ผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

วันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม 2565 รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ไทย

4 พฤษภาคม 2565 วันฉัตรมงคล คือ วันที่เราจะได้รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย ที่มีการจัดพิธีดังกล่าวมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยในวันฉัตรมงคลของทุกปีนั้น ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทั้งหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน และสถาบันการเงินหรือธนาคาร ต่างถือว่าวันนี้เป็นวันหยุดทำการ

วันนี้ทาง The Thaiger จะพาทุกคนไปทำความรู้จักประวัติที่มา และความสำคัญของวันฉัตรมงคล วันที่ประชาชนชาวไทยทุกคนจะได้รำลึกถึง พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร วันที่เป็นหมุดหมายสำคัญว่าประเทศไทยของเรานั้นได้มีพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ปกครองประเทศให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขมาตั้งแต่ในสมัยอดีตกาล

4 พฤษภาคม 2565 วันฉัตรมงคล วันที่จะมีพระมหากษัตริย์หรือพระผู้เป็นเจ้าเกิดขึ้นอีกพระองค์หนึ่งแล้ว

ประวัติวันฉัตรมงคล หรือวันพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร

วันฉัตรมงคล หรือในชื่อภาษาอังกฤษ Coronation Day หากดูความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 จะหมายถึง “วันประกอบพระราชพิธีสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษก ในรัชกาลปัจจุบันตรงกับวันที่ ๕ พฤษภาคม

ซึ่งในปัจจุบันวันฉัตรมงคลนั้นจะตรงกับวันบรมราชาภิเษกของ “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10)” นั่นก็คือวันที่ 4 พฤษภาคม โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวงรัชกาลที่ 10 นั้น จัดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ดังนั้นจึงนับวันดังกล่าวเป็นวันฉัตรมงคลในปีถัดไป

โดยพิธีบรมราชาภิเษกนั้นเป็นพิธีในการสถาปนากษัตริย์ไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีมาแต่โบราณ แต่จะแตกต่างกันที่ขั้นตอนในการทำพิธี ขึ้นอยู่กับแต่ละยุคสมัย

4 พฤษภาคม 2565 วันฉัตรมงคล
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒

ประวัติศาสตร์ ของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับว่าเป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดต่อกันมาช้านาน โดยได้รับอิทธิพลการจัดพิธีมาจากคติอินเดีย ซึ่งของไทยเรานั้นได้รวมความฮินดูและพุทธไว้ในพิธีดังกล่าว ลักษณะและรายละเอียดของพระราชพิธีแต่เดิมเป็นอย่างไรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด

แต่จากจารึกวัดศรีชุม ที่กล่าวถึงการอภิเษกของพ่อขุนบางกลางหาวจากพ่อขุนผาเมือง ให้เป็นกษัตริย์ปกครองกรุงสุโขทัยโดยใช้พระนามว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” จึงอาจกล่าวได้ว่าพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ไทยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 18 แล้ว ซึ่งวัตถุประสงค์ที่จัดพิธีนี้ขึ้นก็เพื่อ “ป่าวประกาศให้เหล่าเทวดาฟ้าดินรับรู้ว่า บัดนี้จะมีพระมหากษัตริย์หรือพระผู้เป็นเจ้าเกิดขึ้นอีกพระองค์หนึ่งแล้ว

4 พฤษภาคม 2565 วันฉัตรมงคล
ภาพจาก : เว็บไซต์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ประวัติ วันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คืออะไร ทำไมเรียก ‘วันฉัตรมงคล’

สืบเนื่องมาจากรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่จัดพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค ฉลองสิริราชสมบัติเนื่องในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก ซึ่งตามธรรมเนียมเดิมเจ้าพนักงานทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระราชนิเวศน์ จะทำพิธีสมโภชเป็นการภายใน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ ปีกุนตรีศก จ.ศ. 1213 ตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 นั้น ตรงกับเดือนที่เจ้าพนักงานทำพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกและพระราชทานชื่อว่า “ฉัตรมงคล” โดยจัดการพระราชพิธีในเดือน 6 ขึ้น 13 14 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ รวม 4 วัน

ต่อมาในแต่ละรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ไทย “วันฉัตรมงคล” ก็ถูกจัดขึ้นในวันที่แตกต่างกัน แต่จะตรงกับวันที่จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์แต่ละพระองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ดังนั้นวันฉัตรมงคลในปัจจุบันจึงตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี

4 พฤษภาคม 2565 วันฉัตรมงคล
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม นับว่าเป็นอีกวันหนึ่งที่สำคัญของปวงชนชาวไทย เป็นวันที่เราจะได้รำลึกถึงการสถาปนาพระมหากษัตริย์ไทยในแต่ละยุคสมัย และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงปกครองแผ่นดินไทยโดยธรรมและทำให้ประชาชนคนไทยอยู่เย็นเป็นสุขมาโดยตลอด

สรุปแล้ว วันฉัตรมงคล 2565 หยุดไหม ข้าราชการ ธนาคาร พนักงานเอกชน หยุดรึเปล่า

สำหรับ วันฉัตรมงคล พุธที่ 4 พฤษภาคม 2565 ถือว่าเป็นวันหยุดราชการ ได้หยุดทั้งข้าราชการและหน่วยงานเอกชน อีกทั้งยังถือว่าเป็นวันหยุดธนาคาร ตามประกาศวันหยุดตามประเพณีของสถาบันการเงิน ประจำปี พ.ศ. 2565

อ้างอิง : 1 2

เรื่อง : โมทนา ม่วงเตี้ย
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล


Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button