อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

เปิดตำนาน ขนมไหว้พระจันทร์ มีที่มาจากไหน แต่ละไส้สื่อถึงอะไรบ้าง

ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมมงคลประจำเทศกาลมีที่มาจากไหน ทำไมชาวจีนต้องรับประทานในวันไหว้พระจันทร์ พร้อมเปิดไส้ขนม อุดมไปด้วยความหมายมงคล

ส่งท้ายเดือนกันยายนด้วยเทศกาลสำคัญ อีกหนึ่งเทศกาลของชาวไทยเชื้อสายจีน วันไหว้พระจันทร์ ปี 2566 นี้ตรงกับวันที่ 29 กันยายน สิ่งที่อยู่คู่กับเทศกาลคงหนีไม่พ้น ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมรูปทรงกลม ด้านหน้าพิมพ์ลายสวยงาม ประกอบด้วยไส้ต่าง ๆ รสชาติหวานอร่อย

ปกติแล้วชาวจีนจะนิยมนำขนมไหว้พระจันทร์ มอบให้กับญาติสนิทมิตรสหาย เพราะถือเป็นขนมมงคล และเนื่องในโอกาสมงคล ทีมงาน Thaiger ขอชวนทุกท่านมาเปิดตำนาน ขนมไหว้พระจันทร์มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมชาวจีนถึงรับประทานขนมชนิดนี้ พร้อมเปิดความหมายของไส้ขนมรสอร่อยลิ้น

เปิดตำนาน ขนมไหว้พระจันทร์ มีที่มาจากไหน แต่ละไส้สื่อถึงอะไรบ้าง

ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมมงคลประจำเทศกาล

ขนมไหว้พระจันทร์มีที่มาจากไหน

ขนมไหว้พระจันทร์ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Moon Cake ส่วนชื่อภาษาจีนตัวย่อ 月饼; และจีนตัวเต็ม 月餅 อ่านว่า เหยวปิ่ง มีตำนานและความเป็นมาที่หลากหลาย ตำนานแรก เล่าว่า ขนมไหว้พระจันทร์ปรากฏตั้งแต่สมัยสงครามจีน ตามบันทึกพงศาวดารระบุว่า ชาวจีนเซ่นไหว้พระจันทร์มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง เนื่องจากในคืนวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ฮ่องเต้ทรงพระสุบินหรือฝันว่าได้เสด็จประพาสบนดวงจันทร์ และทรงพระเกษมสำราญยิ่ง

เมื่อทรงตื่นบรรทม จึงมีรับสั่งให้พระสนมแต่งตัว และร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาตามความฝัน เพื่อให้ฝันเป็นจริงอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ราษฎรทั่วประเทศจีน จึงไหว้พระจันทร์ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8

ตำนานที่สอง ค่อนข้างที่จะเศร้า เนื่องจากตำนานเล่าว่า เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ นามว่า ฉางเอ๋อ หญิงคนรักของโฮวอี้ นักยิงธนูแห่งโลกเทวดา ใช้ธนูยิงดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับกฎของสวรรค์ เขาจึงโดนลงทัณฑ์ให้ไปใช้ชีวิตสามัญเฉกเช่นมนุษย์ทั่วไป แต่สุดท้ายโฮวอี้กลับถูกคนสนิทปลิดชีพ ฉางเอ๋อจึงดื่มน้ำอมฤตลอยกลับสวรรค์ไปแต่เพียงผู้เดียว

เรื่องราวของฉางเอ๋อและโฮวอี้ยังมีอีกหนึ่งตำนาน กล่าวว่า หลังจากโฮวอี้ได้ยาวิเศษก็กลายเป็นคนร้ายกาจ ทำให้ฉางเอ๋อต้องกลืนยาวิเศษนั้นเพื่อยับยั้งเขา ก่อนจะลอยขึ้นสู่ดวงจันทร์ ตั้งแต่นั้นมาผู้คนต่างสรรเสริญความดีของฉางเอ๋อ โดยการบูชาพระจันทร์ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ตามตำนานนี้ขนมไหว้พระจันทร์ยังเป็นสัญลักษณ์ของความรักอีกด้วย

ความเป็นมาของขนมไหว้พระจันทร์มีมากมายหลายแบบ ตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ทำให้ไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัดว่า แท้จริงแล้วขนมหวานทรงกลมมีที่มาจากยุคไหน หรือเริ่มต้นจากเหตุการณ์ใดกันแน่ แต่หลัก ๆ แล้วเป็นขนมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ และไหว้บูชาพระจันทร์นั่นเอง

ทำไมต้องรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในเทศกาล

นอกจากการไหว้ขนมในเทศกาลไหว้พระจันทร์แล้ว ชาวจีนก็นิยมรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ ในวันเพ็ญเดือน 8 ด้วยเช่นกัน เนื่องจากสมัยปลายราชวงศ์หยวน มองโกลเข้ามารุกรานและได้ปกครองแผ่นดินจีน ชาวมองโกลส่งทหารไปประจำอยู่ที่บ้านของชาวจีนครอบครัวละ 1 คน เพื่อสอดส่อง สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก

ชาวจีนจึงคิดต่อต้านและก่อการปฏิวัติ ขณะนั้น ท่านหลิวปั๋วเวิน ได้คิดแผนการนำกระดาษเขียนข้อความ ให้ชาวจีนทุกคนสังหารทหารมองโกลที่ประจำอยู่ที่บ้านในวันเพ็ญเดือน 8 แล้วจึงนำกระดาษสอดไส้ในขนม เมื่อชาวจีนซื้อขนมไปรับประทานและได้อ่านข้อความนี้ จึงส่งต่อไปยังชาวจีนคนอื่น ๆ อย่างลับ ๆ จนสามารถก่อการปฏิวัติ โค่นล้มอำนาจของมองโกลไปได้ในที่สุด

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่ชาวจีนได้แผ่นดินคืนมา จากความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน จึงเกิดประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ เพื่อเฉลิมฉลอง สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังเป็นเครื่องเตือนใจที่ชาวจีนสามารถกู้แผ่นดินมาตุภูมิกลับมาได้นั่นเอง

เปิดตำนาน ขนมไหว้พระจันทร์ มีที่มาจากไหน แต่ละไส้สื่อถึงอะไรบ้าง

ไส้ขนมไหว้พระจันทร์ พร้อมความหมายมงคล

ขนมไหว้พระจันทร์ เป็นขนมที่มีเฉพาะในเอเชียตะวันออก โดยทั่วไปมักมีลักษณะเป็นทรงกลมคล้ายเค้ก เป็นเหตุผลว่าทำไมชื่อในภาษาอังกฤษจึงใช้คำว่า Moon Cake ลักษณะของขนมสื่อถึงความสมบูรณ์ และความกลมเกลียวของครอบครัว ส่วนหน้าขนมไหว้พระจันทร์มีหลากหลายรูปแบบ เช่น รูปจันทร์เสี้ยว รูปดอกบัว รูปกวาง รูปนก เป็นต้น

ไส้ขนมไหว้พระจันทร์ก็มีหลากหลายรสชาติ นอกเหนือจากสื่อถึงความสุข ความอุดมสมบูรณ์ และความเจริญรุ่งเรืองแล้ว ไส้ของขนมไหว้พระจันทร์แต่ละไส้ มีความหมายต่างกัน ดังนี้

    • เม็ดบัว ไส้ต้นตำรับของขนมไหว้พระจันทร์ สื่อถึงจิตใจที่บริสุทธิ์ อายุที่ยืนยาว เกียรติยศ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความสงบสุข
    • ธัญพืชรวม 5 ชนิด และแฮมยูนนาน สื่อถึงโชคลาภ และความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากในอดีต ผู้ที่จะได้รับประทานไส้นี้ต้องมีฐานะร่ำรวย
    • เกาลัด สื่อถึงลูกชายและสิ่งอันเป็นที่รัก เนื่องจากความหมายตรงกับคำว่า เกาลัด ในภาษาจีน คือ li tzu อ่านว่า ลี่ ซู่
    • ลูกพลัม สื่อถึงความกล้าหาญ และความหวัง เฉกเช่นเดียวกับดอกพลัมที่ออกดอกในฤดูหนาว
    • ถั่วแดง สื่อถึงความกล้าหาญ เนื่องจากถั่วแดงมีลักษณะคล้าย ไต ที่เป็นอวัยวะขับของเสีย เปรียบดังสิ่งที่ขับความกลัวออกจากตัวเรา

แม้ว่าจะมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานในประเทศจีน แต่ในเวลาต่อมาขนมไหว้พระจันทร์ได้แพร่หลายไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออก เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม รวมถึงไทย

เมื่อถึงเทศกาลวันไหว้พระจันทร์เราจะพบว่า ขนมไหว้พระจันทร์หาซื้อได้ค่อนข้างง่าย มีจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ร้านขนม หรือร้านอาหารที่มีชื่อเสียง ไส้ขนมก็ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงไส้ถั่วแดง ไส้ลูกบัว ที่สื่อถึงความมงคลเท่านั้น แต่ปัจจุบันถูกนำมาดัดแปลงปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย เช่น เปลี่ยนเป็นไส้ช็อกโกแลต ไส้ทุเรียน ไส้ชาเขียว

ลายพิมพ์หน้าของขนมไหว้พระจันทร์ ถูกปรับเป็นลายการ์ตูน อีกทั้งยังปรับสูตรเป็นขนมไหว้พระจันทร์เจ สิ่งเหล่านี้ทำให้ขนมไหว้พระจันทร์ดูน่ารับประทาน และเข้าถึงกลุ่มคนได้มากกว่า ขนมหวานมงคลประจำเทศกาลไหว้พระจันทร์จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและไม่เคยลดน้อยลง

ทราบประวัติความเป็นมา และความหมายของขนมไหว้พระจันทร์แล้ว วันไหว้พระจันทร์ 2566 นี้ ทุกท่านสามารถเลือกซื้อหาขนมไหว้พระจันทร์ไปฝากญาติสนิทมิตรสหาย หรือใช้เซ่นไหว้พระจันทร์ เพื่อขอพรความรักให้สุขสมหวัง เพิ่มความมงคลตามความเชื่อของชาวจีนได้ค่ะ

เปิดตำนาน ขนมไหว้พระจันทร์ มีที่มาจากไหน แต่ละไส้สื่อถึงอะไรบ้าง

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button