การเงินข่าว

เงินดิจิทัล 10,000 บาท ไร้แผนสำรอง หาก พ.ร.บ. กู้เงินไม่ผ่าน

จับตามอง โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หลังไม่มีแผนสำรอง หาก พ.ร.บ. กู้เงินไม่ผ่าน ยืนยันรัฐบาลจะทำหน้าที่ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการออก พ.ร.บ. กู้เงินให้สำเร็จ

วันนี้ (15 พ.ย. 66) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์หน้ารัฐสภา ถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท หลังหลายคนเป็นห่วงเรื่องการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า “ดีครับ ช่วยกันเป็นห่วง เราจะได้ดำเนินการให้รอบคอบรัดกุม เป็นไปตามข้อกฎหมาย รัฐบาลมองว่าช่องทางนี้เป็นช่องทางที่เหมาะสม ตรงไปตรงมา ได้รับความตรวจสอบจากรัฐสภา น่าจะมีการส่งตรวจไปยังองค์กรอิสระ จริง ๆ ช่องทางไหนก็คงโดนตรวจสอบ เป็นข้อดีครับในการที่มีคนมาคอยดู ช่องทางนี้ก่อนเริ่มดำเนินการ ขอให้ตรวจสอบให้เสร็จสิ้นก่อน เราจะได้ดำเนินการให้สบายใจ และเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน”

ส่วนเรื่องแผนสำรอง หากกฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านการอนุมัติ นายจุลพันธ์ได้ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า “ยังไม่มีครับ” พร้อมตอบคำถามเรื่องการแก้ปัญหา GDP ในระยะยาวว่า

“เป็นความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ อย่างแรกเรามีความเชื่อมั่นด้วยกลไกที่เป็นตัวเงินผ่านระบบดิจิทัล และการมีเงื่อนไขกำหนดมันจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจที่มากกว่าแน่นอน ส่วนข้อที่สองก็คือเรื่องของการเดินหน้า พ.ร.บ. ไม่ต้องเป็นห่วง แน่นอนว่ามีคนสงสัย เป็นมุมมองทางข้อกฎหมายที่เห็นต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับการตีความ และรัฐบาลมีหน้าที่ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็น ความวิกฤตของสถานการณ์ ความจำเป็นต่อเนื่องและเร่งด่วน ที่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ

พร้อมกันนี้นายจุลพันธ์ได้ย้ำความเชื่อมั่นต่อโครงการเงินดิจิทัลว่า รัฐบาลไม่ได้มองมิติเพียงแค่เฉพาะหน้า แต่มองถึงทิศทางการพัฒนาประเทศ ที่เราทราบกันดีว่าประเทศไทยอยู่ในสภาพที่ถดถอย และความสามารถในการแข่งขันไม่ได้ดูดีแบบในอดีตที่ผ่านมา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพลิกฟื้นโครงสร้างเศรษฐกิจ และสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลให้มีความเข็มแข็งขึ้น เพื่อรองรับเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อถูกถามถึงการรับมือกับความเสี่ยง ในกรณีที่ พ.ร.บ. ไม่ผ่าน ซึ่งอาจกระทบต่ออนาคตของรัฐบาล นายจุลพันธ์ได้ตอบว่า “ก็เป็นไปได้ครับ แต่เราต้องยอมรับว่ากลไกนี้ตรงไปตรงมาที่สุด ถ้าใช้วิธีอื่น เช่น มาตรา 28 ก็จะเป็นคำครหาว่าเป็นการหลบเลี่ยงหรือไม่

วิธีการนี้จึงตรงไปตรงมา นำมาพูดคุยกันก่อนแล้วบังคับใช้ช่องทางกฎหมาย มีความเหมาะสมที่สุด ส่วนความเสี่ยงทางการเมือง เรายังมีความเชื่อมั่นในเสียงของฝั่งรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านเองก็ไม่ได้ปฏิเสธนโยบาย เพียงแต่อาจจะมีข้อสงสัยในกระบวนการ แต่ในข้อเท็จจริงทุกคนเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศที่มีความเปราะบาง”

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button