Line Newsไลฟ์สไตล์

รู้จัก “กฎหมายห้ามจับปลาตะเพียน” พระเจ้าท้ายสระ สมัยอยุธยา โทษปรับเท่าไหร่

เปิดที่มาเกร็ดความรู้ กฎหมายห้ามราษฎรจับและกินปลาตะเพียน ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในสมัยอยุธยา มีบทบัญญัติหากผู้ใดฝ่าฝืนต้องโทษปรับจำนวน 5 ตำลึง หรือประมาณ 20 บาท มีที่มาจากไหน หลังจากเกิดกระแสในละครเรื่อง พรหมลิขิต EP.12 ส่งผลให้หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงห้ามรับประทานปลาตะเพียน

หากใครได้ดูละครพรหมลิขิตเมื่อคืนนี้จะเห็นฉากพูดคุยระหว่างขุนหลวงท้ายสระกับพ่อริดเรื่องข้อขัดแย้งการออกฎห้ามราษฎรจับปลาตะเพียน เนื่องจากพระองค์ทรงชอบเสวย หลายคนเพิ่งรู้เอาตอนนี้เองว่าในสมัยนั้นมีเกร็ดข้อห้ามที่น่าสนใจนี้อยู่ด้วย

ที่มากฎหมายห้ามกินปลาตะเพียน

คนโบราณแสนเหนื่อยยากจะจับปลาหรือกินปลาแต่ละครา ก็ต้องเพ่งพินิจตรวจดูให้ถี่ถ้วนว่าใช่ปลาตะเพียนหรือไม่ ย้อนกลับไปในสมัยอยุธยา ยุคการครองราชย์ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ มีอีกพระนามเรียกขานจากราษฎรว่า ขุนหลวงทรงปลา (ขุนหลวงหาปลา) เนื่องจากพระองค์มักชอบตกปลา ได้มีประกาศบทบัญญัติ “กฎหมายห้ามกินปลาตะเพียน” ระบุว่าหากราษฎรหรือชาวบ้านทั่วไป รับประทานหรือจับปลาตะเพียน มีโทษปรับเป็นเงินสินไหม จำนวน 20 บาท หรือ 5 ตำลึง

อ้างอิงข้อมูลจาก พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน (พิพิธภัณฑ์บริติช) ระบุข้อความของขุนหลวงท้ายสระว่า

“ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระประพฤติเหตุในอโนดัปปธรรม แล้วเสด็จเที่ยวประพาสทรงเบ็ดเหมือนสมเด็จพระราชบิดา แล้วพระองค์พอพระทัยเสวยปลาตะเพียน ครั้งนั้นตั้งพระราชกำหนดห้ามมิให้คนทั้งปวงรับพระราชทานปลาตะเพียนเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดเอาปลาตะเพียนมาบริโภค ก็ให้มีสินไหมแก่ผู้นั้นเป็นเงินตรา ๕ ตำลึง”

สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระท้ายทรงมีพระนิสัยคล้ายกับสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี กล่าวคือ “สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้นพอพระทัยทําปาณาติบาต ฆ่ามัจฉาชาติปลาน้อยใหญ่ต่าง ๆ เป็นอันมาก ด้วยตกเบ็ดทอดแหแทงฉมวก ทำลี่กันเฝือก [ทำที่กันเฝือก] ดักลอบ ดักไชย กระทำการต่าง ๆ ฆ่าสัตว์ต่าง ๆ ประพาสป่าฆ่าเนื้อนกเล่นสนุกด้วยดักแร้ว ดักบ่วง ไล่ช้าง ล้อมช้าง ได้ช้างเถื่อนเป็นอันมาก เป็นหลายวัน แล้วกลับคืนมายังพระนคร”

กฎหมายห้ามจับปลาตะเพียน อนุเสาวรีย์
ภาพจาก : วิกิพีเดีย

จากข้อความดังกล่าวสามารถสันนิษฐานถึงอุปนิสัยของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ว่ามีพฤติกรรมชอบไล่ล่าฆ่าสัตว์เพื่อความสนุกส่วนตัว ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ เป็นเวลาหลายวันก่อนจะกลับเข้าวังดังเดิม นอกจากนี้ บางคนก็ตีความไปว่า พระจ้าท้ายสระพระองค์ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างดียิ่งตลอดมา กฎหมายดังกล่าวอาจเป็นพระราชดำริที่จะอนุรักษ์ปลา ทว่าข้อโต้แย้งดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงการนักวิชาการประวัติศาสตร์ไทยจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามกฎหมายห้ามจับและกินปลาตะเพียนของพระเจ้าท้ายสระ ไม่ได้ถูกนำมาบังคับใช้ในปัจจุบัน เป็นโชคดีของคนไทยที่ยังได้เห็นหรือลิ้มลองรสชาติความอร่อยของเมนูปลาตะเพียนต้มเค็มหวาน และต้มยำปลาตะเพียน ที่ให้รสชาติกลมกล่อมละมุนลิ้น แซ่บโดนใจจนต้องหามาลองสักครั้งนั่นเอง

อ้างอิง : วิกิพีเดีย, คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button