ข่าวการเมือง

หายงง ‘ญัตติ’ คืออะไร คำเจ้าปัญหาประชุมสภา ทำ ‘พิธา’ ชวดถูกเสนอชื่อนายก

เปิดศัพท์รัฐสภา ญัตติ คืออะไร คำเจ้าปัญหาในการประชุมสภา ถกเถียงทั้งวัน ก่อนสรุปว่า พิธา อดเสนอชื่อนายกรอบที่ 2 สรุปแล้วทำได้จริงไหม

การประชุมสภาเพื่อโหวตนายกรอบ 2 ครั้งล่าสุด คงทำให้หลายคนแทบเก็บคำว่า ญัตติ ไปนอนฝันเลยทีเดียว หลังจากที่มีการถกเถียงและโต้แย้งในสภาอย่างดุเดือด เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา โดยหัวข้อหลักที่พูดถึงก็คือ การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติหรือไม่ โดยทีมงาน Thaiger ได้เปิดพจนานุกรมรัฐสภา พร้อมกางคำตอบนักวิชาการมายืนยันให้คุณได้เข้าใจอย่างชัดเจนแล้วที่นี่

เปิดความหมาย ญัตติ คืออะไร

ญัตติ ตามความหมายของรัฐสภา

คำว่า ญัตติ ถือเป็นศัพท์สำคัญในการดำเนินการประชุมของรัฐสภา โดยเว็บไซต์หอสมุดรัฐสภา ได้ระบุความหมายของคำว่า ญัตติ ไว้ดังนี้

ญัตติ หมายถึง เรื่อง ปัญหา หรือประเด็น ที่สมาชิกรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา เพื่อให้มีการลงมติในเรื่อง ปัญหา หรือประเด็นดังกล่าว

โดยญัตติจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่

1. ญัตติที่ต้องมีผู้รับรอง เช่น ญัตติขอให้สภามีมติให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ใดเข้าร่วมประชุมในเรื่องใดในที่ประชุม, ญัตติขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการหรือกระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง เป็นต้น

2. ญัตติที่ไม่ต้องมีผู้รับรอง เช่น ญัตติขอให้ประชุมลับ, ญัตติที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ เป็นต้น

นอกจากกรณีข้างต้นแล้ว ญัตติยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อยอีกด้วย คือ ญัตติที่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ และ ญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ดังนี้

1. ญัตติที่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ผู้เสนอและผู้รับรองต้องลงลายมือชื่อในญัตตินั้น ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 59

2. ญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ให้ผู้รับรองญัตติแสดงการรับรองโดยวิธียกมือขึ้นพ้นศีรษะ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 60

ประวัติ บอสจ๋า eve's
ภาพจาก : หอสมุดรัฐสภา

โดยการเสนอญัตติ จะยึดตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และข้อบังคับการประชุมของแต่ละสภา ได้แก่ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ส่วนที่ 2 ข้อ 44 ถึงข้อ 65 ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 35 ถึงข้อ 51 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ส่วนที่ 2 ข้อ 29 ถึงข้อ 41 โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. การเสนอญัตติเสนอโดย ส.ส., ส.ว., คณะรัฐมนตรี หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็ได้ แต่ต้องมีผู้เสนอตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ยกเว้นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่าต้องมี ส.ส. เสนอไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

2. วิธีการเสนอญัตติ ต้องเสนอล่วงหน้า เป็นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี และต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับของแต่ละสภากำหนด เว้นแต่มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ หากเป็นญัตติที่เสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ผู้เสนอและผู้รับรองต้องลงลายมือชื่อในญัตตินั้น แต่หากเป็นญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ให้ผู้รับรองญัตติแสดงการรับรองโดยวิธียกมือขึ้นพ้นศีรษะ

3. ข้อห้ามในการเสนอญัตติ เช่น เมื่อที่ประชุมของแต่ละสภากำลังปรึกษาหรือพิจารณาญัตติใดอยู่ ห้ามเสนอญัตติอื่นขึ้นมาพิจารณา เว้นแต่จะเป็นญัตติที่ได้กำหนดไว้ให้สามารถกระทำได้

4. การแก้ไขเพิ่มเติมญัตติหรือการถอนญัตติ หากญัตตินั้นประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี สั่งบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมแล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมหรือถอนญัตติจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของที่ประชุม

5. การถอนชื่อจากการเป็นผู้ร่วมกันเสนอญัตติ หรือจากการเป็นผู้รับรองจะกระทำได้เฉพาะก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี สั่งบรรจุญัตตินั้นเข้าระเบียบวาระการประชุม แต่หากได้มีการสั่งบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมแล้วจะถอนชื่อได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของที่ประชุม

6. ญัตติจะตกไปในกรณีที่ญัตตินั้นถึงวาระพิจารณาในการประชุมแล้ว ผู้เสนอญัตติไม่ชี้แจงในที่ประชุม หรือผู้เสนอญัตติไม่อยู่ในที่ประชุมโดยไม่มีผู้ชี้แจงแทนในฐานะผู้รับมอบหมาย

7. ญัตติที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังไม่ได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานจะอนุญาตในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป

ญัตติ ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถาน

นอกจากนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ยังได้ระบุความหมายของญัตติว่า หมายถึง ข้อเสนอ เพื่อลงมติ เช่น ผู้แทนราษฎรเสนอญัตติเข้าสู่สภาเพื่อขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่

แต่ข้อสำคัญคือเนื่องจากการดำเนินงานทางสภามีเงื่อนไขเฉพาะ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถพิจารณาจากความหมายตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานเพียงอย่างเดียวได้

การเสนอชื่อนายกถือเป็นญัตติหรือไม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล หรือ อาจารย์ปริญญา นักกฎหมาย และ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชนและผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ของไทย ได้ตอบคำถามต่อประเด็นเรื่อง การเสนอชื่อนายกว่าเป็นญัตติหรือไม่ไว้อย่างชัดเจนว่า การเสนอชื่อนายกฯ นั้นไม่ใช่ญัตติ แต่เป็น กระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ

ประวัติ บอสจ๋า eve's
ภาพจาก : Facebook Prinya Thaewanarumitkul

รวมถึงพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 2 อย่าง พรรคเพื่อไทย ก็ได้แสดงความเห็นไว้เช่นเดียวกันว่า การเสนอชื่อของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ใช่การเสนอญัตติซ้ำ แม้ว่าที่ประชุมสภาวันที่ 19 ก.ค. จะลงมติเห็นชอบว่าเป็นญัตติซ้ำ 395 เสียงต่อ 317 เสียงก็ตาม

ประวัติ บอสจ๋า eve's
ภาพจาก : Facebook พรรคเพื่อไทย

จากเหตุผลดังกล่าวจึงสรุปได้ว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่ญัตติ แต่เป็นกระบวนการในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จตามรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ประชาชนได้ลงคะแนนเลือกตั้ง เลือก ส.ส. เข้าไปทำงานในสภานั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก : library.parliament.go.th

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button