ผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

วันเนา วันเน่า คืออะไร ทำไมหลายชื่อ เหตุใดเทศกาลสงกรานต์ต้องมีวันนี้

เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นปีใหม่ของไทย ถึงมีวันเน่าอยู่ด้วย วันเนาว์ วันเนา วันเน่า คืออะไร ฟังแล้วไม่ค่อยรื่นหูเอาเสียเลย มีหลายชื่อแต่ทุกชื่อหมายถึงวันเดียวกันใช่หรือไม่ ความเชื่ออะไรบ้างที่ยึดถือปฏิบัติในวันนี้ พร้อมที่มา The Thaiger จะมาเล่าให้คุณฟังเอง

วันเนาว์ วันเน่า วันเนา คือวันอะไร

ความหมายของ วันเนา

วันเนา หรือ วันเน่า (ภาษาเหนือจะนิยมเขียนเป็น วันเนาว์) ทุกชื่อคือวันเดียวกัน วันเนา ของประเพณีสงกรานต์ตรงกับวันใด คำตอบก็คือ วันที่ 14 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันที่เชื่อมระหว่างปีเก่าและปีใหม่ คือวันที่ 13 เมษายน วันมหาสงกรานต์ และวันที่ 15 เมษายน วันเถลิงศก หรือ วันพญาวัน

วันเนา คืออะไร

ความหมายของ วันเนา แปลว่า “วันอยู่” เพราะคำว่า เนา ในภาษาเขมรหมายถึง อยู่ สำหรับวันเนาของภาคเหนือ จะนิยมเขียนเป็น “วันเนาว์” ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะว่าวันมหาสงกรานต์ 13 เม.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ ดังนั้นวันถัดมาคือวันเนา จึงเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้ามาอยู่ประจำที่ในราศีเมษเรียบร้อยแล้วนั่นเอง นอกจากนี้วันเนายังตรงกับวันครอบครัวอีกด้วย

ส่วนที่มาของชื่อ “วันเน่า” ตามความเชื่อทางภาคเหนือล้านนานั้น มาจากวรรณกรรมทางศาสนาที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องให้พระเจ้าปเสนทิโกศลฟัง ความว่า พระยาสุริยะ ซึ่งเป็นผู้ครองเมืองกลิงคราษฏร์ ผู้เลี้ยงผีและปีศาจไว้มากมาย ได้ตายลงหลังจากผ่านวันสังขารล่องไปได้วันเดียว ได้ไปเกิดเป็นเปรตหัวเน่าอยู่นอกฟ้าจักรวาล ต่อมาภรรยาสองคนของพระยาสุริยะก็ได้ตายกลายเป็นเปรตไปอยู่ร่วมกัน นางเปรตทั้งสองได้ช่วยกันล้างหัวเน่าของพระยาเปรต ดังนั้นจึงเรียกวันที่ 14 เม.ย. ว่าวันเน่านั่นเอง

วันเนา คืออะไร

ความเชื่อวันเนา ข้อห้าม

เมื่อถึงวันเนา จะเชื่อกันว่าห้ามพูดจาหยาบคาย ด่าทอ หรือพูดสิ่งที่ไม่เป็นมงคล เนื่องจากคำว่า เนา ออกเสียงคล้ายคำว่า เน่า ซึ่งอาจทำให้เกิดความเชื่อมโยงว่าวันนี้ไม่ควรพูดจาไม่ดี มิเช่นนั้นอาจไม่เป็นมงคลต่อตัวผู้พูด ปากจะเน่า เกิดความอัปมงคลไปตลอดปี บ้างก็ว่าห้ามตัดผม

นอกจากนี้ยังเชื่อพื้นเมืองล้านนาอีกด้วยว่า หากตัดไม้ไผ่ในวันนี้ ไม้จะเน่าและไม่มีมอดหรือปลวกมากินเนื้อไม้

กิจกรรมที่นิยมปฏิบัติในวันเนา

เมื่อถึงวันเนา ในช่วงเช้าชาวบ้านมักจะตื่นมาทำบุญ วัดวาอารามต่าง ๆ จะจัดงานบุญอย่างคึกคักเพื่อเป็นการเสริมสิริมงคลก่อนจะถึงวันขึ้นปีใหม่ไทยตามความเชื่อ ช่วงบ่ายก็จะนิยมขนทรายเข้าวัด ก่อพระเจดีย์ทรายกัน

ส่วนชาวล้านนาในภาคเหนือจะนิยม “ไปกาดวันเน่า” คือ ไปจับจ่ายใช้สอยที่ตลาดตอนเช้า เพื่อซื้อของกินและของใช้มาจัดเตรียมไว้ใช้ทำบุญและทำพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในวันปี๋ใหม่เมือง เช่น ช่อ ตุง ข้าวตอก ดอกไม้ หมากเมี่ยง เสื้อผ้า ผลไม้ เป็นต้น

พอช่วงสายก็จะเตรียมอาหาร ขนม เช่น ข้าวหนมจ็อก ข้าวเหนียวแดง ข้าวต้มหัวงอก ข้าวต้มมัด ข้าวหนมจั้น ข้าวแคบ ข้าวควบ ข้าวแตน ข้าวหนมเกลือ ข้าวหนมลิ้นหมา เป็นต้น ก่อนจะไปขนทรายเข้าวัดในช่วงบ่ายเช่นเดียวกันกับภาคอื่น ๆ

อ่านเรื่องราวของการขนทรายเข้าวัดเพิ่มเติมได้ที่ ทำไมต้อง ขนทรายเข้าวัด ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไขข้อสงสัย ที่นี่มีคำตอบ!

อ้างอิงจาก (1) (2) (3)


Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button