ไลฟ์สไตล์

เปิดความหมาย ‘คลิกเบต’ (Clickbait) ศัพท์คุ้นตาชาวโซเซียล

เปิดความหมาย ‘คลิกเบต’ (Clickbait) ศัพท์คุ้นตาที่หลายคนคุ้นเคยแต่กลับไม่รู้ความหมาย ราชบัณฑิตยสภา ประกาศศัพท์บัญญัติ clickbait ไว้อย่างไร บริบทการสื่อความเป็นแบบไหน หนุ่มสาวชาวโซเซียลห้ามพลาด

หลายครั้งหลายคราที่ชาวโซเซียลมักจะได้พบเห็นหรือได้ยินคำว่า ‘คลิกเบต’ ในภาษาไทย หรือแม้แต่ในภาษาอังกฤษ ‘Clickbait’ ก็ตาม ในยุคสมัยที่เหล่านักสร้างคอนเทนต์ หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) มีอยู่มากมายทั่วทุกมุมโลก การผลิตคอนเทนต์ให้ออกมาสร้างสรรค์และสามารถเข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วจึงเป็นที่เหล่าผู้ผลิตให้ความสำคัญและสนใจเป็นอย่างมาก

การแข่งขันท่ามกลางผู้ผลิตคอนเทนต์จำนวนมาก โดยมีความคิดสร้างสรรค์ของคอนเทนต์เป็นเดิมพันนั้นกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด และบางทีการอาศัยเทคนิคช่วยดึงดูดความสนใจของผู้คนอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหล่านักผลิตใช้เป็นทางลัดในการสร้างความนิยมให้กับคอนเทนต์ของพวเขา ‘คลิกเบต’ (Clickbait)

เปิดความหมาย 'คลิกเบต' (Clickbait) ศัพท์คุ้นตาชาวโซเซียล

เปิดที่มา ‘คลิกเบต’ (Clickbait)

เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงคุ้นเคยกับคำว่า ‘คลิกเบต’ (Clickbait) กันมาไม่น้อย เพราะตั้งแต่ในยุคสมัยที่ผู้คนในสังคมเริ่มให้ความสำคัญกับโซเซียลมีเดีย ตลอดจนเรื่องราว ประเด็น หรือแม้คอนเทนต์ที่ปรากฏบนแพลตฟอร์มโซเซียลต่าง ๆ เหล่านั้น ความนิยมของคำว่า ‘คลิกเบต’ (Clickbait) จึงได้ขยายวงกว้างและเป็นที่รู้จักมากขึ้น

แต่รู้หรือไม่ว่า ‘Clickbait’ ในภาษาสากลนั้น กลับเกิดขึ้นก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะเข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนในสังคมเสียอีก ซึ่งได้ปรากฏใช้งานครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ในช่วงปี 1888 บน “Yellow Journalism” หรือสื่อสีเหลือง หนึ่งในสื่อสิ่งพิมพ์ที่มุ่งนำเสนอเรื่องราวข่าวโคมลอย ประเด็นที่ไม่มีข้อเท็จจริงยืนยัน เนื้อหาข่าวที่ไม่ได้ผ่านการค้นคว้าและตรวจสอบอย่างถูกต้อง แต่กลับเลือกวิธีนำเสนอโดยใช้วิธีพาดหัวข่าวให้สื่อความเกินจริงในการดึงดูดความสนใจของผู้คน

แม้จะเป็นข่าวโคมลอยที่ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ ปราศจากความเป็นกลางในการรายงานข่าว อีกทั้งเนื้อหาสาระที่ผู้อ่านจะได้รับจากการเสพข่าวเช่นนั้นกลับน้อยแสนน้อยก็ตาม แต่เป็นที่น่าแปลกในที่ “Yellow Journalism” หรือสื่อสีเหลือง กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งได้ส่งผลต่อการรับข่าวสารของผู้คนในสังคมที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป

ในยุคที่โซเซียลมีเดียเข้ามามีบทบาทต่อผู้คนในสังคม รูปแบบของการสร้างเรื่องราวโคมลอย ที่ปราศจากเนื้อหาสาระ และข้อเท็จจริง ซึ่งดึงดูดผู้คนด้วยการสร้างพาดหัวให้เกินจริง จึงได้แปรเปลี่ยนมาเป็นความหมายที่สอดคล้องกับการกระทำที่เรียกว่า Clickbait ที่ปรากฏอยู่บนโซเซียลในขณะนี้

‘คลิกเบต’ (Clickbait) กับความเข้าใจของชาวโซเซียล

ความหมายของคำว่า ‘คลิกเบต’ (Clickbait) ในความเข้าใจที่อาศัยความคุ้นเคยของชาวโซเซียลอาจหมายถึง การสร้างพาดหัวเว็บไซต์ดึงดูดความสนใจ เพื่อให้ผู้คนรู้สึกตื่นเต้นและสงสัยใคร่รู้ในเรื่อวราวหรือประเด็นที่บทความหรือข่าวนั้น ๆ กำลังกล่าวถึง การกระทำเช่นนี้เป็นเทคนิคการเพิ่มยอดผู้เข้าชมและผู้ติดตาม

ลักษณะการใช้ภาษาดึงดูดความสนใจในเทคนิค ‘คลิกเบต’ (Clickbait) นั้นจึงเต็มไปด้วยการใช้ถ้อยคำสื่ออารมณ์ การเพิ่มความรู้สึกและอารมณ์ร่วมกับเรื่องราวนั้น ๆ มากเกินความจริง

‘คลิกเบต’ หรือ พาดหัวยั่วให้คลิก ศัพท์บัญญัติล่าสุด โดยราชบัณฑิตยสภา

กลายเป็นกระแสร้อนแรงบนโซเซียลในช่วงเช้าที่ผ่านมา เพราะล่าสุด (วันที่ 10 ตุลาคม 2566) สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ระบุว่าในขณะนี้ มีการบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นภาษาไทย ในคำว่า Clickbait ถ้อยคำสุดฮิตที่หลายคนคุ้นเคยบนโซเซียล โดยศัพท์บัญญัติคือ “พาดหัวยั่วให้คลิก” และคำทับศัพท์จะใช้ว่า “คลิกเบต”

เปิดความหมาย 'คลิกเบต' ศัพท์คุ้นตาชาวโซเซียล
ภาพจาก : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

พาดหัวยั่วให้คลิก, คลิกเบต เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า clickbait หมายถึง การพาดหัวข่าวหรือหัวข้อเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต เพื่อดึงดูดความสนใจให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้อยากติดตามอ่านเนื้อหาโดยคลิกเข้าไปอ่าน ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอนั้นอาจไม่มีประเด็นสำคัญ เนื้อหาไม่ครบถ้วน เนื้อหาบิดเบือนไม่ถูกต้อง และไม่ได้ตอบข้อสงสัยหรือความอยากรู้ของผู้อ่านตามระบุในหัวข้อข่าว มีลักษณะไม่น่าเชื่อถือ หลอกล่อ เชิญชวนเข้ามาให้อ่านเนื้อหา เปรียบเสมือนการใช้เบ็ดล่อเหยื่อให้ตกหลุมพราง

วัตถุประสงค์หลักของพาดหัวข่าวยั่วให้คลิกคือต้องการดึงดูด และเพิ่มปริมาณการเข้าชมเว็บเพจของผู้สร้างเนื้อหาเพื่อหารายได้จากการโฆษณาด้วยยอดคลิกจำนวนมากซึ่งดึงดูดโฆษณาได้มากที่สุดและมักปรากฏบนสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) ยูทูบ (YouTube) ส่วนใหญ่มักปรากฏในหัวข้อข่าว หรือรูปภาพหน้าปกให้ดูน่าสนใจ แต่บอกรายละเอียดไม่หมด บิดเบือนจากความเป็นจริง เพื่อให้คนที่อ่านหัวข้อใคร่รู้ความจริง หรือต้องการอ่านเนื้อหาข่าว ทำให้เพิ่มยอดการเข้าชมจากผู้สร้างข่าวดังกล่าวได้

พาดหัวยั่วให้คลิกปรากฏบนสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทั้งในหน้าฟีดข่าว เพจ หรือสำนักข่าวต่าง ๆ อาจเป็นเพราะแข่งขันกันหารายได้จากการโฆษณา หรือด้วยเหตุผลอื่น ทำให้ต้องสร้างความน่าสนใจของข่าวด้วยวิธีการต่าง ๆ ดึงดูดให้เกิดการคลิกมากยิ่งขึ้น แม้ว่าหัวข้อข่าวจะไม่ตรงกับข่าว บอกรายละเอียดไม่หมดก็ตาม

การพาดหัวข่าวแบบพาดหัวยั่วให้คลิกได้สร้างผลกระทบต่อประสิทธิภาพการสื่อสาร คุณภาพเนื้อหา และสิทธิของการรับรู้ข่าวสารของผู้ใช้สื่อออนไลน์บ้างไม่มากก็น้อย กล่าวคือ โดยลักษณะของการพาดหัวข่าวแบบพาดหัวยั่วให้คลิกช่วยเพิ่มความสนใจ และเพิ่มยอดผู้ชมเว็บไซต์ได้มากขึ้น แต่การใช้ภาษาดึงดูดจากหัวข้อข่าว หรือหัวเรื่องได้นำไปสู่ความเข้าใจผิดตั้งแต่ต้นในหลาย ๆ กรณี หากผู้ใช้สื่อออนไลน์กดเข้าไปอ่านข่าวก็จะพบแต่เนื้อหาข้อมูลที่บิดเบือน ผิดพลาด ไม่ครบถ้วน ในขณะเดียวกันหากอ่านเพียงหัวข้อข่าวอย่างเดียวก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือตัดสินเนื้อหาอย่างผิด ๆ อันทำให้เกิดภาวะข้อมูลข่าวสารปลอม ข้อมูลข่าวสารคลาดเคลื่อน และข้อมูลข่าวสารผิดพลาดได้

เปิดความหมาย 'คลิกเบต' ศัพท์คุ้นตาชาวโซเซียล
ภาพจาก : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

ทั้งนี้ ความหมายของคำว่า ‘คลิกเบต’ (Clickbait) ในความเข้าใจที่ชาวโซเซียลหลาย ๆ คนคุ้นเคยกันนั้น นับว่าไม่ได้แตกต่างจากความหมายที่ราชราชบัณฑิตยสภาได้บัญญัติขึ้นเท่าใด เพียงแต่ได้เพิ่มเติมความหลากหลายในการเลือกใช้ถ้อยคำ เพื่อให้ถ้อยคำภาษาอังกฤษสามารถสื่อความเป็นคำภาษาไทย ในรูปแบบที่เป็นทางการและคนทั้งประเทศสามารถใช้สื่อสารเป็นมาตรฐานเดียวกันนั่นเอง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button