การเงินเศรษฐกิจ

สวัสดิการข้าราชการ ได้สิทธิอะไรบ้าง ตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณอายุ

หลังจากคณะรัฐมนตรีประกาศเสนอขึ้นเงินเดือนพนักงานข้าราชการ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 เพื่อปรับค่าแรงให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่ดีใจ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ข้าราชการพลเรือนได้รับเงินเดือนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น แต่ถึงกระนั้นข้าราชการก็มีสวัสดิการที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด จนใครหลายคนยังยืนหยัดที่จะทำอาชีพนี้ต่อ

บทความนี้เราจะพาทุกท่านไปเช็กสวัสดิการข้าราชการ ทำงานกับภาครัฐได้สิทธิและสวัสดิการดีอะไรบ้าง เผื่อเป็นแนวทางให้ผู้ที่คิดจะเปลี่ยนสายงานในอนาคต

1. เงินบำเหน็จบำนาญ

สวัสดิการที่ข้าราชการทุกคนจะต้องเลือกรับหลังเกษียณอายุราชการคือ เงินบำเหน็จและเงินบำนาญ โดยเงินบำเหน็จคือเงินก้อน จะได้รับเพียงครั้งเดียวเท่านั้น จากการสะสมของสมาชิก กบข. และเงินสมทบจากรัฐบาล โดยต้องมีอายุราชการ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 25 ปี

สำหรับท่านใดที่อายุราชการ 25 ปีขึ้นไป สามารถรับเลือกเงินบำเหน็จ หรือรับเงินบำนาญ ซึ่งจะได้รับเป็นเงินรายเดือนทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต จากการสะสมของสมาชิก กบข. และเงินสมทบจากรัฐบาล โดยเงินบำเหน็จ ถือว่าเป็นสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร หลังเกษียณอายุราชการนั่นเอง ซึ่งจะได้รับเท่าไร ขึ้นอยู่เงินเดือนเฉลี่ยและอายุราชการของแต่ละคน

วิธีคิดเงินบำนาญ ให้คํานวณจากการนําเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย นํามาคูณด้วยอายุราชการ หารด้วย 50 แต่ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ส่วนวิธีคิดเงินบำเหน็จ ให้คํานวณจากนําเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุราชการ

2. การลา

พนักงานข้าราชการมีสวัสดิการลา รวม 11 ประเภท ได้แก่ การลาป่วย การลาคลอดบุตร การลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร การลากิจส่วนตัว การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์ การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย หรือดูงาน การลาติดตามคู่สมรส และการลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ

หากท่านใดที่ลาป่วยหรือลากิจส่วนตัว ซึ่งมีระยะเวลาต่อเนื่องกันจะนับเป็นการลา 1 ครั้ง ส่วนการลาครึ่งวันในตอนเช้าหรือตอนบ่าย ก็ให้นับเป็นการลาครึ่งวันตามประเภทของการลานั้น ๆ เช่นกัน

นอกจากนี้ การลามีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป อาทิ หากการลาป่วย 30 วันขึ้นไปต้องมีใบรับรองแพทย์ การลาพักผ่อน มีเงื่อนไขว่า ลาได้ 10 วันทำการ แต่ถ้ายังบรรจุเข้ารับราชการไม่ถึง 6 เดือนไม่มีสิทธิลาพักผ่อนประจำปี เป็นต้น

3. การรักษาพยาบาล

สวัสดิการเงินค่ารักษาพยาบาล มอบให้แก่บุคคลที่เป็นข้าราชการและบุคคลในครอบครัว เช่น บิดา มารดา บุตร คู่สมรส โดยสามารถใช้สิทธิรักษาโรค การตรวจวินิจฉัยโรคต่าง ๆ รวมถึงการฟื้นสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของพนักงานข้าราชการ แต่ไม่สามารถใช้สิทธิในการเสริมความงามได้

อัตราค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ สามารถเบิกได้เต็มตามจำนวน ส่วนสถานพยาบาลของเอกชนสามารถเบิกจ่ายได้เฉพาะกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรืออุบัติเท่านั้น โดยให้เบิกจ่ายได้ครึ่งหนึ่งของจำนวน แต่ไม่เกิน 8,000 บาท

นอกจากนี้ สวัสดิการข้าราชการยังครอบคลุมการตรวจสุขภาพประจำปี โดยพนักงานข้าราชการที่อายุไม่เกิน 35 ปี จะได้รับค่าตรวจสุขภาพไม่เกิน 450 บาท ส่วนบุคคลที่อายุเกินกว่า 35 ปีบริบูรณ์ จะได้รับค่าตรวจสุขภาพไม่เกิน 910 บาท

ข้าราชการ สวัสดิการ
ภาพจาก Facebook : สำนักงาน ก.พ.

4. การศึกษาของบุตร

เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรคือ เงินที่ภาครัฐช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าศึกษาเล่าเรียนให้กับบุตรของข้าราชการ รวมถึงข้าราชการบำนาญ ยกเว้นข้าราชการการเมือง และข้าราชการตำรวจชั้นพลตำรวจที่กำลังศึกษาอยู่ในกรมตำรวจ

บุตรที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเกี่ยวกับเงินการศึกษาของบุตร จะต้องเป็นบุตรคนที่ 1 – 3 เท่านั้น โดยนับตามลำดับการเกิด และหากบุตรไม่ได้อยู่ในความปกครองแล้ว ข้าราชการก็สามารถเบิกเงินค่าเล่าเรียนต่อไปได้ ตั้งแต่อายุ 3 ปี จนถึงอายุ 25 ปี

อัตราการจ่ายเงินสวัสดิการค่าเล่าเรียน จะแตกต่างกันไปตามสถานศึกษา เช่น บุตรที่ศึกษาในสถานมหาวิทยาลัยเอกชน จะได้รับเงินค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดของค่าเทอม ส่วนบุตรที่ศึกษาระดับปริญญาตรีในสถานศึกษาของราชการ จะได้รับเงินค่าการศึกษาเต็มจำนวน

5. เงินค่าฌาปนกิจ

เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือการฌาปนกิจสงเคราะห์ข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่น (ก.ฌ.) เป็นสวัสดิการสำหรับข้าราชการ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ รวมถึงจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของสมาชิกที่ถึงแก่ความตายด้วยเงินสงเคราะห์

ข้าราชการที่จะได้รับเงินสวัสดิการนี้ ต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิก โดยยื่นใบสมัครด้วยตนเองที่สำนักงาน ก.ฌ. หรือหน่วยงานต้นสังกัด พร้อมด้วยเงินค่าสมัคร เงินค่าบำรุง เงินสงเคราะห์ล่วงหน้า ใบรับรองแพทย์ และสำเนาทะเบียนบ้าน

เมื่อสมาชิกถึงแก่กรรม ก.ฌ. จะจ่ายค่าจัดการศพและจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่บุคคลที่สมาชิกลงนามไว้ตอนสมัคร ประมาณ 140,000 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิก

6. การปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ

ข้าราชการมีสิทธิได้รับเงิน กรณีได้รับคำสั่งไปปฏิบัติงานประจำสำนักงานในพื้นที่พิเศษ เกิน 15 วัน อย่างไรก็ตาม ข้าราชการจะไม่ได้รับสิทธิ หากไปปฏิบัติข้าราชการชั่วคราวนอกที่ตั้งสำนักงาน โดยปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หรือตามหน้าที่ที่ปฏิบัติราชการโดยปกติ รวมถึงการไปรักษาราชการแทน โดยจะได้รับคนละ คนละ 1,000

7. เงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ

ข้าราชการจะได้รับเงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ หากปฏิบัติงานนอกเวลาราชการในวันทำการ โดยมีสิทธิได้รับเงินตอบแทนไม่เกินวันละ 4 ชั่วโมง อัตราชั่วโมงละ 50 บาท หากปฏิบัติงานในวันหยุดราชการ จะมีสิทธิเบิกเงินตอบแทนได้ไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง ไม่รวมเวลาหยุดพัก ในอัตราชั่วโมงละ 60 บาท

8. เครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นเครื่องหมายแสดงเกียรติยศ โดยพระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการที่ใช้สำหรับพระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบ อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน โดยสนองในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษ

สวัสดิการข้าราชการ
ภาพจากเว็บไซต์ : สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา มุกดาหาร

9. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ

สวัสดิการค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ มอบให้ข้าราชการกรณีที่ต้องเดินทางข้ามเขตจังหวัด ระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเขตติดต่อกับกรุงเทพฯ รวมถึงการเดินทางข้ามเขตจังหวัดที่ผ่านเขตกรุงเทพฯ โดยให้เบิกเท่าที่ใช้จ่ายตามจริง เที่ยวละไม่เกิน 600 บาท

กรณีที่ข้าราชการเดินทางข้ามเขตจังหวัดอื่น ๆ ให้เบิกเท่าที่จ่ายจริง เที่ยวละไม่เกิน 500 บาท หากเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัว ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา และต้องใช้พาหนะนั้นตลอดเส้นทาง

สำหรับเงินชดเชยในการใช้ยานพาหนะส่วนตัวในการเดินทาง จะแบ่งเป็นรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ โดยรถยนต์ส่วนบุคคล จ่ายค่าชดเชยกิโลเมตรละ 4 บาท ส่วนจักรยานยนต์ส่วนบุคคล จ่ายค่าชดเชยกิโลเมตรละ 2 บาท

10. บ้านพักข้าราชการ

บ้านพักข้าราชการ เป็นสวัสดิการที่ทางราชการจัดให้แก่ข้าราชการที่มีคำสั่งให้ไปประจำที่ต่างจังหวัด หรือประจำที่สำนักงานต่างท้องที่ เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย โดยหัวหน้าส่วนราชการจะเป็นผู้อนุมัติจัดสรรห้องพัก บ้านพัก หรืออาคารในสวัสดิการให้แก่ข้าราชการ

11. รถราชการ

โดยปกติแล้ว รถราชการจะใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ หรือใช้เพื่อกิจการอันเป็นส่วนรวมของส่วนราชการ หรือประโยชน์ทางราชการเท่านั้น ทั้งนี้ กรณีที่บิดาหรือมารดาของข้าราชการท่านใดเสียชีวิต สามารถเบิกรถราชการไปใช้ได้ แต่ต้องการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักของพนักงานขับรถด้วย

จะเห็นว่าพนักงานข้าราชการได้รับสวัสดิการต่าง ๆ มากมาย แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้วก็ยังสามารถเลือกรับเงินรายเดือนในการดำรงชีพได้อีก หากในอนาคตมีการปรับเงินเดือนที่สมเหตุสมผลกับค่าครองชีพ สายงานข้าราชการอาจเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ในใจของเด็กจบใหม่มากกว่าในปัจจุบันอย่างแน่นอน

สวัสดิการ พนักงานข้าราชการ
ภาพจาก Facebook : สำนักงาน ก.พ.

อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงาน ก.พ., guruacademy.in.th

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button