การเงินข่าวเศรษฐกิจ

แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รมช.คลัง ยืนยันจะไม่แตะสมบัติของชาติ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช. กระทรวงการคลัง ยืนยันนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แก่ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ว่าจะไม่แตะต้องสมบัติชาติแต่อย่างใด เป็นไปตามหลักวินัยการเงินการคลัง และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” ได้อธิบายเกี่ยวกับนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้ 2 หลักคิดสำคัญ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยเป็นไปตามหลักวินัยทางการเงินและการคลังอย่างโปร่งใส

ทั้งนี้ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังย้ำอีกว่ารัฐบาลยึดมั่นในกรอบวินัยทางการเงินการคลังเป็นหลัก เราจะไม่มีการแตะต้องทรัพย์สมบัติของชาติอย่างแน่นอน

เงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่แตะสมบัติชาติ 2566

หลักคิดที่ 1 นโยบาย แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

กระตุ้นเศรษฐกิจทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ : ยืนยันกรอบคิดนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ให้กับพี่น้องประชาชน ไม่ใช่กระบวนการได้มาซึ่งคะแนนเสียง ระหว่างการเลือกตั้ง แต่เราเล็งเห็นว่าสภาวะเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีนโยบายสักนโยบายหนึ่ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก

นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หลักคิดสำคัญ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจไปทุกชุมชนทั่วทุกภูมิภาค ด้วยกลไกของ Blockchain ที่สามารถเขียน contract กำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลได้ เพราะฉะนั้น หลักคิดของนโยบายนี้ คือการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ไม่ว่าพี่น้องประชาชนจะอยู่ในจุดใดของประเทศก็ตาม

หลักคิดที่ 2 สร้างโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล

ในส่วนของหลักคิดที่ 2 คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย : เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน ในอนาคตจะสามารถมีกระเป๋าเงิน 2 กระเป๋า ได้แก่

  1. กระเป๋าเงินสด
  2. กระเป๋าเงินดิจิทัล

ซึ่งจะสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานนี้รองรับ จนกระทั่งประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกได้ เป็นโอกาสที่กำลังจะมาถึง และเราจะต้องคว้าให้ได้ผ่านโครงการนี้

แหล่งที่มาของงบประมาณ : มีประเด็นที่พูดคุยกันหลากหลายในที่ประชุมรัฐสภา อยากเรียนด้วยความเคารพ อยากให้เพื่อนสมาชิกระมัดระวังในการอภิปราย และเสนอความคิดเห็น โดยเฉพาะการชี้นำสังคมในประเด็นเรื่องแหล่งที่มาของรายได้ เพราะกระบวนการอภิปรายในสภาเป็นที่เปิดเผย อาจทำให้สังคมเข้าใจผิดได้ และจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือ รวมถึงความเชื่อมั่นของประเทศไทยในเรื่องของกรอบวินัยทางการเงินการคลัง

รัฐบาลยึดมั่นในกรอบวินัยทางการเงินการคลังเป็นหลัก เราจะไม่มีการแตะต้องทรัพย์สมบัติของชาติ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนวายุภักษ์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือกองทุนประกันตน

ในส่วนเหล่านี้เรารู้ถึงวัตถุประสงค์ของกองทุนและเม็ดเงินนั้นดี เราจะไม่มีกระบวนการเข้าไปแตะต้องมัน และเราไม่ได้เริ่มแม้แต่จะคิด

เพื่อให้เกิดความมั่นใจ กระบวนการที่เราจะทำ สุดท้ายจะมีความชัดเจน เราจะขอเวลาในการไปตรวจในรายละเอียดและเดินหน้าโครงการ สุดท้ายจะมีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกรอบการใช้เงิน ระยะเวลาในการดำเนินการ รวมถึงกระบวนการที่เราจะนำเอาเงินงบประมาณมาใช้คืนให้หมดในระยะเวลาที่กำหนด ไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะแน่นอน ไม่เป็นการกู้เพิ่ม และยึดหลักกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ขอยืนยันผ่านรัฐสภาแห่งนี้

ระยะทางในการใช้จ่ายเงินดิจิทัล

การกระตุ้นเศรษฐกิจของการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กรอบระยะทาง 4 กิโลเมตร และกรอบระยะเวลา ขณะนี้อยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็น มีข้อเสนอมามากมายจากภาคประชาชน รวมถึงสมาชิกรัฐสภาแห่งนี้ ซึ่งต้องกราบขอบพระคุณ เราจะเก็บเอาข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำเหล่านี้ไปพิจารณาในภาพรวม เพื่อที่จะหาหนทางที่เกิดประโยชน์สูงสุดกับกระบวนการใช้เม็ดเงินผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้

สุดท้ายข้อสรุปจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าจะเป็น 4 กิโลเมตร 8 กิโลเมตร หรือกรอบลักษณะใด เม็ดเงินทั้งหมดจะถึงมือพี่น้องประชาชน และเกิดประโยชน์สูงสุดในการที่เราตั้งเป้าหมายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ข้อกังวลในเรื่องการเอื้อทุนใหญ่และห่วงใยการดำเนินการจะเกิดการไม่เป็นธรรม : เรารับฟังด้วยความระลึกถึงความหวังดีของท่าน แต่โดยหลักคิดแล้ว รัฐบาลเราไม่ได้มองพี่น้องประชาชนเป็นผู้ร้าย เราคิดว่าพี่น้องประชาชนส่วนมาก เมื่อได้เงินไปแล้วจะสามารถจัดสรรการใช้ได้อย่างเป็นประโยชน์

หลักคิดนี้จะประกอบไปด้วยนโยบายมากมายของภาครัฐ ไม่ว่าจะผ่านองค์กร หรือผ่านหน่วยงานของรัฐประกอบกันเข้าแล้ว กลไกการใช้เม็ดเงินจาก Digital Wallet เรามีความเชื่อมั่นว่า พี่น้องประชาชนจะใช้เพื่อการบริโภคที่เป็นประโยชน์ และ ใช้เพื่อการบริโภคซึ่งจะหมุนเวียนอยู่ในชุมชนของตน เพื่อให้การกระตุ้นหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชน ในบ้านของพี่น้องประชาชนเอง เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนให้ได้มากที่สุด

ขอเรียนว่านโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เราไม่ได้เลือกว่าสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นทุนใหญ่ หรือร้านสะดวกซื้อ จะไม่สามารถเข้าโครงการได้ เป็นสิทธิของประชาชน ต้องให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนในการเลือกกิจกรรมที่เขาจะทำ แต่แน่นอนว่ารัฐมีนโยบาย มีโครงการที่จะประกอบกันเข้า เพื่อจูงใจให้พี่น้องประชาชนสามารถใช้เม็ดเงินนี้อย่างเป็นประโยชน์

ขณะนี้มีการรวมกลุ่มกันของพี่น้องประชาชนในต่างจังหวัดจำนวนมาก ในลักษณะของการเข้ากลุ่มกัน เพื่อนำเม็ดเงินนี้ไปต่อยอดอาชีพ รวมกลุ่มเพื่อจัดกิจกรรมที่จะสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน เหล่านี้เป็นแนวความคิดของพี่น้องประชาชนซึ่งล้ำหน้าไปกว่าพวกเราที่นั่งกันอยู่ในที่ประชุมรัฐสภาแห่งนี้ด้วยซ้ำ

นโยบายนี้พี่น้องประชาชนสามารถที่จะแตกยอดความคิดรองรับกับเม็ดเงินที่ลงไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรามองภาพซึ่งได้เห็นแม้กระทั่งการรวมกลุ่มกัน เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ซึ่งมีต้นทุนสูง และจะเกิดกับการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชน ในการประกอบอาชีพ ในการสร้างรายได้ใหม่ๆ และสุดท้ายจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าเป็นการ Sharing กันของสินทรัพย์ เช่น เครื่องจักรการเกษตรขนาดใหญ่

ต้องให้ความมั่นใจกับรัฐสภาแห่งนี้ ว่ารัฐบาลเชื่อมั่นในพี่น้องประชาชนว่า เขาจะสามารถตัดสินใจได้อย่างเป็นประโยชน์สูงสุด และจะสามารถนำเม็ดเงินนี้ไปทำประโยชน์ให้กับชุมชนของตน กับพี่น้องประชาชนเอง ทุกบาททุกสตางค์ ด้วยความที่เป็นระบบ Blockchain เป็นระบบเทคโนโลยีพื้นฐาน

สิ่งที่จะยืนยันกับรัฐสภาแห่งนี้ได้ว่า ไม่มีเทคโนโลยีใดจะมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้เท่ากับเทคโนโลยี Blockchain ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นยืนยันกับพี่น้องประชาชน เพื่อนสมาชิกรัฐสภาทุกท่านว่า นโยบายนี้จะเกิดประโยชน์ และตรวจสอบได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

อ้างอิง : 1

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button