การเงินเศรษฐกิจ

ไขข้อสงสัย บำเหน็จ บำนาญ ต่างกันอย่างไร ข้าราชการเกษียณเลือกแบบไหนดี

บำเหน็จ บำนาญ แตกต่างกันอย่างไร ข้าราชการที่กำลังจะเกษียณอายุ ควรเลือกแบบไหนดีที่เหมาะกับเศรษฐกิจยุคนี้ พร้อมเช็กผู้มีสิทธิรับเงิน และวิธีการยื่นขอรับเงินด้วยตนเองทางอิเล็กทรอนิกส์

ข้าราชการเกษียณอายุภาคบังคับข้าราชการ จะได้รับ เงินบำเหน็จบำนาญ จากกรมบัญชีกลาง เป็นสิทธิประโยชน์ที่ได้รับหลังเกษียณอายุราชการ บุคคลแต่ละท่านที่มีสิทธิจะได้รับเงินในจำนวนที่แตกต่างกันออกไป ตามสูตรการคำนวณ

ไม่ต้องถึงขั้นคำนวณว่าจะได้เท่าไร หลายท่านอาจจะสงสัยตั้งแต่ชื่อเรียก วันนี้ทีมงาน Thaiger ขออาสาช่วยไขข้อสงสัย เงินบำเหน็จบำนาญแตกต่างกันอย่างไร ข้าราชการเกษียณอายุเลือกแบบไหนคุ้มค่ากว่า พร้อมเช็กสิทธิรับเงิน และวิธีการขอรับเงินบำเหน็จบำนาญด้วยตนเอง

เงินหลังเกษียณ

บำเหน็จ บำนาญ ต่างกันอย่างไร

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำบาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 เป็นกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุภาคบังคับของข้าราชการ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในการจ่ายบำเหน็จบำนาญ และให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการ เมื่อออกจากราชการ

นอกจากนี้ บำเหน็จบำนาญยังมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก รวมถึงจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นแก่สมาชิกอีกด้วย เงินบำเหน็จและเงินบำนาญ มีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้

    • บำเหน็จ คือ เงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมา ได้รับเป็นเงินก้อนครั้งเดียว โดยได้รับเงินสะสมของสมาชิก กบข. และเงินสมทบจากรัฐบาล รวมถึงสิทธิประโยชน์จากการลงทุนที่ กบข. หาได้
    • บำนาญ คือ เงินตอบแทนความชอบที่ได้รับราชการมา ได้รับเงินเป็นรายเดือนทุกเดือนตลอดชีวิต หรือจนหมดสิทธิรับบำนาญ โดยจะได้รับเงินสะสมของสมาชิก กบข. และเงินสมทบจากรัฐบาล รวมถึงประโยชน์จากการลงทุนที่ กบข. หาได้

เงินบำเหน็จและบำนาญ ยังแตกต่างกันในด้านสิทธิที่จะได้รับ บุคคลที่เลือกรับเงินบำนาญ สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตลอดชีวิต ทายาทตามกฎหมายได้รับเงินค่าทำศพกรณีเสียชีวิต และได้รับบำเหน็จตกทอด ซึ่งบุคคลที่เลือกรับเงินบำเหน็จจะไม่ได้รับสิทธิส่วนนี้

ผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จบำนาญ

ผู้ที่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จบำนาญ จะต้องผู้ที่เข้ารับราชการก่อน 27 มีนาคม 2540 และสมัครเป็นสมาชิก กบข. หรือผู้ที่เข้ารับราชการหลัง 27 มีนาคม 2540 และกฎหมายกำหนดให้เป็นสมาชิก กบข. โดยอัตโนมัติ ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. ขณะนี้ประกอบด้วยข้าราชการ 12 ประเภท ดังนี้

    • ข้าราชการพลเรือน
    • ข้าราชการตุลาการ
    • ข้าราชการอัยการ
    • ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย
    • ข้าราชการครู
    • ข้าราชการรัฐสภาสามัญ
    • ข้าราชการตำรวจ
    • ข้าราชการทหาร
    • ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
    • ข้าราชการศาลปกครอง
    • ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

เงินบำเหน็จ เงินก้อน

การขอรับและขอเบิกเงินบำเหน็จบำนาญ

ขอรับเงินบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองทางอิเล็กทรอนิกส์ (Pension’s Electronic Filing)

1. ผู้มีสิทธิดำเนินการยื่นด้วยตนเองผ่านทางเว็บไซต์ DIGITAL PENSION

2. ลงทะเบียนหรือเข้าสู่ระบบ จากนั้นทำตามขั้นตอนของระบบ จนถึงขั้นตอนรอส่วนราชการผู้รับเรื่อง

3. ผู้มีสิทธิขอและยื่นเอกสารหลกฐานการขอรับบำเหน็จบำนาญปกติได้ที่ กลุ่มเจ้าหน้าที่ สล. ชั้น 6 โดยเตรียมเอกสาร ดังนี้

    • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ หรือกระแสรายวัน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง 2 ฉบับ
    • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง 2 ฉบับ
    • แบบแจ้งรายการลดหย่อนภาษีเงินได้ สำหรับผู้ที่รับเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญปกติ (แบบ สรจ.1) 2 ฉบับ
    • หนังสือรับรองและขอเบิกบำเหน็จดำรงชีพ (แบบ สรจ.3) เพื่อขอรับบำเหน็จดำรงชีพ กรณีอายุต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ โดยยื่นขอรับพร้อมบำนาญตามสิทธิไม่เกิน 200,000 บาท 2 ฉบับ

ผู้มีสิทธิให้กลุ่มการเจ้าหน้าที่ สล. ยื่นผ่านระบบขอรับเงินบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองทางอิเล็กทรอนิกส์ (Pension’s Electronic Filing)

1. ผู้มีสิทธิดำเนินการแจ้งข้อมูลสำหรับลงทะเบียนขอรหัสผ่าน เพื่อยื่นขอรับเงินบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองทางอิเล็กทรอนิกส์ (Pension’s Electronic Filing) ประกอบด้วยข้อมูลและเอกสารดังนี้

    • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
    • สำเนาสมุดบัญชีธนาคารประเภทออมทรัพย์ กระแสรายวัน (สำหรับรับเงินบำเหน็จบำนาญ)
    • หมายเลขโทรศัพท์มือถือ
    • E-mail (ยกเว้น e-mail Hotmail และ e-mail ที่ส่วนราชการออกให้)

2. ผู้มีสิทธิขอและยื่นเอกสารหลักฐานการขอรับเงินบำเหน็จบำนาญปกติ ได้ที่กลุ่มเจ้าหน้าที่ สล. ชั้น 6 ดังนี้

    • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ หรือกระแสรายวัน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง 2 ฉบับ
    • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง 2 ฉบับ
    • แบบแจ้งรายการลดหย่อนภาษีเงินได้ สำหรับผู้ที่รับเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญปกติ (แบบ สรจ.1) 2 ฉบับ
    • หนังสือรับรองและขอเบิกบำเหน็จดำรงชีพ (แบบ สรจ.3) เพื่อขอรับบำเหน็จดำรงชีพ กรณีอายุต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ โดยยื่นขอรับพร้อมบำนาญตามสิทธิไม่เกิน 200,000 บาท 2 ฉบับ

เมื่อดำเนินการยื่นขอรับบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองทางอิเล็กทรอนิกส์ (Pension’s Electronic Filing) กลุ่มเจ้าหน้าที่ สล. จะแจ้งข้อมูลรหัสผ่านเข้าระบบการยื่นขอรับบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองทางอิเล็กทรอนิกส์ (Pension’s Electronic Filing) ให้ผู้ขอทราบเป็นรายบุคคล

บำเหน็จบำนาญ ข้าราชการเลือกแบบไหนดีกว่า

บำเหน็จบำนาญมีข้อดีแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ เงินบำนาญ ได้รับสิทธิมากกว่า ทั้งรักษาพยาบาลฟรีตลอดชีวิต เงินค่าทำศพ และได้รับบำเหน็จตกทอด อีกทั้งในยุคที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน การได้รับเงินบำนาญ อาจเป็นเครื่องการันตีได้ว่าเราจะมีเงินใช้เป็นประจำทุกเดือน คล้ายกับตอนทำงานแล้วได้เงินเดือน

ต่างจากบำเหน็จที่ได้รับเงินก้อนเพียงครั้งเดียว แม้จะเป็นจำนวนค่อนข้างเยอะ แต่หากบริหารจัดการไม่ดีอาจทำให้เงินหมดได้ง่าย ๆ รวมถึงหากเรามีอายุยืนยาว จำนวนเงินบำนาญที่ได้ทั้งหมด รวมทุกเดือนแล้วอาจจะมีจำนวนมากกว่าการรับเงินบำเหน็จดังนั้นแล้ว ข้าราชการเกษียณอาจเลือกเงินบำนาญ เพราะมองในระยะยาวแล้วคุ้มค่ากว่านั่นเอง

สรุปแล้ว เงินบำเหน็จและเงินบำนาญต่างกันตรงที่เงินบำเหน็จ บุุคคลที่มีสิทธิจะได้รับเงินก้อนใหญ่ครั้งเดียว ส่วนเงินบำนาญ บุคคลที่มีสิทธิจะได้รับเงินแบบรายเดือน และได้รับเป็นประจำทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิตหรือหมดสิทธิได้รับ

ข้าราชการมีสิทธิรับเงินหลังเกษียณ

อ้างอิง : 1 2

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button