ซากลูกเสือเขี้ยวดาบ อายุ 35,000 ปี ขนยังอยู่ครบ-สภาพเกือบสมบูรณ์
ทั่วโลกแตกตื่น นักบรรพชีวินวิทยา พบซาก ‘ลูกเสือเขี้ยวดาบ’ อายุ 35,000 ปี ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ขนยังอยู่ครบ หลักฐานชั้นดี ชี้ให้เห็นการดำรงชีวิตของสัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 สำนักข่าวต่างประเทศ CNN เปิดเผยว่า นักบรรพชีวินวิทยาค้นพบซากของ “ลูกเสือเขี้ยวดาบ” อายุ 35,000 ปี ที่ไซบีเรีย ที่ยังคงอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ซึ่งเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้น และสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาด้านวิวัฒนาการของสัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ซากลูกเสือเขี้ยวดาบถูกพบในชั้นดินเยือกแข็งคงตัว ที่ภูมิภาคยาคูเตีย ประเทศรัสเซีย คาดว่า มีอายุประมาณ 3 สัปดาห์ ในขณะที่เสียชีวิต เมื่อประมาณ 35,000 ปีก่อน ซากดังกล่าวยังคงสภาพเกือบสมบูรณ์ รวมถึงยังมีขนสีน้ำตาลที่หนานุ่ม ความยาวราว ๆ 20-30 มิลลิเมตร และมีอุ้งเท้าที่ยังคงรูปร่างไว้อย่างชัดเจน
การค้นพบครั้งนี้ ถือเป็นหลักฐานแรกของ Homotherium latidens หรือ เสือเขี้ยวดาบ ในแถบเอเชีย ซึ่งข้อมูลทางพันธุกรรม ของซากจะช่วยให้นักวิจัยสามารถทำความเข้าใจวิถีชีวิต การดำรงชีวิต และการออกล่าของสัตว์สายพันธุ์นี้ได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับลูกสิงโตในยุคปัจจุบัน จะพบว่า มัมมี่ลูกเสือเขี้ยวดาบมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น มีขนสีเข้มกว่า หูเล็กกว่า และมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับฟันหน้าขนาดใหญ่ ซึ่งแต่น่าเศร้าที่มันไม่มีโอกาสได้เติบโตจนมีฟันขึ้น
แมมมอธขนยาว ตัวสลอธยักษ์ และเสือเขี้ยวดาบ ล้วนเป็นสัตว์ที่อยู่ร่วมยุคกับมนุษย์ยุคแรก แต่ปัจจุบันนักวิจัยทำได้เพียงค้นหาฟอสซิล เพื่อไขปริศนาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตยุคก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้ รวมถึงสืบหาถึงสาเหตุของการสูญพันธุ์ของสัตว์ยุคน้ำแข็ง ในอดีต
ดังนั้น การค้นพบซากลูกเสือเขี้ยวดาบในครั้งนี้ จึงถือเป็น “กุญแจสำคัญ” ที่จะช่วยไขความลับแห่งโลกยุคโบราณให้กระจ่างขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อายุ 225 ล้านปี! ค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์แห่งใหม่ในไทย ที่เพชรบูรณ์
- ฮือฮา พบซากปลาดึกดำบรรพ์ ฉายาไดโนเสาร์มีชีวิต จ.มุกดาหาร อายุ 393 ล้านปี
- นักโบราณคดี อ้าง ‘พีระมิดเก่าแก่ที่สุดในโลก’ อายุ 25,000 ปี ไม่ใช่ฝีมือมนุษย์