ปลากุเลาตากใบ ของดี ขึ้นชื่อของจังหวัดนราธิวาส รสชาติไม่เค็มจัด เนื้อฟู มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ เป็นสินค้า GI จนได้รับขนานนามว่า ราชาแห่งปลาเค็ม
หลังจาก “ปลากุเลา” ปลาสายพันธุ์ท้องถิ่นขึ้นชื่อของจังหวัดนราธิวาส ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่เตรียมไว้เสริฟต้อนรับบรรดาผู้นำประเทศในงานเลี้ยงกาลาร์ดินเนอร์กาiประชุมผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค 2022 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 -19 พ.ย.65
โอกาสนี้ทีมงาน The Thaiger จึงขออาสาพาไปเปิดข้อมูล สิ่งที่หลายควรรู้ สำหรับสินค้าท้องถิ่นระดับขึ้นหึ้งของภาคใต้นี้กันให้ดีกว่าเดิม เผื่อมีคนมาถามจะได้ไม่ต้องขวยอายหรือเสียเวลาบอกให้เพื่อนไปเสิร์ชอินเตอร์เน็ตให้เสียอารมณ์
ที่มา-ประวัติ ปลากุเลาตากใบ
ปลากุเลาเค็มตากใบ (Salted fish Kulao Tak Bai) คือ ปลาเค็มที่มีรสชาติไม่เค็มจัด เนื้อฟู มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ของปลาเค็ม ซึ่งผลิตจากปลากุเลาสดตามกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ถือเป็นของดีทางภาคใต้บ้านเรา อีกทั้งยังเป็นสินค้าท้องถิ่นขึ้นชื่อของคนนราธิวาส เพราะ “ปลากุเลาเค็มตากใบ” เป็นปลาสายพันธุ์ท้องถิ่นของ จ.นราธิวาส ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2559
คนทั่วไปมักขนานนามปลากุเราว่า “ราชาแห่งปลาเค็ม” เนื่องจากมีรสสัมผัสกลมกล่อม เนื้อฟู มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ส่งผลให้ปลากุเลาเค็มตากใบ มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,300-1,500 บาท เป็นของฝากยอดนิยมที่ผู้คนมักซื้อไปฝากกัน
สำหรับประวัติความเป็นมานั้นการทำปลากุเลาเค็มมีมาเกือบ 100 ปี เป็นการถนอมอาหารที่ใช้ปลากุเลาสดในท้องถิ่นทะเลบริเวณปากแม่น้ำตากใบ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารของปลากุเลา ทำให้ปลากุเลาเค็มตากใบ มีความอร่อยเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนปลากุเลาเค็มจากแหล่งอื่นๆ ได้รับความนิยมทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด ตลอดจนประเทศใกล้เคียง เป็นของฝากที่มีคุณค่า มีผู้ต้องการอย่างมาก จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
“คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน” คำพูดติดปากที่บรรยายถึงความนิยมของปลากุเลาเค็ม ตากใบ ที่จะซื้อเป็นของฝากมากกว่านำมารับประทานเอง เพราะมีราคาค่อนข้างสูง กิโลกรัมละ 1,300-1,500 บาท แต่ด้วยรสชาติที่อร่อย ไม่เค็มจนเกินไป เนื้อฟู มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นที่ถูกใจของผู้ที่ได้ลิ้มลอง จนได้รับ สมญานามว่าเป็น “ราชาแห่งปลาเค็ม”
ปลากุเลา ลักษณะทั่วไปและชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์
ปลากุเลา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eleutheronema tetradactylum ลักษณะทั่วไป รูปร่างยาวเรียว ลำตัวค่อนข้างหนา แบนข้าง หัวค่อนข้างเล็ก จะงอยปากสั้น ตามีเยื่อไขมันปกคลุมและอยู่ใกล้ปลายจะงอย ปากเฉียงขึ้นเล็กน้อย และมีฟันแหลมคม ลักษณะเด่นคือ ก้านครีบส่วนล่างของครีบหูแยกออกเป็นเส้นรยางค์ 4 เส้น ซึ่งภาษาพูดเรียกกันว่าหนวด มีครีบหลังแยกห่างกัน 2 อัน ครีบหางเป็นแฉกลึก ส่วนของลำตัวที่อยู่แนวสันหลังสีเทาปนเขียว ส่วนที่อยู่ถัดลงมาสีเนื้อและสีขาวเงิน ครีบหลังและครีบหางมีรอยแต้มสีเทาที่ปลาย ครีบอื่น ๆ สีเหลือง มีขนาดโดยเฉลี่ย 40-60 เซนติเมตร ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พบ 2 เมตร ชอบอาศัยอยู่ตามปากแม่น้ำ
ตกผลึกภูมิปัญญาพื้นบ้านสู่ของดีเฉพาะถิ่น อำเภอตากใบ
สำหรับที่มาของแนวสคิดที่ทำให้เกิดการทำปลาเค็มหรือปลากุเราฉบับพื้นบ้าน ต้องเริ่มเล่าที่ลักษณะภูมิประเทศของ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพประมง ด้วยความสมบูรณ์ของทะเลที่ติดกับแม่น้ำตากใบและแม่น้ำสุไหงโก-ลก ที่นำพาแร่ธาตุไหลลงสู่ทะเล ทำให้ชายฝั่งทะเลบริเวณอ.ตากใบ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เกิดห่วงโซ่อาหาร มีแพลงก์ตอนเป็นจำนวนมาก
เมื่อชายฝั่งมีอาหารตามธรรมชาติ ปลากุเลาจึงเข้ามาหากินใกลัชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ชาวประมงจับปลากุเลาได้เป็นจำนวนมาก เมื่อมีปริมาณปลากุเลาสดเป็นจำนวนมาก จึงเกิดความคิดอาหารเพื่อเก็บไว้ได้หลายวัน จึงใช้วิธีการทำปลาเค็ม ที่เป็นการตกผลึกภูมิปัญญาพื้นบ้านสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เฉพาะท้องถิ่นของชาว อ.ตากใบ สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ที่มา : กรมทรัพย์สินทางปัญญา