ผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

รู้จัก หมุดคณะราษฎร เครื่องทรงจำวันอภิวัฒน์สยาม 86 ปี ประชาธิปไตยไม่เต็มใบ

รู้จัก หมุดคณะราษฎร เครื่องหมายย้ำเตือนความทรงจำการปฏิวัติสยาม สัญลักษณ์ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากหมุดคณะราษฎร 2475 เนื่องมาถึง หมุดคณะราษฎร 2563 ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการเมืองการปกครองโดยใช้รัฐธรรมนูญอย่างไร ร่วมทำความรู้จักและรำลึกถึง เนื่องในโอกาสวันสำคัญเดือนมิถุนายน ครบรอบ 90 ปี 24 มิถุนายน 2475 วันอภิวัฒน์สยาม และ 86 ปีนับจากหมุดคณะราษฎรถูกฝัง

เอ่ยถึงชื่อ คณะราษฎร ย่อมต้องนึกถึงวันอภิวัฒน์สยาม วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยสำหรับ หมุดคณะราษฎร สัญลักษณ์สำคัญที่เป็นเครื่องย้ำเตือนวันที่การเมืองการปกครองของสยาม ได้เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จากหมุดคณะราษฎร 2479 สู่หมุดคณะราษฎร 2563 ปัจจุบันหมุดคณะราษฎรและการเมืองไทยอยู่ตรงจุดไหนในแผนที่ ร่วมหาคำตอบไปพร้อม ๆ กับ The Thaiger กันได้เลย

รู้จัก หมุดคณะราษฎร 2479

หมุดคณะราษฎร เป็นหนึ่งในผลงานของกลุ่มคณะราษฎร ทำจากแผ่นทองเหลืองทรงกลมขนาดไม่ใหญ่ที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ของคณะราษฎรต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศ โดยมีข้อความจารึกไว้ว่า “ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ”

โดยหมุดคณะราษฎรดังกล่าวถูกฝังไว้กับพื้นถนนหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 ในตำแหน่งที่หนึ่งในผู้นำคณะราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนา หรือ พจน์ พหลโยธิน ยืนอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 เมื่อช่วงเวลาก่อนพระอาทิตย์ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จะโผล่มาทอแสงบนฟากฟ้า

หมุดคณะราษฎร2479
ภาพจากยูทูบ BRIGHT TV

การเดินทางของหมุดคณะราษฎร 2479

แม้ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่สงสัยว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยนั้น เป็นประชาธิปไตยเต็มใบหรือไม่ เนื่องจากตลอดระยะเวลากว่า 90 ปี นับแต่วันอภิวัฒน์สยาม การเมืองของไทยไม่เคยนิ่ง มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาแล้วกว่า 20 ฉบับ

โดยในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีคำสั่งย้ายหมุดคณะราษฎรออกไปจากจุดที่ถูกฝังไว้ และต่อมาในสมัยที่จอมพล ถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หมุดคณะราษฎร 2475 ถูกย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่สภาผู้แทนราษฎรแทน

และในวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2560 หมุดคณะราษฎรก็ได้หายสาบสูญไปโดยมีใครตอบได้ว่าหมุดนี้หายไปอยู่ที่ใด แต่กลับมีหมุดหน้าใสมาปรากฏอยู่แทนที่โดยอย่างไร้ที่มา โดยมีข้อความบนหมุดที่ถูกอ้างว่าตรงกับคาถาภาษิตในเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ว่า

“ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องคำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง”

รู้จัก หมุดคณะราษฎร
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์รัฐสภา
รู้จัก หมุดคณะราษฎร
ภาพจาก พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

หมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2 ของคณะราษฎร 2563

แต่ในที่สุดการพยายามลบประวัติศาสตร์กลับยิ่งทำให้ผู้คนรับรู้การมีอยู่ของมันมากขึ้น ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2563 หมุดคณะราษฎรที่ 2 ซึ่งเป็นแผ่นทองเหลืองกลม ลักษณะคล้ายหมุดแรก มีรูปมือชูสามนิ้วอยู่กลางหมุด พร้อมข้อความว่า “20 กันยายน 2563 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ผองราษฎร์ได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง” ได้ถูกฝังลงในพื้นที่ท้องสนามหลวง แต่เพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง กองบัญชาการตำรวจนครบาลก็ได้ออกแถลงว่าเป็นผู้ถอนหมุดออกจากสนามหลวง

ปัจจุบันการต่อสู้ทางการเมืองยังคงดำเนินไปอย่างไม่จบสิ้น จนถึงตอนนี้ประเทศไทยต้องพบกับการรัฐประหารมาแล้วกว่า 13 ครั้ง โดยครั้งที่ 13 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดยคณะรักษาความสงบบแห่งชาติ หรือ คสช. ส่งผลให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจจาก นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการรัฐบาลสำเร็จ

อนึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 – ปัจจุบัน รวมทั้งหมด 8 ปี โดยที่สถานการณ์บ้านเมืองในประเทศไทยยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น และไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน รวมถึงสัญลักษณ์ย้ำเตือนความทรงจำถึงกลุ่มบุคคลที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่าง หมุดคณะราษฎร ที่แม้จะเป็นเพียงแผ่นโลหะขนาดไม่ใหญ่มากนัก ก็ยังเปราะบางเกินกว่าจะสามารถตั้งไว้ที่ใดได้

รู้จัก หมุดคณะราษฎร
ภาพจากยูทูบ BRIGHT TV

 

คณะราษฎร 2563
ภาพจากยูทูบ Thai PBS News

อ้างอิงจาก (1) (2)

 

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button