ข่าว

‘สาวโพสต์ถาม’ เจอแมลงบินเข้ามาในบ้าน เพจดังเฉลยแล้ว ไม่ใช่โคตรจักจั่น

งงกันหมด ‘สาวโพสต์ถาม’ เจอแมลงบินเข้ามาในบ้าน เสียงร้องเหมือนจักจั่น แต่ตัวใหญ่กว่ามาก ชาวเน็ตแห่คอมเมนต์ แต่เพจดังเฉลยคำตอบที่ถูกต้องแทน

ช่วงนี้ฝนตกชุก จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีสัตว์เล็กสัตว์ รวมถึงแมลงทั้งหลายแหล่เข้ามาเป็นหนึ่งในสมาชิกของบ้าน เช่นเดียวกับล่าสุด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2566 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง Phanida Pupanthong ได้โพสต์ภาพสัตว์ชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายแมลง พร้อมสอบถามว่าสิ่งนี้คือตัวอะไร

โดยเธอได้โพสต์ภาพดังกล่าวลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก งูไทย…อะไรก็ได้ all about Thailand snakes พร้อมระบุว่า สัตว์ชนิดนี้บินเข้ามาในบ้าน ร้องเหมือนจักจั่น คือตัวอะไร แถวนี้เรียกแมงโตด แต่พอเธอไปค้นในเว็บไซต์กลับไม่เจอ

ภาพจาก Facebook : Phanida Pupanthong

“น้องบินมาในบ้าน เสียงร้องเหมือนจั๊กจั่นเลยค่ะ น้องคือตัวอะไรหรอคะ แถวนี้เรียกแมงโตด พอไปค้นในกูเกิ้ล ไม่เจอเลยค่ะ”

ด้านชาวเน็ตเมื่อเห้นโพสต์ดังกล่าวก็ต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย อาทิ เซลล์คับ ตัวมันชื่อเซลล์ เซลล์ร่างแก่, แมลงปี ใหญ่กว่าแมลงวัน, แมงง่วงครับ, อีสานเอิ้น แมงง่วง

ซึ่งคอมเมนต์ของชาวเน็ตดังกล่าวก็ทั้งสาระและมีเพียงความขบขัน ล่าสุด วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2566 รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เฉลยว่าสรุปแล้วเจ้าสัตว์ตัวนี้คือตัวอะไรกันแน่

ภาพจาก Facebook : Phanida Pupanthong

โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ก็ได้ให้ข้อมูล ซึ่งสรุปได้ว่า เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า หริ่งเรไร ซึ่ง หริ่ง หมายถึง เสียงร้องของเรไร ส่วนคำว่า “เรไร” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามว่าคือ ชื่อจักจั่นสีนํ้าตาลหลายชนิดในสกุล Pomponia, Tosena และสกุลอื่น ๆ ในวงศ์ Cicadidae ส่วนใหญ่ตัวค่อนข้างโต ตัวผู้มีอวัยวะพิเศษทําให้เกิดเสียงสูงและตํ่ามีกังวานสลับกันไปได้หลายระดับ ชนิดที่โตที่สุดซึ่งพบได้ง่ายในประเทศไทย คือ ชนิด P. intermedia

โดย รศ.ดร.เจษฎา ได้ยกข้อมูลที่ อาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้เคยเขียนอธิบายลักษณะของ “เรไร” และที่มาของชื่อ “แมงง่วง” ไว้โดยระบุว่า เรไร (imperial cicada) เป็นแมลงกลุ่มหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์จักจั่น (Cicadidae) โดยเรไรมีลำตัวยาว 35-65 มิลลิเมตร และปีกทั้งสองแผ่ออกกว้างถึง 80-176 มิลลิเมตร

สีลำตัวส่วนใหญ่ เป็นสีน้ำตาลอมเขียว หัวกว้างไล่เลี่ยกับส่วนอก ตาเดี่ยว (ocelli) อยู่รวมกันเป็นกระจุก 3 ตา ตรงกลางหน้าผาก ด้านหลังของอกปล้องแรก มีขอบด้านข้างแบนยื่นออกไป ส่วนท้องมี 6 ปล้อง ส่วนท้องของตัวผู้ยาวกว่าความยาวของหัวรวมส่วนอก เฉพาะตัวผู้เท่านั้นที่มีอวัยวะสำหรับทำเสียงและมีแผ่นปิดอวัยวะนี้ ลักษณะสั้นและวางตัวตามแนวขวาง

ส่วนปากดูดเวลาไม่ใช้งานจะสอดเข้าไปใต้ส่วนหัว โดยมีปลายปากยาว เลยโคนขาคู่ที่สามออกไป โคนขาคู่หน้ามักพองโตออกและมีหนาม ขนาดใหญ่อยู่ข้างใต้

 

ภาพเว็บไซต์ : isan clubs chula

เรไรมีเสียงร้องที่ดังกว่าจักจั่นชนิดอื่นๆ มาก เมื่อฟังดูจะคล้ายกับเสียงเลื่อยวงเดือนกำลังเลื่อยไม้ เสียงดัง ว้าง-ว้าง-ว้าง เป็นจังหวะ ไปเรื่อยๆ นานประมาณ 30-45 วินาทีจึงหยุด ประมาณ 10-20 วินาที จึงเริ่มต้นส่งเสียงอีกครั้งหนึ่ง

ในส่วนของชื่อแมงง่วง เนื่องจากเวลาที่เรไรส่งเสียงคือ ตอนพลบค่ำเวลา 17.00 – 18.00 น. แต่ต้องไม่มีฝนตกในช่วงเวลานี้ และอากาศไม่หนาวเย็นจนเกินไป ส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มร้องเวลา 17.30 นาฬิกา จึงมีชื่อเรียกดังกล่าว เพราะได้เวลาเลิกงาน เตรียมตัวกลับบ้านได้แล้ว

นอกจากนี้ รศ.ดร.เจษฎา ได้ยกข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊ก แมลงใกล้สูญพันธุ์ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับจักจั่นเรไรเขียว โดยระบุว่า จักจั่นเรไรเขียว มีชื่อสามัญคือ Intermediate Imperial Cicada และชื่อวิทยาศาสตร์คือ Megapomponia intermedia (Distant)

ภาพเว็บไซต์ : isan clubs chula

โดยลักษณะทั่วไป มีลำตัวยาว 55-68 มิลลิเมตร หัวและอกสีเขียวสลับสีน้ำตาล ตาโปนใหญ่ สีเขียว ตาเดี่ยวที่อยู่ด้านหน้า สีแดง อกด้านบนมีแถบสีดำรูปสามง่าม ท้องสีน้ำตาลเคลือบไว้ด้วยฝุ่นแป้งสีขาว ปีกใส เส้นปีกสีเขียว ปลายปีกมีจุดสีดำเรียงกัน ขาสีน้ำตาล หนวดแบบเส้นขน ปากแบบเจาะดูด ปีกแบบ (tegmina) คล้ายแผ่นหนังบางเป็นเนื้อเดียวตลอดปีกเหนียว ไม่เปราะ ปีกคู่หลังเนื้อบางแบบ (membrane) ขาเดิน ตารวม

ในส่วนของที่อยู่อาศัย พบเกาะตามต้นไม้ อีกทั้งยังมีประโยชน์ เนื่องจากเป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์อีกด้วย

ก็ถือว่าข้อมูลที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นำมาเผยแพร่ อาจช่วยตอบคำถามของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนั้น รวมถึงตอบคำถามชาวเน็ตหลาย ๆ ท่านที่สงสัยว่า แมลงที่มีลักษณะคล้ายจักจั่นตัวใหญ่ นั่นคือ เรไร หรือ แมงง่วง นั่นเอง ไม่ทราบว่ามีท่านใด เคยพบเห็นแมลงชนิดนี้กันบ้างหรือเปล่าคะ

กดติดตามเพจเฟซบุ๊ก Thaiger เพจใหม่ ไม่พลาดทุกข่าวสาร คลิกที่นี่

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button