ผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

21 มิถุนายน 2565 วันโยคะสากล ภูมิปัญญาล้ำค่าของชาวอินเดีย

21 มิถุนายน 2565 วันโยคะสากล (International Yoga Day) มรดกล้ำค่าจากภูมิปัญญาของชาวอินเดีย ใครเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวศาสตร์แห่งโยคะช่วยคุณได้ และไม่เพียงแค่การฝึนฝนร่างกาย แต่โยคะยังเป็นการรวมสมดุลระหว่างกายและใจเข้าไว้ด้วยกันอีกต่างหาก ซึ่งโยคะนับว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมออกกำลังกายที่ยอดฮิตมาก ๆ ในผู้คนทั่วโลก และในวันนี้ทาง The Thaiger จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับศาสตร์แห่งการยืดเส้นและกล้ามเนื้อที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าพันปี ถ้าพร้อมแล้วตามไปดูกันได้เลย

วันโยคะสากล

21 มิถุนายน 2565 วันโยคะสากล ภูมิปัญญาอินเดีย 5 พันปี ที่ทั่วโลกยอมรับ

ประวัติศาสตร์ โยคะ (Yoga) คืออะไร

โยคะ (Yoga) ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศอินเดียเมื่อ 5,000 ปีก่อน เป็นศาสตร์แห่งการสร้างสมดุลให้แก่ร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ เข้าไว้ด้วยกัน มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับโยคะลงบนเอกสารและวัสดุต่าง ๆ รวมถึงการพูดกันแบบปากต่อปาก ซึ่งนอกจากโยคะจะเป็นศาสตร์ที่มีพื้นฐานเป็นการออกกำลังกายแล้วนั้น การทำท่าโยคะยังถูกผูกเชื่อมเข้าไว้กับความเชื่อในทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอีกด้วย

โดยคำว่า “โยคะ” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “ยุจ” (yuj) ในภาษาสันสกฤต แปลว่า การประกอบหรือการเชื่อมผนึกกัน ซึ่งเป็นการรวม ร่างกาย จิตใจ และลมหายใจ มาผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งนับว่าการทำโยคะเป็นการฝึกสมาธิอย่างหนึ่งก็ว่าได้ แต่โยคะนั้นมีการเคลื่อนไหวร่างกายด้วย เป็นการผสมผสานการฝึกสติและการฝึกร่างกายเข้าไว้ด้วยกัน

ประวัติศาสตร์ของโยคะนั้นพบว่า มีวิธีการฝึกโยคะเกิดขึ้นในหุบเขาอินดัส ซึ่งปัจจุบันน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในประเทศปากีสถาน โดยหลักฐานที่ค้นพบนั้นเป็นไม้แกะสลักและศิลปะรูปปปั้นนูนต่ำที่มีท่าทางของคนที่กำลังทำท่าโยคะอยู่ ซึ่งในภายหลังนักปราชญ์ชาวฮินดูนามว่า “ปตัญชลี” ก็เป็นคนแรกที่นำความรู้ในศาสตร์ของโยคะมาปรับปรุงเป็นแนวทางโยคะขั้นพื้นฐาน พร้อมกับเขียนสูตรการฝึกโยคะไว้ทั้งหมด 8 หัวข้อ ตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตกาล และด้วยผู้ที่นำไปปฏิบัติคนแรกนั้นเป็นผู้ชาย จึงเกิดคำเรียกว่า “โยคิน” หรือ “โยคี” ส่วนผู้ปฏิบัติโยคะเพศหญิงจะเรียกว่า “โยคินี” ส่วนผู้สอนโยคะเรียกว่า “คุรุ” หรือ “ครู”

วันโยคะสากล
ภาพจาก : Ministry of External Affairs, Government of India

โยคะ กับความนิยมในหมู่ชาวตะวันตก

แม้จะเป็นศาสตร์ที่มาจากภูมิปัญญาของชาวอินเดีย แต่ในภายหลังได้มีชาวตะวันตกนำหลักการโยคะแบบ “หฐโยคะ” (Hattha Yoga) มาประยุกต์กับการออกกำลังกาย จึงทำให้ท่าโยคะกลายเป็นหนึ่งในวิธีออกกำลังกายที่นิยมกันเป็นอย่างมากในหมู่ชาวตะวันตก ซึ่งโยคะแบบหฐโยคะนั้นเป็นการบริหารลมปราณไปพร้อมกับการยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ ซึ่งมีผลต่อระบบการไหลเวียนของเลือด ทำให้ร่างกายทำงานสอดคล้องไปพร้อมกับการหายใจ จึงส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

ซึ่งความนิยมของการทำโยคะไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงในหมู่คนท้องถิ่นอย่างชาวอินเดีย หรือชาวตะวันตกแต่เพียงเท่านั้น ด้วยความที่ศาสตร์โยคะนั้นส่งผลดีและมีประโยชน์ต่อทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมเป็นตัวช่วยสร้างสติและสมาธิอย่างดีจึงทำให้ผู้คนทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจการเล่นโยคะมากขึ้นเรื่อย ๆ และในการประชุมสหประชาชาติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 ก็ทำให้ “วันโยคะสากล” ถือกำเนิดขึ้นมา

ในการประชุมดังกล่าวมีสมาชิกร่วมลงมติเห็นชอบกว่า 177 ประเทศทั่วโลก โดยกำหนดให้วันที่ 21 มิถุนายน นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นวันโยคะสากล เพื่อให้ทั่วโลกได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำโยคะที่จะมีประโยชน์ต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ปฏิบัติ ซึ่งวันโยคะสากลจะถือกำเนิดขึ้นมาไม่ได้เลย หากปราศจากบุคคลสำคัญอย่าง “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ที่เป็นผู้ผลักดันให้คนทั่วโลกเห็นความสำคัญของศาสตร์แห่งโยคะ

และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติวันสำคัญอย่าง “วันโยคะสากล” ที่ซึ่งเป็นศาสตร์และศิลป์แห่งการบริหารร่างกาย ลมหายใจ และสมาธิ อีกทั้งยังเป็นวิธีการออกกำลังกายที่ส่งผลประโยชน์ให้กับร่างกายในหลาย ๆ ส่วนอีกด้วย ทั้งช่วยลดน้ำหนัก ช่วยในเรื่องของระบบย่อยอาหาร และลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ดี เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในวิธีออกกำลังกายที่น่านำไปปฏิบัติมาก ๆ สำหรับคนที่สะดวกออกกำลังกายด้วยศาสตร์แห่งโยคะ.

วันโยคะสากล
ภาพจาก : Ministry of External Affairs, Government of India


Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button