ไลฟ์สไตล์

สรุปที่มา ‘ครูกายแก้ว’ คือตัวอะไร เทพ ผี ปีศาจ อสูร หรือปอบ?

สรุปตำนาน ครูกายแก้วคืออะไร เป็นเทพ ผี ปีศาจ อสูร หรือปอบ เปิดที่มาลึกลับเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจชาวอุษาคเนย์ ต่างพื้นที่ ต่างคำเล่าขาน

กลายเป็นคำค้นหายอดฮิตในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า “ครูกายแก้ว” หรือบรมครูผู้เรืองเวทย์ ที่ล่าสุดกลายมาเป็นหัวข้อให้คนในสังคมได้ถกและเถียงกันถึงที่มาอันลี้ลับซับซ้อน นำมาซึ่งคำถามถึงความเหมาะสมว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตนนี้คืออะไรกันแน่ และมนุษย์ควรกราบไหว้บูชาหรือไม่?

ตามตำนานที่ฮิตที่สุดถูกส่งต่อข้อมูลมาว่า ครูกายแก้ว เป็นเรื่องเล่าของบรมครูผู้เรื่องเวทย์ในถิ่นอุษาคเนย์เมื่อกว่าพันปีมาแล้ว โดยเชื่อว่าเป็นครูที่เก่งทั้งศาสตร์และศิลป์ อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของจักรวรรดิเขมร

ทว่านักวิชาการ รวมถึงชาวเน็ตหลาย ๆ คนเริ่มออกมาทักท้วงถึงความเป็นไปได้นี้ที่ขัดแย้งกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งในวันนี้เดอะไทยเกอร์ขอถือโอกาสดีพาทุกท่านไปสำรวจเบื้องหลังความเชื่อครูกายแก้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หลายคนศรัทธาในขณะนี้แท้จริงแล้วเป็นตัวอะไรกันแน่ ติดตามอ่านไปพร้อมกันได้เลย

ครูกายแก้ว
ภาพจาก : ครูกายแก้ว.com

เปิดตำราประวัติศาสตร์ ‘ครูกายแก้ว’ แท้จริงคือตัวอะไรกันแน่

ปูพื้นฐานครูกายแก้วฉบับตำนานเดิม

อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ว่าตามตำนานเดิมนั้น ครูกายแก้วเป็นบรมครูเรืองเวทย์ของพระเจ้าชัยวนมันที่ 7 กษัตริย์องค์สุดท้ายของจักวรรดิเขมร โดยอ้างอิงจากข้อมูลที่คุณบอย ลูกศิษย์อาจารย์สุชาติให้ไว้ในรายการโหนกระแส ออกอากาศเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ครูกายแก้วไม่จัดเป็นเทพหรือเทวดา และจะไม่ถูกนำไปตั้งรวมบนหิ้งพระ

ทั้งนี้คุณบอยอธิบายว่าครูกายแก้วนั้นเป็น “อสูรเทพ” โดยต่างจากอสูรกายเนื่องจากไม่ได้สร้างกรรม แต่สร้างบุญด้วยโมหะ จึงทำให้เป็นเทพที่มีรูปร่างหน้าตาน่ากลัว กอปรกับความเชื่อว่าเป็นอาจารย์พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงทำให้หน้าตาที่ถูกปั้นแต่งออกมายิ่งน่าเกรงขามมากขึ้น

ตำนานครูกายแก้ว
ภาพจาก : ครูกายแก้ว.com

ผู้เชี่ยวชาญชี้ ครูกายแก้วไม่เกี่ยวข้องพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

หลังจากที่ครูกายแก้วเริ่มโด่งดังมากขึ้นทั้งในสังคมไทยและสังคมโลกออนไลน์ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม อ้างอิงจากการสัมภาษณ์ ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกเขมรโบราณ ผ่านทางไทยรัฐออนไลน์

โดยทาง ดร.กังวล กล่าวว่าในจารึกโบราณที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไม่มีการเอ่ยถึงครูกายแก้วแต่อย่างใด นอกจากนี้ทางด้านไกด์นำเที่ยวชื่อดัง โอภาส จริยพฤติ ก็ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับครูกายแก้วว่าไม่เคยพบภาพสลักครูกายแก้วบนปราสาทบายน

ครูกายแก้ว
ภาพจาก : โหนกระแส

แต่หากจะพูดถึงภาพสลักที่มีลักษณะคล้ายครูกายแก้วนั้นถูกสลักที่ระเบียงคดปราสาทนครวัดด้านทิศเหนือฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นภาพสลักของ “ท้าวพาณอสูร” ที่กำลังเข้าเฝ้าพระศิวะ มีอายุ 460 ปี จึงไม่เก่าแก่ถึงยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อย่างที่หลายคนเข้าใจ

ซึ่งในส่วนนี้เองก็ตรงกับข้อคิดเห็นของ อ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่กล่าวในรายการโหนกระแส โดยมองว่าภาพลักษณะดังกล่าวเป็นภาพสลักของฤๅษี

จะพบอยู่ตามโคนเสานครวัด ทางเชื่อมระหว่างระเบียงคดชั้นที่ 1 กับชั้นที่ 2 ส่วนด้านหลังของรูปสลักที่ตอนแรกเข้าใจกันว่าเป็นรูปทรงของปีก ตามจริงแล้วก็ไม่ใช่ แต่เป็นชายผ้าที่ตวัดข้างหลังไปเท่านั้น

ตำนานครูกายแก้ว
ภาพจาก : โหนกระแส

นักการเมืองท้องถิ่น ออกโรงเตือนครูกายแก้วเป็นนกผี

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 นายทรงพล ทะรารัมย์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ต่อกรณีความเชื่อเรื่องครูกายแก้วว่า

“ผมเขมรบุรีรัมย์ อันนี้มาจากสายเขมร พอจะรู้บ้าง ในสายดำ [ครูสอน] ถ้าท่านดวงตกราศีไม่ดี หรือมีเคราะห์กรรม อย่าไปขอพรจากสิ่งนี้เด็ดขาด

#เขาคือนกผี #หรือภาษาเขมรเรียก จราบ #คลาจเด้อแม่.. ร้องเรียกดวงวิญญาณ หรือ ถ้าได้ประสบความสำเร็จจากเขาแล้วต้องเลี้ยงให้เขาอิ่ม ถ้าไม่อิ่มเขาจะกินคนเลี้ยง

หากอ้างอิงตามความเห็นของนักการเมืองท่านนี้ จราบ หรือ จฺราบ เป็นความเชื่อเกี่ยวกับผีของกลุ่มชาติพันธ์ุส่วย ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณอีสานใต้ของประเทศไทยตามข้อมูลของวิจัย เรื่องผีในอีสาน : ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว เขมร ส่วย และเวียดนาม ที่อาศัยอยู่ในบริเวณอีสานใต้ของประเทศไทย

ครูกายแก้ว
ภาพจาก : Eager of Know

ทั้งนี้ ในงานวิจัยกล่าว่าผีจฺราบเป็นผีไม่ดี หรือผีร้าย จัดอยู่ในประเภทผีให้โทษ โดยจะอาศัยอยู่ตามจอมปลวก ห้วย หนอง คลอง และบึง มีรูปร่างใหญ่โต แต่อาการไม่ครบ 32 ประการ นิสัยดุร้าย หากชาวบ้านไปพบแล้วต้องขอทางเดินต้องทำการเซ่นไหว้ก่อน

ดังนั้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดแล้ว ก็ไม่อาจหาข้อสรุปได้ว่าครูกายแก้วเป็นตัวอะไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร แต่อาจนิยามครูกายแก้วได้ว่าเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่เกิดขึ้นตามวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาคอุษาคเนย์

โดยคนท้องถิ่นแต่ละพื้นที่จะเรียกครูกายแก้วแตกต่างกันไป และจัดหมวดหมู่ไม่เหมือนกัน โดยหากถือเอาวัฒนธรรมที่หลากหลาย อาจกล่าวได้ว่าครูกายแก้วสามารถเป็นได้ทั้งเทพ ผี ภูต และปีศาจ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละคน

ตำนานครูกายแก้ว
ภาพจาก : FM91 Trafficpro

อย่างไรก็ดี จากการที่นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ออกมายืนยันถึงที่มาของครูกายแก้วว่าไม่ได้มาจากภาพสลักบนกำแพงแราสาทบายนนั้น ก็ถือเป็นการตัดตัวเลือกตำนานที่มาของครูกายแก้วออกไปได้หนึ่งตัวเลือก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ตำนานหรือที่มาของครูกายแก้วกระจ่างขึ้น

ก็คงต้องรอติดตามกันต่อไปว่าครูกายแก้วจะช่วยให้นักวิชาการค้นพบเรื่องอะไรใหม่ ๆ จากกระแสความเชื่อนี้บ้าง ซึ่งแน่นอนว่าอย่างน้อยที่สุดแล้วย่อมต้องเกิดประโยชน์แก่สังคมไทยอย่างแน่นอน

กดติดตามเพจเฟซบุ๊ก Thaiger เพจใหม่ ไม่พลาดทุกข่าวสาร คลิกที่นี่

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button