Line Newsไลฟ์สไตล์

ส่องความเก่ง ‘นิลวรรณ ปิ่นทอง’ นักเขียนหญิงชาวไทยที่ Google เชิดชู

เปิดประวัติ นิลวรรณ ปิ่นทอง บุคคลต้นแบบบน Google Doodle เพื่อระลึกถึงในวันครบรอบวันเกิด 6 ธันวาคม 2565 นักเขียนและบรรณาธิการหญิงชาวไทย แม้จากไปแล้วกว่า 5 ปีแต่เหตุใดผู้คนยังกล่าวถึง มาชมผลงานและความเก่งของสตรีผู้นี้ไปพร้อมกัน

คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง เธอเกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2458 หากวันนี้เธอยังคงมีชีวิตอยู่ นิลวรรณจะมีอายุครบ 107 ปีแล้ว ครอบครัวของนิลวรรณทำอาชีพข้าราชการ โดยนิลวรรณมีบิดาที่ช่วยสนับสนุนด้านการศึกษาและปลูกฝังให้เธอรักการอ่านหนังสือมาแต่เล็ก

นิลวรรณเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา ม.6 จากโรงเรียนเบญจมราชาลัย จากนั้นได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ก่อนจะสอบติดคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 4 ในปี พ.ศ. 2477

หลังจากเรียนจบระดับปริญญาตรี นิลวรรณได้เป็นครูสอนหนังสืออยู่ 1 ปี ก่อนจะเข้ารับราชการในกรมโฆษณาการอีก 9 ปี เมื่อสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานได้มากพอสมควรแล้ว นิลวรรณจึงเริ่มก้าวเข้ามาเติบโตในเส้นทางบรรณาธิการ โดยเธอได้ขึ้นเป็นบรรณาธิการของนิตยสารสตรีสาร ฉบับแรกในปี พ.ศ. 2492

ประวัติ นิลวรรณ ปิ่นทอง
ภาพจาก : Facebook Rawion Chewwong

นิตยสารสตรีสารตามปณิธานของนิลวรรณคือ เป็นหนังสือที่ไม่มีพิษมีภัยสำหรับผู้อ่าน ดังนั้นเนื้อหาในเล่มจึงเหมาะกับผู้อ่านแทบทุกเพศทุกวัย ทั้งเรื่องครอบครัว ภาษาและวรรณกรรม นิทานสำหรับเด็ก นวนิยาย งานอดิเรก รวมถึงสุขภาพและความงาม รวมถึงเป็นพื้นที่ให้โอกาสนักเขียนได้แสดงผลงาน ซึ่งผลงานต่าง ๆ ที่ได้ลงในเล่มสตรีสารก็เป็นผลงานอมตะ หลายเรื่องยังเป็นที่รู้จักในปัจจุบันทั้งผู้เขียนและงานเขียน

ตัวอย่างนักเขียนเช่น แว่นแก้ว, กาญจนา นาคนันทน์, โบตั๋น, สีฟ้า ฯลฯ ตัวอย่างงานเขียนเช่น ดาวพระศุกร์, ดอกโศก, ผู้กองยอดรัก, ผู้ใหญ่ลีกับนางมา, ฟ้าจรดทราย, เขาชื่อกานต์ ฯลฯ

หลังจากชิมลางบรรณาธิการหนังสือเล่มแรกแล้ว นิลวรรณยังได้รับหน้าที่บรรณาธิการของหนังสืออีก 2 เล่ม ได้แก่ ดรุณสาร นิตยสารสำหรับเยาวชน และ สัปดาห์สาร นิตยสารเกี่ยวกับข่าวสาร

นิตยสารสตรีสาร ภายใต้การนำของหัวเรือใหญ่อย่างนิลวรรณ ดำเนินไปได้ในระดับที่ดีมาก โดยนิตยสารหัวนี้ถือว่าเป็นนิตยสารที่มีอายุยาวนานที่สุด จนทำให้นิลวรรณได้รับฉายาว่า “คุณย่า บก.” รวมถึงได้รับรางวัลนิตยสารที่ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น รางวัลพระเกี้ยวทองคำจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี พ.ศ. 2530 ก่อนจะปิดตัวในปี พ.ศ. 2539 รวมเวลากว่า 48 ปี

ประวัติ นิลวรรณ ปิ่นทอง
ภาพจาก : Facebook Rawion Chewwong

นอกจากการทำหน้าที่บรรณาธิการแล้ว นิลวรรณยังเป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย รวมถึงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการประชาชน จากมูลนิธิแมกไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์ ประจำปี พ.ศ. 2504 และรางวัลศรีบูรพา ปี พ.ศ. 2534 โดยเป็นคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลนี้

ผลงานตลอดชีวิตที่ผ่านมา ทำให้ในปี พ.ศ. 2517 นิลวรรณ ปิ่นทอง จึงได้เข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เทียบชั้นเป็นคุณนิลวรรณ ซึ่งหากเธอได้สมรสก็จะเรียกเป็น คุณหญิงนิลวรรณนั่นเอง

นิลวรรณยังคงอุทิศชีวิตของเธอเพื่อวงการหนังสือ นิตยสาร และงานเขียนตลอดช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ ก่อนที่นิลวรรณจะเสียชีวิตในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 รวมอายุได้ 101 ปี

และเนื่องในโอกาสวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิด 107 ปีของนิลวรรณ ปิ่นทอง เราจึงได้เห็นภาพ Google Doodle เป็นรูปตัวการ์ตูนผู้หญิงพร้อมรูปหนังสือ ซึ่งทำให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้ร่วมรำลึกและรู้จักสตรีคนหนึ่งผู้ได้ร่วมผลักดันงานเขียนและการอ่านหนังสือให้เฟื่องฟูนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : 1 2.

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button