ข่าว

อ.เจษฎา ยืนยัน ‘ไข้นกแก้ว’ ไม่ใช่ ‘ไข้หวัดนก’ ยังไม่พบในไทย

ดร.เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์ฯ ชี้แจงละเอียดยิบ “โรคไข้นกแก้ว” ต่างจาก ไข้หวัดนก” โดยสิ้นเชิง ยืนยันยังไม่มีการละบาดในประเทศไทย เตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนก

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกมาประกาศเตือนการแพร่ระบาดของ “โรคไข้นกแก้ว (Psittacosis)” ซึ่งเผยแพร่มาจากสัตว์ปีกในป่า หากได้สัมผัสของเสียจากนกที่มีเชื้อ จะได้ให้ล้มป่วยลง จนมีข้อมูลการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้นกแก้วได้แล้ว 5 รายจากหลายประเทศแถบยุโรป

ล่าสุด ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ความรู้ในเรื่องของการแพร่เชื้อแบคทีเรียชนิด Chlamydia psittaci ให้ทุกคนได้ทราบอย่างละเอียด ผ่านทางหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว Jessada Denduangboripant โดยเป็นการตอบคำถามของคนส่วนใหญ่ที่ต่างก็เป็นกังวลว่าโรคชนิดนี้จะร้ายแรงเหมือน “โรคไข้หวัดนก” ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้

อ.เจษฎา เผยว่า โรคทั้งสองชนิดเกิดจากเชื้อโรคคนละตัวกัน และระดับของความอันตรายของผู้ป่วยก็มีไม่เท่ากัน ทำให้ ไข้นกแก้ว กับ ไข้หวัดนก ไม่ใช่โรคเดียวกัน ซึ่งความแตกต่างมีดังนี้

  • โรคไข้นกแก้ว นั้นมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Psittacosis (ซิตตาโคซิส) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
  • โรคไข้หวัดนก มีชื่อว่า avian influenza (หรือ bird flu) เกิดจากเชื้อไวรัส สายพันธุ์ย่อยของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza) มีอัตราการเสียชีวิตสูง ผู้ป่วยต้องได้รับยาต้านไวรัสให้ทันเวลา

ทั้งนี้อาจารย์ยังได้ให้ความรู้เพิ่มเติมอีกว่า โรคซิตตาโคซิส ไม่ได้แพร่กระจายจากคนสู่คน แม้ว่าจะเคยมีเคสที่หาได้ยากเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่ามีการแพร่เชื้อแบคทีเรียก่อโรคผ่านการเตรียมอาหารหรือรับประทานสัตว์ปีกเป็นอาหาร

อาการของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไข้นกแก้ว

อาการของโรคซิตตาโคซิส จะคล้ายคลึงกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ โดยในคนส่วนใหญ่จะมีอาการป่วยไม่รุนแรง คือ เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ไอแห้ง คนส่วนใหญ่เริ่มมีอาการภายใน 5-14 วันหลังจากได้รับเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วถ้าได้รับยาปฏิชีวนะหลังจากที่เริ่มป่วย

มีเพียงแค่บางคนที่มีอาการรุนแรงและต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล เช่น เกิดอาการปอดบวม (ปอดติดเชื้อ) ลิ้นหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ เส้นประสาทหรือสมองอักเสบ ทำให้เกิดปัญหากับระบบประสาท ส่วนอัตราการเสียชีวิตนั้นน้อยมาก คือน้อยกว่า 1 ใน 100 เคส (ถ้าได้รับยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม)

การป้องกันโรค

อาจารย์เจษฎา กล่าวว่า โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และถ้าเคยติดโรคนี้แล้ว ก็สามารถติดได้อีกในอนาคต แต่สามารถดูแลป้องกันตนเองและผู้อื่นได้ ดังนี้

  1. ทำความสะอาดกรง และถ้วยน้ำ-ถ้วยอาหาร ทุกวัน
  2. จัดวางตำแหน่งของกรง ไม่ให้อาหาร ขนนก และมูลนก กระจายถึงกันได้ อาจใช้กรงที่มีผนังปิดด้านข้าง หรือหาที่กั้นระหว่างกรง
  3. หลีกเลี่ยงไม่ให้นกอยู่แน่นกรงเกินไป
  4. หากพบนกที่มีอาการสุ่มเสี่ยง และ/หรือติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว ควรแยกออกไปทำการรักษา
  5. ใช้น้ำและยาฆ่าเชื้อ ราดบนพื้นผิวกรง ก่อนที่จะทำความสะอาดกรงหรือบริเวณที่มีมูลนกเปื้อนอยู่
  6. หลีกเลี่ยงการเช็ดแบบแห้งหรือใช้เครื่องดูดฝุ่น เพื่อลดการกระจายของขนนกและฝุ่นที่อาจปนเปื้อนเชื้อ
  7. ล้างมือให้ทั่วและสะอาดด้วยน้ำไหลผ่าน และสบู่ หลังจากที่มีการสัมผัสกับนกหรือมูลของมัน
  8. ใช้อุปกรณ์ป้องกันตัว เช่น ถุงมือ และหน้ากากที่เหมาะสม เมื่อต้องสัมผัสจับต้องนกที่ติดเชื้อ หรือทำความสะอาดกรงนก ต้องใส่ถุงมือ และหน้ากากอนามัยเอาไว้ตลอดเวลาและทุกครั้ง
ไข้นกแก้ว
ภาพจาก : FB Jessada Denduangboripant

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก : FB Jessada Denduangboripant

GIFT T.

Rewriter สาวจากรั้วสวนดุสิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานข่าวมากว่า 5 ปี ชื่นชอบการส่งต่อเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์ หวย และข่าวบันเทิง พร้อมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้นักอ่านได้เห็นประเด็นรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button