การเงินเศรษฐกิจ

วิธีต่อประกันสังคม ‘ม.33’ หลังเกษียณอายุ 55 ปี เช็กเงื่อนไข-สิทธิคุ้มครอง

เปิดขั้นตอนการต่อประกันสังคม สำหรับ ‘ผู้ประกันตนมาตรา 33’ หลังเกษียนอายุ 55 ปีขึ้นไป พร้อมเช็กเงื่อนไข และสิทธิความคุ้มครอง

วันนี้ (20 มีนาคม 2567) สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน – Social Security Office ได้ตอบข้อสงสัยของประชาชน ผู้ประกันตนมาตรา 33 เกี่ยวกับ การต่อประกันสังคม หลังเกษียณอายุ 55 ปีขึ้นไป โดยได้เผยว่า ประชาชนยังคงต่อประกันสังคมได้เช่นเดิม เพียงแต่จะต้องสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ (มาตรา 39) ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับจากวันที่เกษียณอายุ และมีข้อกำหนดว่าจะต้องจ่ายเงินสมทบ 432 บาทต่อเดือน เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ต่อไป

สำหรับเงื่อนไขของผู้สมัคร สิทธิที่จะได้รับ รวมถึงวิธีการสมัครและเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ มีรายละเอียดเป็นดังนี้

ผู้ประกันตน ม.33 เกษียณอายุ

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิ

เงื่อนไขสำหรับผู้เกษียณอายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งจะสามารถต่อประกันสังคมในรูปแบบการย้ายจากมาตรา 33 เป็นมาตรา 39 นั้น มีดังนี้

1. เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง

2. จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน (นับเงินสมทบทุกครั้งของการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา33 ในระบบประกันสังคมรวมกันจะทำงานกับนายจ้างกี่บริษัทก็ตาม)

3. ยื่นแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา39 ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง

สิทธิที่จะได้รับ

ในส่วนของสิทธิความคุ้มครองที่ผู้ประกันตนจะได้รับ มีทั้งหมด 6 กรณี ได้แก่

1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย

2. กรณีคลอดบุตร

3. กรณีทุพพลภาพ

4. กรณีเสียชีวิต

5. กรณีสงเคราะห์บุตร

6. กรณีชราภาพ

คำถามเกี่ยวกับากรต่อประกันสังคม หลังเกษียณ 55 ปี
ภาพจาก : สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน – Social Security Office

การยื่นใบสมัคร

ประชาชนทุกท่านจะต้องเตรียมเอกสารการสมัครมายื่นเรื่องตามสถานที่ดังนี้

1. ต้องยื่นใบสมัครตามแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส. 1-20) ด้วยตนเอง ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน

2. สถานที่ยื่นใบสมัคร ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ / จังหวัด / สาขา (ยกเว้นสำนักงานใหญ่บริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

เอกสารการสมัคร

ประชาชนที่เกษียณอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป จำเป็นจะต้องเตรียมเอกสารทั้งหมด 3 ประเภท สำหรับนำมายื่นดำเนินการสัมครที่สำนักงานประกันสังคม

1. แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1-20)

2. บัตรประชาชนตัวจริงหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้

3. กรณีต้องการนำส่งเงินสมทบหักผ่านบัญชีธนาคารให้ถ่ายสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชี ของผู้ประกันตน

ช่องทางติดต่อประกันสังคม
ภาพจาก : สำนักงานประกันสังคม

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย ประชาชนทุกท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคมได้ทาง www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 เปิดให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button