ข่าวภูมิภาค

ครูภูเก็ตอบรมสวัสดิภาพสัตว์ เล็งต่อยอดความรู้สู่เยาวชน

เมื่อวันที่ 24-25 พฤษภาคมที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยจัดกิจกรรมอบรมความรู้ด้านสวัสดิภาพสัตว์แก่ครูจากโรงเรียนในท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต 12โรงเรียน เล็งปลูกฝังและต่อยอดความรู้ให้แก่เยาวชนอนาคตของชาติ

จากการที่เล็งเห็นว่าเยาวชนคือกำลังสำคัญที่สุดของการพัฒนาความรู้และการศึกษาก็เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการสร้างความเปลี่ยนแปลง มูลนิธิฯ จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการ คนรักสัตว์ สัตว์รักสิ่งแวดล้อม ปีที่ 2 ขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์แก่เหล่าคณาจารย์ ผู้ซึ่งจะเป็นตัวกลางที่ดีที่สุดในการส่งต่อความรู้เหล่านี้สู่นักเรียนในความดูแล โดยได้รับเกียรติจากท่านรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต ภานุพงศ์ สุขอภิรมย์ มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ

ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขเเละสิ่งเเวดล้อม วินา พิกุลผล เป็นตัวเเทนนายกเทศมนตรี เทศบาลนครภูเก็ต ในการกล่าวถึงกล่าวถึงผลสัมฤทธิ์ของกิจกรรมโครงการเสริมสร้างสวัสดิภาพสัตว์ ภายใต้โครงการ “คนรักษ์สัตว์ สัตว์รักษ์สิ่งแวดล้อม” ที่ได้จัดกับทางโรงเรียนภายใต้ปีการศึกษาที่ผ่านมาว่า

“จากกิจกรรมที่ผ่านมา ทางเทศบาลนครภูเก็ตเห็นว่าโครงการที่เกิดขึ้นนั้น เป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์อย่างมาก และเพื่อเป็นแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและมีมนุษยธรรมถูกต้องตามหลักสวัสดิภาพสัตว์และการอยู่ร่วมกันในสังคมระหว่าง คน สัตว์และสิ่งแวดล้อม บุคลากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปลูกจิตสำนึกให้แก่เด็กและเยาวชน คือ คณะครูและผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะครูที่ร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้โครงการ “คนรักษ์สัตว์ สัตว์รักษ์สิ่งแวดล้อม” จะได้นำความรู้ ความเข้าใจและสามารถนำไปสร้างสรรค์กิจกรรมและกระบวนการการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปปรับใช้และ เป็นแบบอย่างได้อย่างถูกวิธี และสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ ประธานมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย กิรณี นรบาล ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเรียนรู้เรื่องสวัสดิภาพสัตว์ไว้ว่า

“หลายๆ ครั้งเรามองถึงสิ่งแวดล้อม เราจะนึกถึงเรื่องของดิน น้ำ ลม ไฟ นึกถึงอากาศ นึกถึงน้ำเสีย แต่เราลืมไปว่าสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะสัตว์จรจัดนั้น ก็ดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมร่วมกับพวกเรา ปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างขาดการควบคุมนำไปสู่การเกิดโรคและความเสี่ยงต่อชีวิตมนุษย์ นี่ยังไม่รวมไปถึงผลกระทบในแง่ของเศรษฐกิจและสังคมในฐานะเมืองท่องเที่ยวระดับต้นๆ ของภูมิภาคนี้”

“เพราะสัตว์จรจัดไม่สามารถกำจัดได้ในเวลาอันรวดเร็ว วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ การอยู่ร่วมกับพวกเขาได้อย่างถูกต้อง รู้วิธีการที่จะคุมกำเนิด สิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ที่อยู่ในโรงเรียน การดูแลอย่างถูกวิธี การควบคุมประชากร การป้องกันโรค คือแนวทางที่เราต้องการจะนำเสนอในวันนี้ เพราะเราเชื่อว่า ความรู้ความเข้าใจจะนำไปสู่ประโยชน์อย่างแท้จริง ล่าสุดเราทำกิจกรรมหลากหลายอย่าง เพื่อสนองตอบพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งทรงมีพระประสงค์ที่จะให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทยภายในปีค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก และพวกเราก็อยากจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่จะช่วยให้พระปณิธานของพระองค์นั้นประสบความสำเร็จ”

“ดิฉันเชื่อในศักยภาพของบุคลากรครูและบุคลากรทางการศึกษา ว่าจะมีวิธีการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ทำเรื่องที่ซับซ้อนให้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และสามารถที่จะนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปบูรณาการเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง คือการนำไปถ่ายทอดสู่นักเรียนในกำกับดูแล สามารถนำเสนอโครงการดีๆ ให้แก่ผู้บริหาร เป็นสามารถที่จะเป็นบุคคลสำคัญที่จะร่วมขับเคลื่อนให้จังหวัดภูเก็ตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดการแพร่กระจายของโรคติดต่อที่มีสัตว์เป็นพาหะ รวมทั้งสามารถที่จะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าเราควรจะดูแลสัตว์อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะป้องกันโรค ทำอย่างไรที่เราจะอยู่ร่วมกับสัตว์จรจัดได้อย่างปลอดภัย ซึ่งก็จะถ่ายทอดไปยังครอบครัว และบริเวณชุมชนนั้น”

การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ยึดถือทฤษฎีสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ซึ่งสัตว์ต่างๆ รวมถึงสัตว์จรจัดนั้นถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง กิจกรรมต่างๆ ในการอบรมนั้น มุ่งสร้างความเข้าใจในเรื่องความต้องการพื้นฐานของสัตว์ทั่วไป และสัตว์จรจัด ซึ่งไม่ต่างจากมนุษย์นัก ภาษากายของสุนัขและแมวที่สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึก ความเป็นมิตร และวิธีการเข้าหาที่จะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

“โรงเรียนในภูเก็ตหลายโรงเรียนมีสุนัขและแมวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นนักเรียนจึงจำเป็นต้องได้รับความรู้เพื่อที่จะป้องกันตนเอง และเรียนรู้ที่จะเข้าหาสัตว์เหล่านั้นอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อความปลอดภัย” นัฐวุฒิ คำเงิน ผู้ประสานงานฝ่ายการศึกษา มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย กล่าว

ทั้งนี้ ทางผู้บริหารสถานศึกษา ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของโครงการนี้ จึงได้มอบหมายคณาจารย์ให้มาเข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ โดยมีตัวแทนมาจาก 12 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดเทพนิมิต โรงเรียนหงษ์หยกบำรุง โรงเรียนบ้านอ่าวน้ำบ่อ โรงเรียนเกาะสิเหร่ โรงเรียนสิทธิ์สุนทรบำรุง โรงเรียนบ้านสาคู โรงเรียนท่าฉัตรไชย โรงเรียนบ้านเกาะนาคา โรงเรียนบ้านกู้กู โรงเรียนบ้านฉลอง โรงเรียนบ้านไม้ขาว และโรงเรียนวัดลัฏฐิวนาราม

หลังจากการอบรมเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ในแง่มุมต่างๆ แล้ว ผู้ประสานงานโครงการพิเศษ วราภรณ์ จิตตานนท์ จากมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยได้อธิบายถึงสถานการณ์โรคเรบีส์ (พิษสุนัขบ้า) ในปัจจุบัน วิธีการแก้ไข และวิธีการป้องกัน นอกจากนั้น ยังมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับสุนัขและแมวจากอาจารย์ในแต่ละโรงเรียน ซึ่งแต่ละคนก็มีประสบการณ์หลากหลายทั้งจากสัตว์เลี้ยงส่วนตัว สัตว์เลี้ยงของผู้อื่น สัตว์ในชุมชน และในโรงเรียน ซึ่งนำไปสู่การพูดคุยในหัวข้อถัดไปคือ CNVR หรือ กระบวนการ จับ ทำหมัน ฉีดวัคซีน และปล่อยกลับสู่ที่เดิม เพื่อเสริมความเข้าใจในเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์ให้มากขึ้น

หลังจากการพูดคุยเสร็จสิ้น เหล่าคณาจารย์ได้ร่วมกันร่างแผนกิจกรรมของตนเองที่จะนำกลับไปใช้สอนนักเรียนในกำกับดูแล ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีรูปแบบกิจกรรมแตกต่างกันออกไปเพื่อให้เหมาะสมกับนักเรียนกลุ่มนั้นๆ กิจกรรมเหล่านี้จะจัดในแต่ละโรงเรียนในช่วงเวลาต่างๆ กันไป โดยจะได้รับการสนับสนุนและติดตามจากมูลนิธิฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้แต่ละกิจกรรมลุล่วงไปได้ด้วยดีและหลังจากนี้ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยตั้งใจจะเดินหน้าต่อไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้การศึกษาของเด็กนักเรียนทั้งในจังหวัดภูเก็ตเเละเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์รวมไปถึงปลูกฝังให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เกิดสังคมที่สงบสุขที่เกิดขึ้นระหว่าง คน สัตว์ เเละสิ่งเเวดล้อม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button