การเงิน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรุงไทย ทางเลือกการลงทุนเพื่ออนาคต

รู้จัก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรุงไทย KTAM Happy Life อีกหนึ่งวิธีการลงทุน ความเสี่ยงต่ำที่จะมอบประโยชน์ให้ตัวคุณในอนาคต มารู้จักกันว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร ผลประโยชน์และสิทธิ กรณีลาออก เสียชีวิต จะต้องติดต่อรับเงินกองทุนอย่างไร รวมถึงกองทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ มาดูคำตอบกัน

KTAM กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรุงไทย

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรุงไทย คืออะไร?

ก่อนจะพาคุณไปรู้จักกับคุณสมบัติพิเศษของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรุงไทย หลายคนคงอยากรู้ว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร?

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้างหรือผู้ประกอบการ และลูกจ้างหรือพนักงาน ตกลงสมัครใจจัดตั้งขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย วัตถุประสงค์หลัก ดังนี้

  • เพื่อเป็นหลักประกันให้พนักงานเมื่อออกจากงานหรือเกษียณ
  • เป็นแรงจูงใจในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อส่งเสริมการออม

โดยพนักงานจะต้องจ่าย “เงินสะสม” เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเป็นจำนวนเงินที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง ส่วนผู้ประกอบการจะต้องจ่ายจะเรียกว่า “เงินสมทบ”

การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อมาควบคุมด้วย โดยต้องมีการทำสัญญาว่าจ้าง จดทะเบียนกองทุน และรายงานผลการดำเนินงานกองทุนเป็นระยะ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรุงไทย มีกี่รูปแบบ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรุงไทย มีด้วยกัน 2 รูปแบบ ดังนี้

  1. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไทยมั่นคง มาสเตอร์ พูล ฟันด์ เน้นการลงทุนผ่านกองทุนรวม
  2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรุงไทย มาสเตอร์ พูล ฟันด์ เน้นการลงทุนตรง

สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรุงไทย ต้องทำอย่างไร

ก่อนสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างสามารถเรียกดูข้อบังคับกองทุนจากคณะกรรมการกองทุนได้ โดยเฉพาะในเรื่องต่อไปนี้

  1. คุณสมบัติของการเป็นสมาชิกกองทุน
  2. อัตราเงินสะสมที่ลูกจ้างส่งเงินเข้ากองทุน: ต้องอยู่ในช่วง 2 – 15% ของค่าจ้าง
  3. อัตราเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายเพิ่มเติมให้ : ต้องอยู่ในช่วง 2 – 15% ของค่าจ้าง
  4. เงื่อนไขต่างๆ เมื่อสิ้นสมาชิกภาพ เช่น เงื่อนไขการลาออกจากกองทุน รูปแบบการรับเงิน เป็นต้น
  5. อื่น ๆ เช่น ระยะเวลาในการจ่ายเงินคืน เป็นต้น

โดยวิธีการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีดังนี้

  1. กรอกใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุน
  2. กรอกข้อมูลในหนังสือแต่งตั้งผู้รับผลประโยชน์ ควรระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์และสัดส่วนเงินที่จะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในกรณีที่สมาชิกเสียชีวิต

นอกจากนี้ผู้สมัครสมาชิกควรจดข้อมูลสำคัญเก็บไว้เผื่อต้องใช้ในอนาคต เช่น เปลี่ยนผู้รับประโยชน์หลังจากแต่งงานและมีบุตร เป็นคู่สมรสหรือบุตร-ธิดา แทนพ่อแม่ เป็นต้น

สิ่งที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพควรรู้

  1. สมาชิกกองทุนควรติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน โดยสามารถขอดูข้อมูลได้จากคณะกรรมการกองทุน ประชาสัมพันธ์ของบริษัท หรือใบแจ้งยอดเงินสมาชิกกองทุนราย 6 เดือน
  2. เปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยตรวจสอบจากใบแจ้งยอดเงินสมาชิกกองทุนราย 6 เดือน
  3. วิธีคิดคำนวณ อัตราผลตอบแทนสะสม ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

    กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรุงไทย
    ภาพจาก smarttrade.ktam.co.th

การสิ้นสุดการเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นอีกสิ่งที่สมาชิกกองทุนควรศึกษาไว้เพื่อขอรับเงินกองทุนจากคณะกรรมการกองทุน โดยสามารถเกิดได้หลายกรณี ดังนี้

1. กรณีสมาชิกเกษียณอายุ/ออกจากงาน

ให้สมาชิกติดต่อคณะกรรมการกองทุนเพื่อแจ้งการสิ้นสุดเป็นสมาชิก พร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้บริษัท จากนั้นบริษัทจัดการจะดำเนินการส่งเงินให้สมาชิกโดยตรงหรือผ่านคณะกรรมการกองทุน

2. กรณีโอนย้ายกองทุน

ให้สมาชิกติดต่อคณะกรรมการกองทุนเพื่อแจ้งย้ายไปกองทุนอื่น หลังจากนั้นคณะกรรมการกองทุนจะแจ้งให้บริษัททราบพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทอาจส่งเงินคืนให้สมาชิก เพื่อให้นำไปมอบแก่บริษัทรายใหม่ด้วยตัวเอง หรือดำเนินเรื่องส่งเงินต่อให้บริษัทรายใหม่โดยตรง

3. กรณีสมาชิกเสียชีวิต

ผู้รับผลประโยชน์ที่สมาชิกระบุชื่อ ต้องติดต่อคณะกรรมการกองทุนเพื่อแจ้งบริษัทให้ทราบพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้น บริษัทจะดำเนินการออกเช็คในนามผู้รับผลประโยชน์ตามที่สมาชิกได้ระบุไว้ กรณีที่ไม่ได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ไว้ บริษัทจะจ่ายให้บุตร สามีหรือภริยา และบิดามารดา ตามลำดับ

โดยสมาชิกจะได้รับเงินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นสมาชิก หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่ได้รับเงิน สมาชิกรวมถึงผู้รับผลประโยชน์ ควรติดต่อไปยังคณะกรรมการกองทุนหรือบริษัทจัดการ สมาชิกจะได้รับเงิน 2 ส่วน ดังนี้

1. เงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม : สมาชิกต้องได้รับทั้งจำนวน
2. เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ : สมาชิกจะได้รับตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน

ประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรุงไทย

ประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับนายจ้าง

  • เพิ่มแรงจูงใจให้กับพนักงานในการทำงาน
  • เป็นสวัสดิการที่ดีให้กับพนักงาน
  • นายจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จากเงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุน โดยสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้

ประโยชน์สำหรับลูกจ้าง / พนักงาน ที่เป็นสมาชิกกองทุน

– เสมือนได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายให้

– เป็นสวัสดิการเงินได้ที่เพิ่มขึ้นเมื่อออกจากงานหรือเกษียณอายุ

– เป็นหลักประกันให้กับชีวิตและครอบครัวกรณีทุพพลภาพหรือเสียชีวิต

– เงินกองทุนได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ทั้งนี้เมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพทุกกรณี จะได้รับเงินสะสม และผลประโยชน์เงินสะสมเต็มจำนวน และอยู่นอกเหนือเหตุแห่งการบังคับคดีทั้งปวง

– เป็นโอกาสออมเงินให้กับตนเองและครอบครัว

– เงินออมอยู่ภายใต้การบริหารของมืออาชีพ

– สามารถนำเงินสะสมไปลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี

– รายได้จากการลงทุนได้รับการยกเว้นไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

– เมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพ เงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนำไปลดหย่อน หรือยกเว้นภาษีเงินได้ ตามเหตุของการสิ้นสุดสมาชิกภาพ เช่น ลาออกจากงานโดย ณ วันที่ลาออกมีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จะได้รับสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี หากไม่ถึง 5 ปีก็อาจไม่ได้รับสิทธิ์ส่วนนี้ หรือกรณีลาออกจากงานเมื่ออายุตัว 55 ปี บริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน เป็นต้น

หากสนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ smarttrade.ktam.co.th หรือโทร 0-2686-6100 กด 9 ต่างจังหวัดโทรฟรี 1-800-295-592

อ้างอิงจาก (1)

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button