ผู้ชายผู้หญิงไลฟ์สไตล์

เปิดประวัติ วัฒน์ วรรลยางกูร เสรีชนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา

จากกรณี วัฒน์ วรรลยางกูร เสียชีวิต ขอพาไปย้อนรอย ประวัติ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา ผู้ลี้ภัยจากคดีอาญามาตรา 112 เด็กรุ่นใหม่หลายคนอาจจะไม่คุ้นหูชื่อนักเขียนคนนี้มากนัก แต่หากกล่าวถึงเรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” หลาย ๆ คนคงร้องอ๋อ เพราะ วัฒน์ วรรลยางกูร คือเจ้าของผลงานเรื่องดังกล่าวในฉบับนวนิยาย นอกจากนี้ วัฒน์ ยังเป็นกวีและที่ปรึกษาสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทยอีกด้วย

เรื่องราวชีวิตของเขาเต็มไปด้วยภาพของเสรีชน นับตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลา ที่เราคุ้นเคยกันดี จนกระทั่งในปัจจุบันที่เขาต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ในวันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักนักเขียนท่านนี้กันให้มากขึ้น เพื่อรำลึกถึงผลงานและวีรกรรมที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งเสรีชนของ วัฒน์ วรรลยางกูร

วัฒน์ วรรลยางกูร
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Chamaiporn Bangkombang

เปิดประวัติ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียน กวี และเสรีชน เจ้าของรางวัลศรีบูรพา

 

ประวัติ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียน กวี และเสรีชน

วัฒน์ วรรลยางกูร เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2498 วัฒน์เป็นนักเขียนชาวไทย ที่ปรึกษาสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย และสมาชิกสมาคมนักประชาธิปไตยไร้พรมแดน

เขาเกิดที่จังหวัดลพบุรี อำเภอเมือง ตำบลตลุง เป็นลูกชายขอ งนายวิรัตน์ วรรลยางกูร และ นางบุญส่ง วรรลยางกูร ปัจจุบันเขาสมรสกับ นางอัศนา วรรลยางกูล และมีลูกด้วยกัน 3 คน ได้แก่ นายวนะ วรรลยางกูร นายวสุ วรรลยางกูร และนางสาววจนา วรรลยางกูร

ในด้านการศึกษา วัฒน์ เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ณ โรงเรียนประชาบาลวัดดาวเรือง จังหวัดปทุมธานี เมื่อปี พ.ศ. 2505 และในช่วงปี พ.ศ. 2514 เขาก็ได้เข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จังหวัดลพบุรี และในช่วงนี้เองที่เขาเริ่มมีความสนใจในด้านการประพันธ์อย่างจริงจัง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 เขาได้เข้าศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ร่ำเรียนอยู่ได้เพียง 2 เดือน เขาก็ลาออกแล้วหันไปทำงานด้านหนังสือพิมพ์อย่างจริงจัง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2546 วัฒน์ วรรลยางกูร ก็ได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

เส้นทางสู่การเป็นยอดกวีของ วัฒน์ วรรลยางกูร

จิตวิญญาณการเป็นนักประพันธ์ของวัฒน์ เริ่มมาจากการเขียนกลอนรักให้เพื่อนนักเรียนหญิง และด้วยความที่ชีวิตของเขาคลุกคลีกับหนังสือและงานเขียนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้ในช่วงสมัยเรียนหนังสือ วัฒน์ ได้ปล่อยผลงานงานเขียนด้วยลายมือออกมาเพื่ออ่านกันในห้องเรียน

นอกจากนี้เขายังได้ฝากฝีมือการเขียนลงในหนังสือของโรงเรียนโดยใช้นามปากกาว่า “วัฒนู บ้านทุ่ง” อีกด้วย นอกจากนี้เขายังได้ส่งผลงานของตนเองไปยังนิตยสารชัยพฤกษ์ ฟ้าเมืองไทย และอีกหลาย ๆ สำนัก ซึ่งมีทั้งผลงานกลอนและผลงานเรื่องสั้น

ระหว่างที่เรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มีโอกาสรู้จักกับมิตรสหายในแผนกวรรณศิลป์ วัฒน์ได้รู้จักกับนักเขียนนักกิจกรรมหลายคน และได้รับคำแนะนำให้ไปทำหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2517 เขาจึงได้ฝึกฝนเขียนข่าว บทความ สารคดี เรื่องสั้นและนวนิยายเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะได้เขียนคอลัมน์ประจำชื่อ “ช่อมะกอก” ใช้นามปากกา “ชื่นชอบ ชายบ่าด้าน” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นเรื่องชุดในชื่อ “ตำบลช่อมะกอก” และกลายเป็นนวนิยายเรื่อง “ตำบลช่อมะกอก” ในที่สุด รวมทั้งมีผลงานรวมเรื่องสั้นและบทกวีพิมพ์ต่อเนื่องมาอีก 2 เล่ม คือ “นกพิราบสีขาว” (พ.ศ. 2518) และ “กลั่นจากสายเลือด” (พ.ศ. 2519) ทำให้ชื่อเสียงของวัฒน์ วรรลยางกูร เป็นที่รู้จักของคนหนุ่มสาวเดือนตุลา (14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519) อย่างกว้างขวาง

ชีวิตของ วัฒน์ วรรลยางกูร หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา

ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัววัฒน์เองก็ได้มีส่วนในการร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย และจุดนี้เองที่ทำให้เขาต้องลี้ภัยหนีเข้าป่าไป

วัฒน์ใช้โอกาสที่ได้หลบหนีเข้าป่าในครั้งนี้ เขียนทั้งเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยายออกมามากมาย กระทั่งมีผลงานรวมเล่มออกมา 3 เล่ม เป็นรวมเรื่องสั้นและบทกวี 2 เล่ม ได้แก่ ข้าวแค้น (พ.ศ. 2522) และ น้ำผึ้งไพร (พ.ศ. 2523) และเล่มที่ 3 เป็นนวนิยายชื่อเรื่องว่า “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” (พ.ศ. 2524)

หลังจากเหตุการณ์ทางการเมืองสงบลง วัฒน์ก็ได้ออกมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยเขาได้ทำงานเป็นนักเขียนหนังสือพิมพ์มาตุภูมิ ไฮคลาส และถนนหนังสือ จนกระทั่งลาออกมาเป็นนักเขียนอิสระ มีผลงานนวนิยายตีพิมพ์เป็นรายปักษ์ลงในนิตยสารลลนา 2 เรื่อง ได้แก่ “คือรักและหวัง” และ “จิ้งหรีดกับดวงดาว”

ในปี พ.ศ. 2525 เรื่องสั้นชื่อ “ความฝันวันประหาร” ของวัฒน์ได้รับเลือกจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยให้เป็นเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี และในปี พ.ศ. 2550 นักเขียนชื่อวัฒน์ก็ได้รับรางวัลศรีบูรพา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ก็เป็นจุดพลิกชีวิตของเขา เมื่อวัฒน์ต้องเดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังจากถูกออกหมายจับในข้อหาตามประมวลอาญามาตรา 112 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการจัดแสดงละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” สุดท้ายแล้วเขาต้องลี้ภัยไปอยู่ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2562

วัฒน์ วรรลยางกูร

แม้ในวันนี้ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียน กวี เจ้าของรางวัลศรีบูรพาจะลาจากโลกใบนี้ไปแล้ว แต่ผลงาน อุดมการณ์ และจิตวิญญาณแห่งเสรีชนของเขา จะยังคงถูกจารึกไว้ในใจของนักประชาธิปไตยทุก ๆ คน ทางทีมงาน The Thaiger ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ วัฒน์ วรรลยางกูร มา ณ โอกาสนี้


Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button