วันเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย 24 มิถุนายน 2475 ครบรอบ 90 ปี คณะราษฎรปฏิวัติสยาม
90 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย 24 มิถุนายน 2475 สรุปเหตุการณ์สำคัญการปฏิวัติสยาม โดยกลุ่มคณะราษฎร
วันนี้วันอะไร ศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565 วันเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย ครบรอบ 90 ปี เหตุการณ์การปฏิวัติสยาม โดยกลุ่ม “คณะราษฎร” (อ่านว่า ราดสะดอน) อีกหนึ่งวันสำคัญปรจำเดือนมิถุนายนปีนี้ ที่ในการเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และสุดท้ายก็ได้เปลี่ยนเป็น การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา จวบจนปัจจุบัน
คณะราษฎร ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย 2475 มีใครบ้าง
วันเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย ตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 7 เหตุการณ์เกิดขึ้นโดยกลุ่ม คณะราษฎร หรือสมาคมคณะราษฎร, สโมสรราษฎร์สราญรมย์ คือ กลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนเหตุการณ์ “การปฏิวัติสยาม” โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนี้ทั้งหมด 7 คน ได้แก่
- ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศฝรั่งเศส
- ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส
- ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส
- ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส
- ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
- จรูญ สิงหเสนี ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส
- แนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศอังกฤษ
ซึ่งได้เริ่มต้นประชุมวางแผนปฏิวัติครั้งแรกในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2469 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ณ บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอเมอราร์ (Rue Du Sommerard) มีความตั้งใจที่แน่วแน่ว่าจะต้องการเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้เป็นระบอบประชาธิปไทย ซึ่งวิธีการครั้งนี้ถูกเรียกว่า “การยึดอำนาจโดยฉับพลัน”
สรุปเหตุการณ์เริ่มต้น การปฏิวัติสยาม 2475
หลังจากที่วางแผน และรวมกลุ่มสมาชิกสำหรับปฏิบัติการยึดอำนาจโดยฉับพลัน ในวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยกลุ่มคณะราษฎร ได้ออกประกาศแถลงการที่เรียกว่า “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” ซึ่งกล่าวถึงวัตถุประสงค์ความตั้งใจ ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการกราบบังคมทูลอัญเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนคร มีใจความดังนี้
“คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน”
จากนั้นในวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชหัถเลขาถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร โดยจะขอยกใจความตอนหนึ่งว่า
“…คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนครเป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกัน ทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัยไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริง ข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิดเพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวกฯ”
กระทั่งในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงเสด็จกลับพระนคร และให้บุคคลสำคัญของคณะราษฎรเข้าเฝ้าและพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาธิปไธยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน
และต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัวได้พระราชทาน พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว สำหรับการเป็นบทบัญญัติการปกครองบ้านเมือง และได้พัฒนาไปเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตยไทยจนถึงปัจจุบัน
มรดกจากคณะราษฎร
มรดกจากคณะราษฎร คือสิ่งที่กลุ่มคณะราษฎรได้ร่วมกันจัดตั้ง หรือกระทำบางอย่างเพื่อให้เป็นประโยชน์ และอนุสรจดจำแก่คนรุ่นหลัง โดยมีรายละเอียดดังนี้
- หมุดคณะราษฎร
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- สถาปัตยกรรมคณะราษฎร
อ่านหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎร มีอะไรบ้าง
หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “หลัก 6 ประการ” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยแนวทางการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นบัญญัติพื้นฐานในการสร้างกฎหมายรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา ประกอบด้วยหัวข้อ ได้แก่
- จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
- จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
- จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
- จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
- จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
- จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
อ้างอิง : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, Wikipedia