ข่าวข่าวการเมืองเลือกตั้ง 66

‘ศรีสุวรรณ’ บุก กกต. ร้องสอบ เพื่อไทย แจกเงินดิจิทัล : เลือกตั้ง 2566

ศรีสุวรรณ บุกคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร้องสอบ เพื่อไทย แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือ ด้าน กกต. แจงแล้ว

นาย ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)และนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อขอให้ตรวจสอบและวินิจฉัยกรณีนายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจำนวน 54 ล้านคนๆละ 10,000 บาท เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทยและผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยไม่บอกความจริงให้หมด เป็นการดำเนินการที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับหรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้เนื่องจากการหาเสียงการแจกเงินดิจิทัลดังกล่าวซึ่งเป็นการใช้ประชานิยมสุดขั้วนั้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประโยชน์ของประชาชนในวงกว้างทั้งทางบวกและทางลบได้ และมีเสียวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากว่าจะมีผลกระทบต่อวินัยทางการเงินการคลังของรัฐอย่างมาก ซึ่งอาจขัดต่อพรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 และพรบ.วิธีการงบประมาณ 2561 หรือไม่

อีกทั้งการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพรก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 ประกอบ พรก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) 2561 โดยเคร่งครัด โดยจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งเงินจะเหลือถึงประชาชนจริงๆเพียง 8,500 บาท เมื่อสิ้นปีภาษีต้องแจ้งเป็นรายรับต่อสรรพากร รวมทั้งร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลด้วย การบอกความจริงไม่หมดเป็นการหลอกลวงจูงใจให้เข้าใจผิด ตาม ม.73(5) ของพรป.เลือกตั้ง 2561 หรือไม่

แต่ที่สำคัญ กรณีดังกล่าวอาจสุ่มเสี่ยงต่อเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นได้ เนื่องจากนายเศรษฐา เคยเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารธุรกิจสินทรัพทย์ดิจิทัลหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ก่อนที่จะโอนหุ้นทั้งหมดให้กับลูกสาวและลาออกจากผู้บริหารในบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) ทุกตำแหน่งเพื่อมาลงการเมือง แต่จะทำให้สังคมไว้วางใจได้อย่างไรว่า การประกาศแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะไม่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับอดีตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของตน ซึ่งแม้จะโอนหุ้นให้ลูกสาวไปแล้ว แต่ก็อาจจะยังเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.44 แห่งพรก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 ด้วยหรือไม่

นอกจากนั้น การหาเสียงแจกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยดังกล่าว กกต.ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนทราบถึงคำอธิบายของพรรคเพื่อไทยที่รายงานมายัง กกต.ด้วยว่า 1)วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดําเนินการมาจากแหล่งใด 2)ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดําเนินนโยบาย 3)ผลกระทบและความเสี่ยงในการดําเนินนโยบาย เพราะหากไม่สามารถชี้แจงได้ก็อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.73(1) และ (5) แห่ง พรป.เลือกตั้ง 2561 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวว่าตามกฎหมายกำหนดไว้ว่านโยบายที่จะต้องมีการใช้จ่ายเงิน จะต้องมี 3 เงื่อนไขคือ 1.วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2. ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนพิจารณาตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคนั้นหรือไม่

ตอนนี้มี 6 ภาคที่มีการแจ้งว่ามีนโยบายที่เกี่ยวการเรื่องการใช้จ่ายเงินมายัง กกต. โดยวันนี้ก็จะให้สำนักงานฯ แจ้งไปยังทุกพรรคที่รายงานมาว่าจะต้องมีการชี้แจง 3 เงื่อนไขดังกล่าวมาให้ครบถ้วน ซึ่งนโยบายแบบนี้จะถือว่าไม่ใช่การสัญญาว่าจะให้ แต่ถ้าไม่มีข้อมูล 3 เงื่อนไขดังกล่าวอาจจะผิดเข้าข่ายหลอกลวงตามกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 73(5) ก็ได้ อย่างไรก็ตามกฎหมายไม่ได้บอกว่าถ้ารายงานไม่ครบแล้วจะมีความผิดเพียงแต่กำหนดว่าให้กกต. แจ้งให้ดำเนินการให้ครบถ้วน และมีโทษเป็นการปรับจนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วน

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button