อีเว้นท์ไลฟ์สไตล์

เทคนิคเขียนเรียงความ ‘วันแม่แห่งชาติ 2566’ สื่อความรัก แม่-ลูก ผ่านหน้ากระดาษ

แนะนำวิธีเขียนเรียงความ วันแม่แห่งชาติ 2566 ฉบับสั้นและยาว องค์ประกอบของเรียงความมีอะไรบ้าง เทคนิคการเขียนเรียงความให้ซึ้งกินใจ

สัปดาห์วันแม่ 12 สิงหาคม 2566 เชื่อได้เลยว่าแต่ละโรงเรียนคุณครูต้องสั่งการบ้านให้เขียนเรียงความวันแม่แน่นอน นักเรียนหลายคนในฐานะลูกรักของคุณแม่อาจมีกุมขมับกันบ้าง จะเขียนเรียงความถึงแม่ยังไงให้อ่านแล้วลึกซึ้งกินใจ ภาษาสละสลวย ได้คะแนนเต็มสิบจากคุณครู

วันนี้น้อง ๆ หนู ๆ ทั้งหลายไม่ต้องเป็นกังวล เพราะพี่ ๆ ทีมงานเดอะไทยเกอร์ได้รวบรวมเทคนิคการเขียนเรยงความที่ดีมาฝาก สามารถนำไปประยุต์ใช้ได้ทั้งเรียงความวันแม่และวันสำคัญอื่น ๆ บอกเลยว่าง่ายมากไม่เกินความสามารถวัยเรียน ถ้าเขียนได้ตามที่แนะนำนี้รับรองว่าส่งประกวดได้ที่หนึ่ง

แนะนำ 6 แนวทาง เขียนเรียงความวันแม่

เรียงความ คืองานร้อยแก้วประเภทหนึ่งที่ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป โดยภาษาที่ใช้จะต้องเป็นภาษาทางการหรือกึ่งทางการ เนื่องจากเป็นงานเขียนที่ต้องมีทั้งส่วนที่ต้องใช้บรรยายโวหาร อาจจะเป็นเนื้อหาเชิงวิชาการ และส่วนที่ต้องใช้พรรณาโวหารเพื่อบอกเล่าความรู้สึกของผู้เขียน โดยเทคนิคการเขียนเรียงความให้น่าอ่านง่าย ๆ มีดังนี้

1. จำกัดขอบเขตของเนื้อหา

ก่อนที่เราจะเริ่มเขียนเรียงความ เราควรตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนว่าเราต้องการจะเขียนเรียงความภายใต้ธีมอะไร หากเป็นเรียงความวันแม่นั้นก็มีหัวข้อที่น่าสนใจให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรียงความที่กล่าวถึงพระคุณของแม่โดยภาพรวม เล่าเรื่องแม่ของเรา หรือกล่าวถึงพระคุณแม่แห่งแผ่นดิน

เมื่อได้ธีมของเรียงความที่จะเขียนอย่างชัดเจนแล้ว ก็ให้เราทำลิสต์หัวข้อไว้ว่าในส่วนของคำนำ เนื้อหา และสรุป เราจะเขียนภายใต้ธีมเรื่องทำกำหนดไว้อย่างไรบ้าง ในแต่ละส่วนเราจะเขียนเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร เพื่อไม่ให้เมื่อต้องลงมือเขียนจริงแล้วเนื้อหาสะเปะสะปะออกนอกทะล หรือวนอยู่ในอ่าง

วิธ๊เขียนเรียงความวันแม่

2. ตั้งชื่อเรื่องให้ดูน่าสนใจ

ชื่อเรื่องถือเป็นด่านแรกที่คนอ่านเรียงความของเราจะต้องเห็นก่อนส่วนอื่น ๆ ดังนั้นการตั้งชื่อเรื่องควรจะต้องดึงดูดสายตา กระตุ้นความอยากอ่านอย่างต่อเนื่อง และต้องอยู่ภายใต้ธีมเรื่องที่เรากำหนดไว้ เพราะชื่อเรื่องเองก็เป็นเหมือนหัวข้อหลักใหญ่ ๆ ที่เราต้องมาเขียนขยายความในเนื้อหาอีกที

ทั้งนี้การตั้งชื่อเรื่องต้องคุมโทนและครอบคลุมเนื้อหาของเรียงความทั้งหมด โดยอาจตั้งเป็นวลี หรือประโยคก็ได้ แต่ที่สำคัญคือจะต้องเขียนด้วยภาษาที่กระชับและไหลลื่นในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าใครยังคิดส่วนชื่อเรื่องไม่ออก รอให้เขียนเรียงความเสร็จแล้วมาตั้งก็ยังทัน

เรียงความวันแม่ 2566

3. คำนำที่ทำให้อยากอ่านต่อ

ชื่อเรื่องนับว่าเป็นจุดดึงดูดให้ผู้คนสนใจงานเขียนเรียงความของเรา ส่วนคำนำคือส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้อ่านตัดสินใจอ่านงานของเราต่อหรือพอแค่นี้ ดังนั้นถ้าใครอยากให้มีคนอ่านเรียงความของเราต่อจนจบทั้งเรื่อง ก็ต้องเขียนคำนำให้สะกดใจ กระตุ้นความอยากรู้ว่าเนื้อหาในส่วนต่อไปจะพูดถึงอะไรบ้าง

ในส่วนเทคนิครูปแบบการเขียนคำนำนั้น เราสามารถเลือกใช้คำกล่าวของบุคคลสำคัญ บทกลอน สำนวน สุภาษิต การตั้งคำถาม หรือแม้แต่การเกริ่นถึงสถานการณ์ปัจจุบันมาเขียนเป็นคำนำได้ทั้งสิ้น โดยคำนำนั้นจะมีจำนวนอยู่ที่ 4-5 บรรทัด ของหน้ากระดาษ A4

วิธ๊เขียนเรียงความวันแม่

4. เนื้อเรื่องครบถ้วนทุกประเด็น

ในส่วนของเนื้อเรื่องจะเป็นการรวมสาระสำคัญและรายละเอียดของเรียงความไว้ด้วยกัน โดยการเขียนเนื้อหาในส่วนนี้จะต้องแสดงออกถึงความรู้ของผู้เขียนที่กว้างขวางและสมบูรณ์ตรงตามธีมหรือหัวข้อของเรื่องที่จะเขียน

โดยผู้เขียนจะต้องเรียบเรียงเนื้อหาให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนและความสำคัญ เทคนิคที่แนะนำคือการร่างโครงสร้างการเขียนไว้อย่างคร่าว ๆ เป็นหัวข้อก่อนว่าภายในส่วนเนื้อหาของงานเรียงความชิ้นนี้จะประกอบไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรบ้าง

สำหรับเนื้อหาของเรียงความที่ดีจะต้องมีความเป็นเอกภาพ หรือมีความเป็นหนึ่งเดียวกันตลอดทั้งเรื่อง รวมไปถึงภาษาที่ใช้เขียนก็ต้องภาษาที่อยู่ในระดับเดียวกัน อีกทั้งเนื้อหาทั้งหมดทุกส่วนจะต้องมีความสัมพันธ์กัน ไม่ฉีกแนวออกจากกันไปคนละเรื่อง และในแต่ละส่วนของเนื้อหาจะต้องเขียนอธิบายได้อย่างแจ่มแจ้งเป็นเหตุเป็นผล

ทั้งนี้ ย่อหน้าในส่วนของเนื้อเรื่องเรียงความจะมีกี่ย่อหน้าก็ได้ ขึ้นอยู่กับความยาวของเนื้อหาโดยรวม และสามารถใช้เทคการเขียนด้วยโวหารต่าง ๆ ตามบริบทของเนื้อหา โดยไม่จำเป็นว่าต้องใช้โวหารเดียวกันไปจนตลอดทั้งเรื่อง เพียงแต่ต้องทำให้แต่ส่วนสอดคล้องกัน

เรียงความวันแม่ 2566

5. สรุปส่งท้ายอย่างแยบยล

สำหรับส่วนสรุปจะเป็นตอนจบของเรื่อง ผู้เขียนต้องแสดงความคิดที่เป็นจุดหมายของเรื่อง โดยใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนและตรงประเด็น อาจจบด้วยคำคม สำนวน หรือสุภาษิต แต่ต้องเลือกให้มีความสอดคล้องกับเนื้อหาก่อนหน้าเพื่อเป็นการตอกย้ำถึงจุดมุ่งหมายของเรื่องที่เขียนมาทั้งหมด

ส่วนการเขียนปิดเรื่องนั้น อาจเลือกวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ผู้อาจตกตะกอนความคิดหลังอ่านจบ โดยผู้เขียนอาจเสนอวิธีแก้ปัญหา สรุปความ เชิญชวนให้ร่วมมือ หรือแสดงความคิดเห็นก็ได้ โดยรวมแล้วเนื้อหาในส่วนสรุปจะมีความยาวพอ ๆ กับส่วนเกริ่นนำ

วิธ๊เขียนเรียงความวันแม่

6. ทบทวนเนื้อหาทั้งหมดโดยละเอียด

หลังจากที่เขียนเนื้อหาเรียงความทุกองค์ประกอบเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้เขียนกลับมาอ่านทบทวนงานเขียนของตัวเองซ้ำอีกครั้ง เพื่อตรวจทานคำผิด เนื้อหาข้อมูล และภาพรวมของเนื้อหาว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่

ทั้งนี้ก็สามารถให้ผู้อื่นช่วยอ่านเขียนของเราเพื่อรับคำวิจารณ์ในเบื้องต้นก่อนได้ เพราะการที่เราจมอยู่กับงานเขียนของตัวเองเป็นเวลานาน ๆ อาจจะทำให้มองไม่เห็นถึงข้อผิดพลาดและทำให้เรียงความชิ้นนั้นไม่สมบูรณ์แบบตามที่ต้องการ

เรียงความวันแม่ 2566

และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคนิคการเขียนเรยงความเรื่องวันแม่แห่งชาติ 2566 ที่พี่ ๆ ทีมงานเดอะไทยเกอร์นำมาฝากกัน อย่างไรก็ดีงานเขียนของแต่ละคนย่อมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวผ่านการใช้ถ้อยคำและภาษาอยู่แล้ว เพียงแต่เทคนิคที่แนะนำนั้นเพื่อให้น้อง ๆ หนู ๆ เขียนเรียงความได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง

กดติดตามเพจเฟซบุ๊ก Thaiger เพจใหม่ ไม่พลาดทุกข่าวสาร คลิกที่นี่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Mothana

นักเขียนข่าวที่ Thaiger การศึกษาทางด้านภาษา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงรับหน้าที่เขียนบทความไลฟ์สไตล์บันเทิง เศรษฐกิจ อยากเป็นสื่อกลางคอยขุดคุ้ยประเด็นตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงใหญ่โตมาเขียนให้ทุกคนได้อ่าน เพราะมีความเชื่อว่าสื่อที่ดีย่อมเป็นหนทางนำผู้อ่านไปสู่งานเขียนที่ดีได้ ติดต่อได้ทาง tangmo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button