ข่าวข่าวการเมือง

วิจารณ์ยับ หนังสือเรียนภาษาไทย ม.3 โยงการเมือง ปมเผด็จการที่ผู้นำมีคุณธรรมประจำใจ

สมชายจะเลือกอะไร ? โลกโซเชียลถล่มคำวิจารณ์หลังโผล่หนังสือเรียนภาษาไทย ยกตัวอย่างประโยคโยงการเมือง เลือกประชาธิปไตยที่ทุจริตคอร์รัปชัน หรือ เผด็จการที่ผู้นำมีคุณธรรมประจำใจ

วันที่ 6 ต.ค.64 โลกออนไลน์ต่างพากันแชร์ข้อมูล หนังสือเรียนภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 เล่มหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาที่ผิดแปลกจนน่าสงสัยว่าจะเป็นการโยงเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ โดยในเนื้อหาของหนังสือเป็นการสอนเรื่องหลักภาษาและการใช้ภาษา ในหัวข้อประโยครวมที่ซับซ้อน มีส่วนประกอบเป็นประโยคซ้อน โดยมีประโยคตัวอย่างคือ “สมชายจะเลือกประชาธิปไตยที่นักการเมืองทุจริตคอร์รัปชัน หรือเลือกเผด็จการที่ผู้นำมีคุณธรรมประจำใจ”

ภายหลังเมื่อถูกแชร์ส่งต่อกันบนโลกออนไลน์ ชาวเน็ตหลายคนต่างพากันวิจารณ์พร้อมกับตั้งข้อสงสัยว่า นี่เป็นแบบเรียนของวิชาภาษาไทยในปัจจุบันจริงๆหรือ อาทิ เฟซบุ๊กเพจ ความคิดเสียงดัง ได้โพสต์ภาพของแบบเรียนดังกล่าว พร้อมกับข้อความตั้งคำถามว่า สาระในเนื้อความของประโยค ตั้งใจสอดแทรกการบิดเบือนเชิงคุณธรรม และค่านิยมที่ไม่ปกติ เด็กเรียนหนังสือด้วยชุดความคิดที่เป็นอันตราย อนาคตของชาติกำลังถูกปลูกฝังด้วยตรรกะบิดเบี้ยว โดยที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปแก้ไข หรือแตะต้องให้สิ่งที่เด็กเรียนรู้อยู่ในค่านิยมที่ถูกต้องได้เลยหรือ?

ด้าน วิโรจน์ ลักขณาดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล แสดงคมาเห็นผ่านบัญชีทวิตเตอร์ว่า “บทเรียนล้าหลังขวางโลก ที่อวยเผด็จการ และใส่ร้ายว่าประชาธิปไตย ว่าเป็นการคอร์รัปชั่นแบบนี้ อย่าหาทำเลยครับ”

ขณะที่เฟซบุ๊กเพจ วาดหวังหนังสือ ซึ่งเคยถูก กระทรวงศึกษาธิการสั่งตรวจสอบเรื่องหนังสือนิทานภาพที่ชื่อ “10 ราษฎร” ก็ออกมาร่วมแสดงความเห็นกับประเด็นนี้ว่า “เผด็จการที่ผู้นำมีคุณธรรมประจำใจ” ในแบบเรียน ? ได้ตรวจสอบมั้ยคะ ? ขณะที่ออกมาไล่บี้ #นิทานวาดหวัง ที่ไม่ได้บังคับซื้อ บังคับอ่าน ไม่ได้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนใดๆ ทั้งสิ้น และ “ผู้ที่มีคุณธรรมประจำใจ” ไม่เป็นเผด็จการ แน่นอน

ตรรกะค่ะ ตรรกะ อยู่หนใด?

อ้างอิงจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุว่า รายละเอียดของหนังสือเรียนภาษาไทยเล่มนี้เป็นหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย หลักภาษาและการใช้ภาษา ระดับชั้น ม.3 ฉบับอนุญาต (อญ.) ตรงตามหลักสูตรแกนกลาง ’51 แต่งโดย ฟองจันทร์ สุขยิ่ง และคณะสำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ ครอบคลุมตัวชี้วัดในสาระการเรียนรู้แกนกลางสาระฯ ที่ 1-4 เน้นพัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน การฟัง ดู พูด และหลักภาษา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติทักษะทางภาษาได้จริง มีตัวอย่างประกอบหลากหลาย ชัดเจน มีรูปแบบการนำเสนอที่ช่วยกระตุ้นความสนใจ ทำให้จดจำประเด็นสำคัญหรือประเด็นที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม :

 

 

 

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button