ข่าว

ร้านค้าแตกตื่น ปังชาใส่น้ำแข็ง ขายได้หรือไม่ หลังร้านดังจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ไขข้อสงสัยของเหล่าร้านค้าปังชา หลังร้านอาหารชื่อดัง ‘ลูกไก่ทอง’ โพสต์ข้อความประกาศจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สรุปแล้วปังชาใส่น้ำแข็งยังขายต่อไปได้หรือไม่

เกิดเป็นประเด็นร้อนแรง หลังร้านอาหาร ‘ลูกไก่ทอง’ ที่มีเมนูฮอตฮิต ‘ปังชา’ โพสต์ประกาศ ‘จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า’ ผ่านทางเฟซบุ๊ก ซึ่งทำเอาเหล่าพ่อค้าแม่ขายปังชาใส่น้ำแข็งทั่วไทยแตกตื่น หวั่นละเมิดลิขสิทธิ์ร้านอาหารดังกล่าว

ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้ออกมาอธิบาย ขยายความกระจ่างให้แก่เหล่าร้านค้า ผ่านการอธิบายถึงความแตกต่างของการจดลิทสิทธิ์ การจดสิทธิบัตร และการจดทะเบียนเครื่องหมายของร้านค้า ซึ่งทางร้านอาหารดังกล่าวได้ดำเนินการจดทะเบียนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ พร้อมระบุข้อความชัดเจน “เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทยมีขายมานานแล้ว จึงไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร แล้วอ้างเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในเมนูนี้ได้”

อีกทั้งยังได้ขยายความเพิ่มเติมด้วยว่า “เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ใครก็ขายได้ แต่อย่านำลวดลายหรือแบบภาชนะที่คนอื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต” เนื่องจากทางร้านอาหารดังกล่าวได้ทำการจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ‘ภาชนะที่ใช้ใส่ปังชา’ ไว้ด้วย

ร้านค้าแตกตื่น ปังชาใส่น้ำแข็ง ยังขายได้หรือไม่ หลังร้านดังจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ภาพจากเฟซบุ๊ก : Lukkaithong – ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant

ในวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ร้านอาหารชื่อดัง ‘ลูกไก่ทอง’ ได้โพสต์ประกาศ การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า พร้อมระบุข้อความบนภาพว่า ‘ปังชา’ ได้รับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข

ซึ่งการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของร้านอาหารชื่อดังในครั้งนี้ เป็นการจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้า (Trademark) “ปังชา” ในภาษาไทย และ “Pang Cha” ในภาษาอังกฤษ พร้อมอ้างอิงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 โดยสงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ ‘ปังชา’ และ ‘Pang Cha’ ไปใช้เป็นชื่อร้าน หรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย

จากโพสต์ดังกล่าวนี้ส่งผลให้เกิดประเด็นถกเถียงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งจากเหล่าลูกค้า ผู้คนบนสื่อโซเซียล และรวมไปถึงนักกฎหมายอีกด้วย เนื่องจากในหลาย ๆ ความคิดเห็นได้แสดงมุมมองทางความคิดของตนว่า เมนู ‘ปังชา’ เป็นหนึ่งในเมนูขนมหวานที่คนไทยให้ความนิยม และยังสามารถหาซื้อได้ทั่วไป การนำคำว่า ‘ปังชา’ มาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงอาจไม่เหมาะสม

ทางด้านพ่อค้าแม้ขายเจ้าของร้านขนมหวานที่จำหน่ายเมนู ‘ปังชา’ มาเป็นเวลานานแล้วนั้น เกิดความสับสนถึงแนวทางการขายเมนูดังกล่าวในร้านของตนว่า ยังสามารถขายต่อไปได้หรือไม่ และหากไม่สามารถใช้ชื่อเมนู ‘ปังชา’ ในการจำหน่ายขนมหวานที่มีส่วนประกอบของ ‘ขนมปัง ชา และน้ำแข็ง’ ได้อีกต่อไป แนวทางการตั้งชื่อเมนูให้สามารถอธิบายถึงส่วนประกอบหลักของเมนูได้ดีเท่ากับชื่อเดิมนั้นควรไปต่อในทิศทางเช่นไร

ล่าสุด (29 สิงหาคม 2566) เพจเฟซบุ๊กกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกมาโพสต์ข้อความ พร้อมแนบภาพชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว คลายสงสัยให้แก่เหล่าร้านค้า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

“วันนี้ “ปังชา” กลายเป็นประเด็นยอดฮิตที่ทุกคนให้ความสนใจว่าเมนูขนมน้ำแข็งไสที่มีขนมปังและราดด้วยชาไทยยังขายอยู่ทั่วไปได้หรือไม่ ผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีเมนูลักษณะนี้ต้องทำอะไรต่อบ้าง เรามาเพิ่มเติมความรู้ด้านนี้กัน

จากกระแสร้านอาหารชื่อดังได้โพสต์ภาพสินค้าของร้าน พร้อมระบุถึงทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับความคุ้มครอง พร้อมทั้งสงวนสิทธิห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือนำชื่อไปใช้ ทำให้มีข้อสงสัยว่า เรื่องนี้เป็นมาอย่างไง กรมทรัพย์สินทางปัญญาขอชื่นชมผู้ประกอบการที่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง จึงขอถือโอกาสนี้ชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องแต่ละประเภท เพื่อจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องกันต่อไป

ร้านค้าแตกตื่น ปังชาใส่น้ำแข็ง ยังขายได้หรือไม่ หลังร้านดังจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ภาพจากเฟซบุ๊ก : กรมทรัพย์สินทางปัญญา
ร้านค้าแตกตื่น ปังชาใส่น้ำแข็ง ยังขายได้หรือไม่ หลังร้านดังจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ภาพจากเฟซบุ๊ก : กรมทรัพย์สินทางปัญญา

 

ร้านค้าแตกตื่น ปังชาใส่น้ำแข็ง ยังขายได้หรือไม่ หลังร้านดังจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ภาพจากเฟซบุ๊ก : กรมทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้ จากโพสต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงสรุปได้ว่า ร้านค้าทุกแห่งยังคงสามารถขายเมนู ‘ปังชาใส่น้ำแข็ง’ ได้ต่อไป เพียงแต่ไม่สามารถใช้ชื่อเมนู ‘ปังชา’ ได้เช่นเดิม รวมถึงควรระมัดระวังการออกแบบภาชนะและเครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกับร้านอาหารดังกล่าว และเพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่เจตนา ซึ่งพ่อค้าแม่ขายทุกท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือเฟซบุ๊ก กรมทรัพย์สินทางปัญญา

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button