ข่าว

ใช้ให้ถูก ราชบัณฑิตฯ บัญญัติศัพท์ใหม่ ‘คลิกเบต’ หมายถึง ‘พาดหัวยั่วให้คลิก’

จำแล้วนำไปใช้ให้ถูก! ราชบัณฑิตยสภา บัญญัติศัพท์ใหม่ล่าสุดของคำว่า “clickbait” ได้แก่ “พาดหัวยั่วให้คลิก” และให้เขียนทับศัพท์ว่า “คลิกเบต”

วันนี้ (2 ต.ค. 2566) สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้เผยแพร่ข้อความประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ระบุว่าขณะนี้มีการบัญญัติศัพท์ และคำทับศัพท์ใหม่ พร้อมนิยามศัพท์ของคำว่า “clickbait” สามารถใช้ว่า “พาดหัวยั่วให้คลิก” หรือ “คลิกเบต” จากนี้ขอให้คนไทยรับทราบแบบยั่ว ๆ โดยทั่วกัน

พาดหัวยั่วให้คลิก, คลิกเบต เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า clickbait หมายถึง การพาดหัวข่าวหรือหัวข้อเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต เพื่อดึงดูดความสนใจให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้อยากติดตามอ่านเนื้อหาโดยคลิกเข้าไปอ่าน ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอนั้นอาจไม่มีประเด็นสำคัญ เนื้อหาไม่ครบถ้วน เนื้อหาบิดเบือนไม่ถูกต้อง และไม่ได้ตอบข้อสงสัยหรือความอยากรู้ของผู้อ่านตามระบุในหัวข้อข่าว มีลักษณะไม่น่าเชื่อถือ หลอกล่อ เชิญชวนเข้ามาให้อ่านเนื้อหา เปรียบเสมือนการใช้เบ็ดล่อเหยื่อให้ตกหลุมพราง

บัญญัติศัพท์ clickbait คือ พาดหัวยั่วให้คลิก
ภาพจาก : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

วัตถุประสงค์หลักของพาดหัวข่าวยั่วให้คลิกคือต้องการดึงดูด และเพิ่มปริมาณการเข้าชมเว็บเพจของผู้สร้างเนื้อหาเพื่อหารายได้จากการโฆษณาด้วยยอดคลิกจำนวนมากซึ่งดึงดูดโฆษณาได้มากที่สุดและมักปรากฏบนสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) ยูทูบ (YouTube) ส่วนใหญ่มักปรากฏในหัวข้อข่าว หรือรูปภาพหน้าปกให้ดูน่าสนใจ แต่บอกรายละเอียดไม่หมด บิดเบือนจากความเป็นจริง เพื่อให้คนที่อ่านหัวข้อใคร่รู้ความจริง หรือต้องการอ่านเนื้อหาข่าว ทำให้เพิ่มยอดการเข้าชมจากผู้สร้างข่าวดังกล่าวได้

พาดหัวยั่วให้คลิกปรากฏบนสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทั้งในหน้าฟีดข่าว เพจ หรือสำนักข่าวต่าง ๆ อาจเป็นเพราะแข่งขันกันหารายได้จากการโฆษณา หรือด้วยเหตุผลอื่น ทำให้ต้องสร้างความน่าสนใจของข่าวด้วยวิธีการต่าง ๆ ดึงดูดให้เกิดการคลิกมากยิ่งขึ้น แม้ว่าหัวข้อข่าวจะไม่ตรงกับข่าว บอกรายละเอียดไม่หมดก็ตาม

การพาดหัวข่าวแบบพาดหัวยั่วให้คลิกได้สร้างผลกระทบต่อประสิทธิภาพการสื่อสาร คุณภาพเนื้อหา และสิทธิของการรับรู้ข่าวสารของผู้ใช้สื่อออนไลน์บ้างไม่มากก็น้อย กล่าวคือ โดยลักษณะของการพาดหัวข่าวแบบพาดหัวยั่วให้คลิกช่วยเพิ่มความสนใจ และเพิ่มยอดผู้ชมเว็บไซต์ได้มากขึ้น แต่การใช้ภาษาดึงดูดจากหัวข้อข่าว หรือหัวเรื่องได้นำไปสู่ความเข้าใจผิดตั้งแต่ต้นในหลาย ๆ กรณี หากผู้ใช้สื่อออนไลน์กดเข้าไปอ่านข่าวก็จะพบแต่เนื้อหาข้อมูลที่บิดเบือน ผิดพลาด ไม่ครบถ้วน ในขณะเดียวกันหากอ่านเพียงหัวข้อข่าวอย่างเดียวก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือตัดสินเนื้อหาอย่างผิด ๆ อันทำให้เกิดภาวะข้อมูลข่าวสารปลอม ข้อมูลข่าวสารคลาดเคลื่อน และข้อมูลข่าวสารผิดพลาดได้

สำหรับตัวอย่าง “พาดหัวยั่วให้คลิก” หรือ คลิกเบต ที่พวกเรานำมาฝาก

‘อึ้ง หมออินเดียเอกซเรย์ เจอสิ่งนี้ในปอดคนไข้แทบช็อก’

‘สาวเคลียร์ชัด ตุ่มนูนที่หน้าอกที่แท้คือ’

‘ขนลุก! สาวน้อยรัดทน แม่ตายกลายเป็นปลาพูดได้ สุดท้ายเรื่องราวผิดคาด’

‘ช็อก เห็นหมาพูดได้ ก่อนเฉลยแท้จริงคืออะไร’

‘งงหนัก พ่อแม่ทำร้ายลูก อ้างเพราะบูชาสิ่งนี้’

‘หมอเฉลย กินสัตว์ชนิดนี้ทุกวันหายมะเร็งได้’

‘มหัศจรรย์ หมอสูติพบสิ่งนี้ในท้องคนไข้ ก่อนรู้ความจริงแทบช็อก’

‘เหลือจะเชื่อ คู่รักทำสิ่งนี้กันในห้องสองต่อสอง’

‘คู่รักเล่นสวาทหน้าห้องเรียน ส่วนครูยืนสอนหน้าตาเฉย รู้เหตุผลถึงกับขำไม่ออก’

นิยามศัพท์ clickbait พาดหัวยั่วให้คลิก

Peangaor

นักเขียนประจำ Thaiger จบการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มศว เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาชี้แจงแตกประเด็นในรูปแบบย่อยง่ายเหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง รวมถึงเรื่อง Pop culture ซีรีส์ อาหาร และเทรนด์แฟชั่นที่กำลังอินเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ preme@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button