การเงิน

เช็คเงินประกันรายได้ข้าว 64/65 งวดแรก ได้เงินส่วนต่างข้าวกี่บาท

เช็คเงินประกันรายได้ข้าว 64/65 งวดแรก ได้เงินส่วนต่างข้าวกี่บาท ‘ธ.ก.ส.’ โอนเงินภายใน 3 วัน นับจากวันเคาะ ประกันราคาข้าว

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบหลักการ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ตามมติ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) รวมวงเงินทั้งสิ้น 54,972,72 ล้านบาท โดยจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยล่าสุด ได้เปิดให้มีการเช็คสิทธิแล้วที่เว็บไซต์ chongkho.inbaac.com

ขั้นตอนการเช็คสิทธิเงินช่วยเหลือชาวนา

  • กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมกดค้นหา
  • ผู้ที่ได้รับเงิน ระบบจะขึ้นข้อมูลว่า “โอนเงินเรียบร้อยแล้ว” โดยจะแสดงชื่อโครงการ, เลขที่บัญชี, วันที่โอน, สาขา ธ.ก.ส. และสถานะ

เงื่อนไขจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา : จ่ายเงินเยียวยาให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไร่ละ 1,000 บาท จำกัดไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน หรือไม่เกิน 20,000 บาท

ประกันรายได้ข้าว 64/65 งวด 1 เคาะจ่ายเงินวันที่ 9 พ.ย. 64 – อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันรายได้ข้าว
ภาพ : chongkho.inbaac.com

ขณะที่ความคืบหน้าของการจ่ายเงินประกันรายได้ข้าว 64/65 งวดแรก ภายหลังจาก นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการ “ประกันรายได้เกษตรกร” ผู้ปลูกข้าว ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และรายละเอียดการจ่ายชดเชยตามโครงการประกันรายได้ข้าว ปีการผลิต 2564/65 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 มติที่ประชุมเห็นชอบให้คงหลักการการกำหนดผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ แหล่งที่มาของราคา และการคำนวณราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเช่นเดียวกับโครงการ “ประกันรายได้” ปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยการคิดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงจะเฉลี่ยมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่

  • ราคาข้าวเปลือกที่กรมการค้าภายในสืบ
  • ราคาข้าวเปลือกจากสมาคมโรงสี
  • ราคาข้าวเปลือกที่คำนวณจากราคาข้าวสาร

สำหรับการคำนวณราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง จะใช้ราคารายวันย้อนหลัง 7 วัน จากทั้ง 3 แหล่งมาเฉลี่ย เพื่อให้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงที่ได้เป็นปัจจุบัน และที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงงวดที่ 1 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2564 จะใช้ราคาเฉลี่ยย้อนหลังระหว่างวันที่ 5-14 ตุลาคม 2564 โดยได้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและชดเชยส่วนต่างข้าวแต่ละชนิด ดังนี้

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ 10,864.23 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 4,135.77 บาท
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 10,407.75 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 3,595.25 บาท
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 9,947.87 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 1,052.13 บาท
  • ข้าวเปลือกเจ้า 8,065.38 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 1,934.62 บาท
  • ข้าวเปลือกเหนียว 7,662.53 บาท/ตัน ชดเชยตันละ 4,337.47 บาท

ทั้งนี้ โครงการประกันรายได้ได้กำหนดราคาประกันที่ความชื้นที่ 15% เรียกข้าวแห้ง แต่ปัจจุบันเกษตรกรจะเกี่ยวสดและนำไปจำหน่าย ซึ่งจะมีความชื้นสูง ประมาณ 28% -30% เรียกข้าวเปียก เมื่อหักความชื้นตามน้ำหนักไปแล้วก็จะได้ราคาที่ใกล้เคียงกัน เช่น ข้าวเปลือกเจ้า เกษตรกรจำหน่ายได้ 6,200-6,400 บาท/ตัน เมื่อหักความชื้นแล้วก็จะเป็นข้าวแห้งที่ประมาณ 8,000-8,100 บาท/ตัน

โดยโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้ประกันราคาข้าวเปลือก 5 ชนิด ได้แก่

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกิน 14 ตัน
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน
  • ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน
  • ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน

สำหรับการโอนเงินส่วนต่างงวดแรกตามโครงการประกันรายได้ปี 2564/65 ธ.ก.ส. จะดำเนินการได้ภายหลังจาก ครม. ได้รับทราบผลการหารือเกี่ยวกับอัตราต้นทุนเงินของ ธ.ก.ส. ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และ ธ.ก.ส. ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ซึ่งกรมการค้าภายในได้จัดให้มีการหารือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 และจะได้นำเสนอในการประชุม ครม. เพื่อรับทราบในสัปดาห์หน้า

โดยการจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ในปีที่ 3 ก็คงหลักการเช่นเดิม โดย ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าไปยังบัญชีของเกษตรกรภายใน 3 วันทำการหลังจากที่ได้มีการประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเช่นเดียวกับปี 1 และปี 2

ขณะที่ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง งวดที่ 2 (เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 15-21 ตุลาคม 2564) และงวดที่ 3 (เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 22-28 ตุลาคม 2564) คณะอนุกรรมการฯ ยังไม่มีมติเห็นชอบ โดยจะได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งในวันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2564 และเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติแล้ว กรมการค้าภายในจะได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับทราบผ่านสื่อต่างๆ และเสียงตามสายในพื้นที่ให้เกษตรกรได้รับทราบโดยทั่วกันต่อไป

อ้างอิงข้อมูล : กรมการค้าภายใน

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button